เครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยี ลดเวลา-สร้างรายได้

ผลิตภัณฑ์ “ลูกหยีสามรส” เป็นผลิตภัณฑ์เด่น และขึ้นชื่อของ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกหยี ปัจจุบันมีพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ รับซื้อผลลูกหยีจากชาวบ้าน นำมาผลิตลูกหยีแปรรูปเพื่อส่งออก และจำหน่าย

แต่กระบวนการการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เพื่อให้ทันตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ยังไม่สามารถจัดส่งได้ทันที ยังคงใช้กระบวนการผลิตแบบท้องถิ่นโดยอาศัยแรงคนเป็นหลัก โดยเฉพาะขั้นตอนการกะเทาะเปลือก และการแยกเปลือกต้องใช้เวลา แรงงาน และต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

นายนันทยศ ซากรี นายธนภพ แซ่ซ่ำ และ นางสาวญาณาธิป พันธุ์แก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ คิดค้น “เครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยี” ช่วยลดเวลา ลดแรงงาน และลดต้นทุน มี นางสาววิมล บุญรอด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

เครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยีใช้แรงลม ระบบการทำงานของตัวเครื่องจะกดสวิตช์เพื่อเปิดเครื่อง มีระบบควบคุมการทำงานโดยใช้หลักการของไซโคลน และแรงลมเป่า การออกแบบประกอบด้วย ชุดสำหรับรองรับลูกหยี ที่ผ่านการกะเทาะเปลือกแล้ว ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนลิ้นชัก ใช้สำหรับกั้นเพื่อไม่ให้ลูกหยีตกหล่นขณะเครื่องกะเทาะเปลือก ถังสำหรับกะเทาะเปลือกลูกหยี ออกแบบให้เป็นทรงกระบอก มีช่องสำหรับเป่าลมเข้าของตัวเครื่อง และช่องสำหรับใส่ลูกหยีสุก และมีตะแกรงกั้นเพื่อรองรับลูกหยีที่ผ่านการกะเทาะเปลือกเรียบร้อยแล้ว ตัวเครื่องบรรจุลูกหยีได้ปริมาณ 150-200 กรัม ใช้ระยะเวลาในการกะเทาะ 90 วินาที ต่อครั้ง มีต้นทุนในการผลิตประมาณ 15,000 บาท

ผลจากการนำเครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยีมาใช้ ช่วยลดเวลา ลดแรงงาน และลดต้นทุนในการผลิตภัณฑ์ สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วตามที่ตลาดต้องการ สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือมาจากต่างประเทศ

สอบถามรายละเอียด โทร. (082) 438-9951

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน