อภ.เดินหน้าพันธสัญญา ‘ขมิ้นชัน’ สร้างอาชีพเกษตรกรไทย

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นอีกหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้สมุนไพร โดยเฉพาะขมิ้นชัน เนื่องจากมีการวิจัยพัฒนาสารสกัดขมิ้นชัน ทั้งเพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง แน่นท้อง และล่าสุดผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกยังพบว่าสามารถทดแทนยาแผนปัจจุบันกลุ่มอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อม และยังได้
รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบันรายแรกของประเทศไทย จนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นระดับชาติ (Prime Minister Herbal Awards PMHA) ประจำปี 2561

แน่นอนว่าความสำเร็จจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวไม่เพียงแต่ให้คนไทยเข้าถึงการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอีกด้วย เนื่องจากกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จำเป็นต้องได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ

เห็นได้จาก นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้บริหาร อภ.ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมลงนามสัญญาจะซื้อจะขายขมิ้นชันคุณภาพ ระหว่าง อภ.และ 5 กลุ่มเกษตรกร 3 จังหวัด ประกอบด้วย ลพบุรี 3 กลุ่มเกษตรกรยะลา 1 กลุ่ม และตากอีก 1 กลุ่ม ที่โรงแรมลพบุรีอินนท์ รีสอร์ท เมื่อไม่นานมานี้ พร้อมทั้งยังลงพื้นที่เยี่ยมชมไร่ทหารสานประชา บ้านท่าเดื่อน้อย ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี

นพ.โสภณบอกว่า อภ.ต้องการใช้ชมิ้นชันตากแห้งประมาณปีละ 90 ตัน ซึ่งการลงนาม
ครั้งนี้ เกษตรกร 5 กลุ่มจะขายขมิ้นชันตากแห้งให้กับ อภ.ปีละประมาณ 45 ตัน ในราคาตันละ
ประมาณ 120,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทั้ง 5 กลุ่มมีรายได้ต่อปีรวมกันประมาณ 5.4 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 45 ตัน อภ.จะจัดซื้อตามปกติจากแหล่งปลูกขมิ้นชันที่มี
คุณภาพทั่วประเทศ ซึ่งขมิ้นชันคุณภาพจะต้องมีสารสำคัญ คือสารเคอร์คูมินอยด์สูงกว่าร้อยละ 9 สำหรับนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งหากเกษตรกรสามารถปลูกขมิ้นชันที่มีสารดังกล่าวได้ในปริมาณมากก็จะได้ราคามากขึ้นด้วย

ด้าน ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการ อภ.กล่าวถึงการคัดเลือกกลุ่ม
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมา อภ.ได้ลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อสำรวจหาขมิ้นชันที่มีคุณภาพด้วยการนำไปวิเคราะห์หาสารเคอร์คูมินอยด์ จบพบว่า 5 กลุ่มเกษตรกรสามารถปลูกขมิ้นชัน
ที่มีสารสำคัญได้ในปริมาณสูงจึงเกิดความร่วมมือขึ้น โดยทาง อภ.จะให้การสนับสนุนต่างๆ ทั้ง
การคัดเลือกสายพันธุ์คุณภาพ ให้ความรู้การปลูกอย่างเหมาะสมมีการติดตามระหว่างการปลูก
และพร้อมรับซื้อในราคาที่เหมาะสม

โดยในเรื่องของราคาการรับซื้อนั้น เบื้องต้น อภ.กำหนดไว้ว่าจะรับซื้อขมิ้นชันที่มีสารเคอร์
คูมินอยด์ไม่น้อยกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 9.5 เปอร์เซ็นต์ จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 120 บาท หากสามารถปลูกจนได้สารสำคัญเท่ากับหรือมากกว่า 9.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เท่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะรับซื้อในราคา 126.6 บาทต่อกิโลกรัม และหากมีสารเคอร์คูมินอยด์มากกว่านั้นก็จะรับซื้อในราคาที่มากขึ้นตามความเหมาะสม โดยการรับซื้อจะเป็นขมิ้นชันตากแห้งแล้วเท่านั้น

สำหรับพื้นที่ปลูก ซึ่งคณะผู้บริหาร อภ.ได้ไปเยี่ยมชมในครั้งนี้ คือไร่ทหารสานประชา บ้าน
ท่าเดื่อน้อย ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี เป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มเกษตกรที่ร่วมทำสัญญา โดย นางพิมพ์ชญา ผาฮุย ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มวิชาชีพเกษตรอินทรีย์ไร่ทหารสานประชาเล่าให้คณะผู้เยี่ยมชมทราบว่า การปลูกขมิ้นชันของทางไร่ทหารสานประชาเป็นแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด โดยได้รับการ
รับรองให้เป็น organic village 1 ใน 8 แห่งของประเทศไทย โดยที่มาของการทำเกษตรอินทรีย์เนื่องจากเดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นของทหาร มีประมาณ 200 ไร่ แต่แบ่งให้ชาวบ้านเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกินครัวเรือนละ 5 ไร่ จากทั้งหมด 33 ครัวเรือน โดยมีเงื่อนไขต้องใช้พื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์เท่านั้น

“เดิมทีก็ไม่เข้าใจว่าทำการเกษตรอินทรีย์อย่างไร ก็มีทาง คุณเจริญ พิมพ์ขาล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรของ จ.ลพบุรี มาให้ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ และก็ได้มีโอกาสไปดูงานกับทางมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรีด้วย ก็นำความรู้ต่างๆ มาทำให้พื้นที่เป็นเกษตรอินทรีย์อย่างการปลูกขมิ้นชันก็เช่นกัน เราจะไม่ถางหญ้าเลย เพราะหญ้าถือเป็นพี่เลี้ยงน้ำให้ขมิ้นชัน
จากนั้นเราก็เติมดินภูเขาไฟ หรือเพอร์ไลท์ คล้ายๆ ปุ๋ย แต่เป็นสารอินทรีย์ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีเลย ซึ่งแร่เพอร์ไลท์สำคัญมาก เพราะทำให้มีความพรุน เพิ่มสารเคอร์คูมินอยด์ได้ด้วย ซึ่งชัดเจนว่าการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มีประโยชน์ เพิ่มผลผลิตได้โดยเราไม่ต้องพึ่งสารกำจัดศัตรูพืช หรือสารเคมี” นางพิมพ์ชญากล่าวทิ้งท้าย

นอกจากจะส่งเสริมรายได้เกษตรกรแล้ว เรายังได้ขมิ้นชันคุณภาพดีๆ มาผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย

ที่มา : มติชนออนไลน์