ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แหล่งข่าวจากสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มพ่อค้ารายย่อยจำนวนมากได้ซื้อยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ ในราคาตามกลไกตลาด เก็บตุนเพื่อนำออกขายในปี 2560 แต่ไม่ลงทุนทำโกดังเก็บยางเอง วิธีการคือเมื่อซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ให้ชาวสวนยางเก็บไว้ที่บ้านของตนเองก่อน โดยให้ทำสถานที่เก็บไว้บริเวณบ้าน เช่น ใต้ถุนบ้าน เป็นต้น ซึ่งพ่อค้ารายย่อยจะให้ราคาเพิ่มประมาณกิโลกรัมละ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าฝากยาง ขณะที่กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรยาง ที่มีโรงรมเอง สามารถนำน้ำยางสดมาผลิตเป็นยางแผ่นดิบเก็บตุนไว้ออกขายได้ส่วนชาวสวนยางที่ไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์ก็สามารถรวมกลุ่มกับโรงรมของเอกชนได้เพื่อผลิตเป็นยางแผ่นดิบไว้ขายในปี2560
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปี 2560 ราคายางในตลาดล่วงหน้าเอสทีอาร์ 20 สำหรับสัญญาบางฉบับที่ส่งมอบซื้อขายล่วงหน้า มีรายละเอียดดังนี้ เดือนมกราคม 2560 ราคา 81,125 บาท/ตัน ราคาเฉลี่ยกว่า 81 บาท/กิโลกรัม โดยราคา 81 บาทนี้มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2560 ส่วนเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2560 ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 83,425 บาท/ตัน เฉลี่ยกว่า 83 บาท/กิโลกรัม เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560 ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าบางสัญญาได้ขยับลงมาอยู่ที่ 82,100 บาท/ตัน เฉลี่ยกว่า 82 บาท/กิโลกรัม ต่อมาในเดือนกันยายน 2560 ราคาขยับขึ้น 82,250 บาท/ตัน ราคาเฉลี่ยประมาณ 84.78 บาท/กิโลกรัม และเดือนตุลาคม 2560 ราคาขยับลงมาอยู่ที่ 83,125 บาท/ตัน เฉลี่ยกว่า 83 บาท/กิโลกรัม
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ล่าสุด ธนาคารจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 8 แห่ง ที่เป็นผู้ให้การรับรองกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปยางขนาดใหญ่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ล้อรถ ล้อเครื่องบิน ได้เดินทางมายัง สยยท. และมีการพูดคุยเจรจากันที่สำนักงานถึงเรื่องการซื้อขายยาง โดยจะขอรับซื้อยางประมาณ 30,000-40,000 ตัน/ปี
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์จากเมืองชิงเต่า ประเทศจีน 10 กลุ่ม จะเดินทางไปดูงานโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางของสมาชิก สยยท.ที่ จ.ระยอง เพื่อความมั่นใจ
ปัจจุบัน สยยท.มีสถาบันเกษตรกรยางจำนวน 76 องค์กร เป็นทั้งสมาคมยาง สหกรณ์ยาง วิสาหกิจชุมชนยาง กลุ่มยาง เป็นต้น จะต้องรวบรวมปริมาณยางให้ได้โดยรวดเร็ว ให้แล้วเสร็จภายหลังปีใหม่ พ.ศ. 2560 นี้ ส่วนราคาต้องเป็นไปตามหลักกลไกการตลาด และยางต้องมีคุณภาพ
ขณะที่การใช้ยางภายในประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ 8 กระทรวง นำยางมาใช้จำนวน 100,000 ตัน โดยมอบหมายให้สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้ดำเนินการนั้น ขณะนี้เพิ่งซื้อยางได้ประมาณ 2,000 ตันเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะนี้พื้นที่สวนยางพาราในภาคใต้หลายจังหวัดกำลังอยู่ในช่วงมรสุมฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ จ.พัทลุงและ จ.สงขลา ฝนได้ตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถกรีดยางได้มาเป็นระยะหลายวันแล้ว แม้ว่าราคายางจะขยับขึ้นก็ตาม