กสอ.แนะกลยุทธ์ผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปยุคใหม่ นำนวัตกรรมเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รับอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมดึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่เปิดแนวคิด แบ่งปันเคล็ดลับความสำเร็จ

ปัจจุบัน การทำการเกษตรในประเทศไทยมุ่งผลิตในเชิงการค้ามากขึ้น ด้วยผลผลิตและศักยภาพของพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อภาคการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ “อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” มีแนวโน้มอนาคตที่สดใส และเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลให้การส่งเสริม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต พร้อมเข้าสู่ยุค “อุตสาหกรรม 4.0” สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” ที่รัฐบาลมุ่งเน้นและผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเปิดเสรีทางการค้า นำมาซึ่งผลผลิตการเกษตรจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เดินหน้า “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องก้าวทันเทคโนโลยี

“สมชาย หาญหิรัญ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิดโครงการและการสัมมนา Agro-Industry 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0 ว่า “การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะช่วยให้สินค้าเกษตรหลุดพ้นจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ ผู้ประกอบการในฐานะผู้แปรรูป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองตนเองให้ออก มีความเข้าใจในตัวสินค้าของตนเองว่ามีคุณภาพอย่างไร ผลผลิตควรเก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาดเมื่อใด เรียกได้ว่าต้องมีความรู้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง มีการปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา กล้าตัดสินใจ เรียนรู้และตั้งรับกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หน่วยงานรัฐเป็นเพียงลมใต้ปีกเรามีให้แค่วิตามิน นั่นคือ องค์ความรู้และการสนับสนุนด้านการเงินเท่านั้น สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ที่จะบินได้ด้วยตัวเอง ซึ่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปในทุกมิติ ให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้วัตถุดิบและนวัตกรรมใหม่ ลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้”

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “โครงการดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในโครงการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ และดึงศักยภาพของวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งในการดำเนินการนั้น กสอ.จะส่งทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ไปยังสถานประกอบการเพื่อวินิจฉัยและประเมินศักยภาพ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ หรือยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้ระบบอัตโนมัติหรือดิจิทัล”

หลากหลายตัวอย่างของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่ได้มาเปิดแนวคิดและวิธีการในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มจากการแสวงหาโอกาสให้ตนเอง ดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการปรับกลยุทธ์ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนจนกลายเป็นต้นแบบของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

“ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ และ LINE@ Certified Trainer คนแรกของประเทศไทย กล่าวว่าไม่อยากให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมองว่าตลาดออนไลน์เป็นเรื่องที่ยาก จริงๆ แล้วการตลาดออนไลน์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และเราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับกลยุทธ์ และหาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำตลาดอยู่เสมอ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้และธุรกิจจะมีการเติบโตอย่างแน่นอน”  

“ณัฐ มั่นคง” ผู้บริหารโคโค่เมล่อนฟาร์ม เปิดเผยถึงกลยุทธ์และเคล็ดลับในฐานะเกษตรกรยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการนำระบบ IT มาประยุกต์ใช้กับการทำฟาร์มว่า “เริ่มต้นด้วยการผันตัวเองจากงานประจำสู่วิถีชีวิตเกษตรกร โดยเสาะแสวงหาพืชที่สร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยให้เลี้ยงตัวเองได้ และพบว่าเมล่อนเป็นพืชที่ตอบโจทย์ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ด้วยกรรมวิธีการปลูกที่ต้องดูแลอย่างพิถีพิถัน ใส่ใจกับทุกกระบวนการในการปลูก จึงได้นำระบบ IT มาใช้ โดยติด Sensor ในโรงเรือน เพื่อควบคุมสภาพอากาศ อุณหภูมิ ค่าของแสง และความชื้นในดิน การลงทุนระบบดังกล่าวเมื่อคำนวณแล้วนับว่าคุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้ ทุกวันนี้เมล่อนที่มาจากโคโค่เมล่อนฟาร์ม จึงเป็นที่ต้องการของลูกค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งในยุคปัจจุบันมองว่าเกษตรกรยุคใหม่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันกับเทคโนโลยี โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า และหากมีการบริหารจัดการระบบที่ดีจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแน่นอน”

“พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์” เจ้าของคางกุ้งอบกรอบ แบรนด์ “OKUSNO” จากสิ่งที่คนมองข้ามสู่ธุรกิจเงินล้าน กล่าวว่า “เริ่มต้นธุรกิจจากการมองเห็นโอกาสในสิ่งที่คนมองข้าม โดยเห็นว่าเมื่อรับประทานกุ้งแล้วตรงหัวกุ้งมีส่วนที่เหลือทิ้ง จึงนำส่วนนั้นมาสร้างความแตกต่างจนกลายเป็น “คางกุ้งอบกรอบ” อาหารรับประทานเล่นที่ให้คุณค่า ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการเจ้าแรกที่มีการต่อยอดนวัตกรรมใส่ดีไซน์ลงไปในบรรจุภัณฑ์จนถึงวันนี้แบรนด์ “OKUSNO” เป็นที่รู้จักและมีจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านบททดสอบอย่างหนัก ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบซึ่งแทบจะไม่มีใครยอมขายให้ เมื่อออกมาเป็นสินค้า ยังต้องทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก จึงจะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและสามารถทำตลาดได้ และปัจจุบันยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดนั่นคือ “น้ำพริกขากุ้ง” ในอนาคต”

“พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์” ผู้ก่อตั้ง Freshket ตลาดสดออนไลน์ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า “มองเห็นช่องว่างทางการตลาดจึงเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง โดยการเช่าห้องแถวในตลาดไทเป็นคลังสินค้าเกษตรเพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดส่งผักและผลไม้ให้กับร้านอาหารต่างๆ เมื่อ Freshket เริ่มติดตลาด จึงต่อยอดไอเดียสู่โมเดลธุรกิจ Supply Chain Platform โดยมีการลงทุนสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นเอง และให้ Freshket เป็นคลังสินค้าเชื่อมโยงการค้าระหว่างซัพพลายเออร์และร้านอาหารให้มาเจอกันผ่านแอปพลิเคชั่น ด้วยการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นระบบ และราคาเหมาะสม ซึ่งจุดเด่นของโมเดลธุรกิจนี้จะมีการบันทึกข้อมูลการสั่งซื้อและร้านอาหาร ทำให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ และสามารถบริหารต้นทุนได้ เรียกได้ว่านำระบบอีคอมเมิร์ซเข้ามาใช้เป็นอีก 1 ช่องทางให้กับลูกค้าเพื่อเพิ่มความสะดวกมากขึ้น”

ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีเป้าหมายที่จะพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจำนวน 2,000 กิจการ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจทั่วไปจำนวน 1,600 กิจการ กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง จำนวน 400 กิจการ และมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มผลิตภาพเชิงบูรณาการจำนวน 4,000 คน คาดว่าหลังจากจบโครงการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรได้มากกว่า 400 ล้านบาท