‘สุคิริน’ จับมือ มอ.หาดใหญ่ ประกวดทุเรียนพื้นบ้าน ยกระดับรองรับตลาดไทย-โกอินเตอร์

nfd

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ตลาดกลางผลไม้ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอสุคิริน ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประกวดทุเรียนพื้นบ้าน ตามโครงการ “วิจัย สำรวจ คัดเลือก และศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมทุเรียนพื้นบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและประชาชนทั่วไปเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และขยายพันธ์ทุเรียนพื้นบ้าน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

นายชัยเดช ปาละวงศ์ นายอำเภอสุคิริน กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะเป็นช่วงปลายฤดูกาลของทุเรียน แต่ในพื้นที่สุคิรินยังมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดต่อเนื่อง โดยทุเรียนพื้นบ้านในพื้นที่มีความโดดเด่นในเรื่องรสชาติที่หวานอร่อย และสีของทุเรียนที่มีสีเหลืองทอง ประกอบกับพื้นที่สุคิรินมีดินดีและอากาศดี

และเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอสุคิรินลงพื้นที่ไปร่วมพัฒนาสายพันธุ์ให้กับเกษตรกร ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีจนได้รับความสนใจจากคณะอาจารย์ผู้ทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศเข้ามาศึกษาสายพันธ์ุ และเตรียมผลักดันให้เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่ได้รับความสนใจจากตลาด

ทั้งนี้ หากมีโอกาสอยากเชิญชวนให้ผู้ที่ชื่นชอบทุเรียนมาลองชิมทุเรียนพื้นบ้านของอำเภอสุคิริน แล้วจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของรสชาติเนื้อทุเรียนที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น

rhdrด้าน ผศ.ดร. นิเวศ อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือค้นหาช้างเผือกทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์ดี เน้นสีเหลือง เนื้อดี เม็ดลีบ รูปทรงได้ขนาดลูกละประมาณ 1 กิโลกรัม

เพื่อขึ้นชั้นเป็นคู่แข่งทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์มูซังคิงที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ขณะนี้ราคาจำหน่ายในท้องตลาด กิโลกรัมละ 800 บาท และเมื่อส่งออกไปประเทศจีน ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 2,500 บาท

ดังนั้น ในระยะเวลา 3 ปี ของการทำวิจัย โครงการ “วิจัย สำรวจ คัดเลือก และศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมทุเรียนพื้นบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” จึงมุ่งหวังว่าเราจะมีทุเรียนพื้นบ้านที่สามารถสร้างชื่อให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทยได้

Advertisement
dav

ขณะที่ นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน กล่าวว่า ตลาดทุเรียนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนเติบโตต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้ส่งออกไปประมาณ 4 พันตัน ต่อวัน ซึ่งหากสามารถหาทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์ดีจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาพัฒนาต่อ ก็สามารถขยายพันธุ์และต่อยอดออกไปสู่ท้องตลาดได้เทียบเท่าหรือดีกว่าทุเรียนพันธ์ุพื้นบ้านมูซังคิงของประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนทุเรียนและเศรษฐกิจในพื้นที่

ส่วนผลการประกวดทุเรียนพื้นบ้านของอำเภอสุคิรินครั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์ขมิ้น ของนายอาแซ สาเม๊าะ รองชนะเลิศ อันดับ 1 ทุเรียนพันธ์ุพวน ของ นายมะยะโก๊ะ ดือเลาะ รองชนะเลิศอันดับ 2 ทุเรียนพันธุ์ซากอ ของ นายมูหำมัด ดาโอ๊ะ อาแด และรองชนะเลิศอันดับ 4 ทุเรียนพันธุ์ขี้หนู ของ นางสาวสุชาดา มะนอ

Advertisement