กลุ่มนาแปลงใหญ่ห้วยยางโทน แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพของราชบุรี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ต้องการให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่มารวมตัวกันเพื่อผลิต และบริหารจัดการผลผลิตในแนวทางเดียวกัน ช่วยประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกิดเป็นระบบเกษตรขนาดใหญ่ มีเป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มที่ชัดเจน สามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ ที่สำคัญคือสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

​นางจุรี ภัทรกุลนิษฐ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการผลิตและจัดการผลผลิต สำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า นโยบายของกรมการข้าวในด้านการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ หรือนาแปลงใหญ่นั้น จะมุ่งส่งเสริมเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มอยู่แล้วและมีความสนใจที่อยากพัฒนาคุณภาพการผลิตข้าวก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ อย่างเช่นศูนย์ข้าวชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากระบบส่งเสริมนาแปลงใหญ่เน้นที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจึงเป็นโครงการที่ไม่ได้บังคับ เอาความสมัครใจเป็นหลัก ตัวอย่าง จังหวัดราชบุรี มีกลุ่มนาแปลงใหญ่ 9 แปลง โดยกลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวเกษตรคุณภาพ ห้วยยางโทนผลิตเมล็ดพันธุ์ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ก็เป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่เข้ามาทำเรื่องนาแปลงใหญ่

​โครงการนาแปลงใหญ่จะมีกรมการข้าวร่วมบูรณาการกับหน่วยงานทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาคี ไปจนถึงภาคเอกชน ร่วมกันถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยเคมี สารเคมี ค่าจ้าง เพื่อให้เกิดการพัฒนาการผลิตข้าวให้มีคุณภาพมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงมีการเชื่อมโยงการตลาดจับคู่ MOU ระหว่างกลุ่มนาแปลงใหญ่กับผู้ประกอบการ เพื่อให้มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ทำให้เกษตรกรมีทิศทางในการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต

นายปรีชา กิมกง ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวเกษตรคุณภาพ ห้วยยางโทนผลิตเมล็ดพันธุ์ เล่าว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่ห้วยยางโทนฯ มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นศูนย์ข้าวชุมชน ตั้งแต่ปี 2556 สมาชิก 42 รายเพื่อรวมกันผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพส่งให้กับกรมการข้าว ต่อมาปี 2560 ได้เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ โดยมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 50 ราย พื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 1,157 ไร่ แบ่งเป็นผลิตเมล็ดพันธุ์ 355 ไร่ ข้าวส่งให้โรงสี 709 ไร่ ด้วยความรู้ความชำนาญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ประกอบกับได้รับการถ่ายทอดความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้สมาชิกกลุ่มนาแปลงใหญ่มีความรู้ความเข้าใจการร่วมมือกันบริหารจัดการผลผลิต โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้มีมาตรฐานและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้นาแปลงใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เกือบครบ 100% ทั้ง GAP เมล็ดพันธุ์ และ GAP ข้าว ยังขาดอีกไม่กี่แปลงกำลังเร่งผลักดันให้สมาชิกพัฒนาให้ผ่านการรับรองให้ครบทุกแปลง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

โครงการนาแปลงใหญ่เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการให้ชาวนาเข้มแข็ง โดยเน้นให้เกิดการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกันขาย ซึ่งแต่ก่อนชาวนาต่างคนต่างปลูก ต่างคนต่างขาย ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงและยังโดนกดราคา พอชาวนามารวมตัวกันเป็นกลุ่มทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น อีกทั้งเมื่อรวมกลุ่มกันทางหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนก็ทำงานง่ายขึ้น เมื่อเกษตรกรมีความรู้ มีเทคโนโลยีช่วยสนับสนุน มีตลาดรองรับ ก็ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น



สำหรับแผนการในอนาคตทางกลุ่มนาแปลงใหญ่ห้วยยางโทน ยังคงเน้นทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพจำหน่ายให้ชุมชนและเกษตรกรทั่วไป เนื่องจากการขายเมล็ดพันธุ์ได้ราคาสูงกว่าการขายข้าวทั่วไปเกือบเท่าตัว แม้จะมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าการปลูกข้าวทั่วไปแต่ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีก็สามารถทำให้มีประสิทธิภาพได้ โดยชนิดเมล็ดพันธุ์ที่ผลิต ได้แก่ สุพรรณบุรี 1 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวก็มีความเสี่ยง เพราะชาวนาเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ไปตามกระแส ถ้าทางกลุ่มรับซื้อเมล็ดพันธุ์จากสมาชิก หากปีใดขายไม่หมดก็จะกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียน แต่ถ้ากลุ่มมีโรงสีข้าวเอง แม้จะขายเมล็ดพันธุ์ไม่หมดก็นำมาแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายแทน เป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของกลุ่มนาแปลงใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : มติชนออนไลน์