สหกรณ์การเกษตรปูพรมเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ข้าวหอมมะลิราคาพุ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

กรมส่งเสริมสหกรณ์สำรวจจุดรับซื้อข้าวเปลือกของสหกรณ์การเกษตรในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 สหกรณ์ 434 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด เตรียมแผนรับซื้อข้าวเปลือกไม่น้อยกว่า 3.9 ล้านตัน เฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญ มีสหกรณ์ 226 แห่ง ทยอยเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกแล้ว 25 แห่ง คาดปริมาณข้าวเปลือกจะออกมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม รัฐบาลร่วมเป็นกองหนุนให้สินเชื่อรวบรวมข้าวแก่สถาบันเกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส. ดอกเบี้ยร้อยละ 1 หวังเสริมสภาพคล่องระหว่างการรวบรวมและแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตได้ราคาดี

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว หลายจังหวัดเกษตรกรได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ติดตามสถานการณ์การเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกของสหกรณ์การเกษตรที่ทยอยเปิดรับซื้อข้าวจากสมาชิก ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา มีสหกรณ์ในหลายจังหวัดได้ทยอยเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ได้แก่ ปทุมธานี ชัยนาท อุดรธานี นครพนม สกลนคร นครราชสีมา เชียงราย แพร่ นครสวรรค์ เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช รวบรวมผลผลิตไปแล้วปริมาณ 21,607 ตันข้าวเปลือก มูลค่า 159.13 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 จะมีสหกรณ์ 434 แห่งในพื้นที่ 56 จังหวัด รวบรวมข้าวเปลือกในปริมาณไม่น้อยกว่า 3.9 ล้านตัน

สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญ มีสหกรณ์ 226 แห่งที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวและได้ทยอยเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกแล้ว 25 แห่ง อาทิ สหกรณ์การเกษตรชุมพลบุรี สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สุรินทร์ จำกัด จังหวัดสุรินทร์ สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา และสหกรณ์การเกษตรตระการพืชผล จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด จะเริ่มเปิดจุดรับซื้อข้าวหอมมะลิ ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิของสหกรณ์ ความชื้น 25% เฉลี่ยตันละ 12,000-12,500 บาท ส่วนความชื้น 15% ตันละ 15,000-18,000 บาท และเมื่อเทียบราคารับซื้อกับโรงสีเอกชนในพื้นที่ ถือว่าสหกรณ์รับซื้อในราคานำตลาด และเป็นราคาที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ตันละ 2,000-6,000 บาท ซึ่งราคารับซื้อขึ้นอยู่กับคุณภาพและความชื้นของข้าวที่เกษตรกรรวบรวมและนำมาขายให้สหกรณ์

ส่วนสหกรณ์ในภาคเหนือ จะเน้นรับซื้อข้าวเปลือกเหนียว ขณะนี้มีสหกรณ์การเกษตรเมืองเชียงราย จำกัด จังหวัดเชียงราย และสหกรณ์การเกษตรหนองม่วงไข่ จำกัด จังหวัดแพร่ ได้เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวความชื้น 25% ที่ราคาตันละ 7,300-7,700 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เฉลี่ยตันละ 900-1,400 บาท ส่วนในภาคกลาง รับซื้อข้าวเปลือกขาว เช่น สหกรณ์การเกษตรคลองหลวง จำกัด จังหวัดปทุมธานี รับซื้อข้าวเปลือกความชื้น 25% ตันละ 6,700 บาท ส่วนข้าวเปลือกความชื้น 15% ตันละ 7,700 บาท ซึ่งเทียบกับปีที่ผ่านมา ราคารับซื้อข้าวเปลือกขาวเพิ่มสูงขึ้นตันละ 300 บาท ซึ่งราคาข้าวเปลือกที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากพื้นที่ทำนาในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่ผ่านมา

“ราคารับซื้อข้าวเปลือกขึ้นอยู่กับคุณภาพและข้าวชื้นของข้าว อยากให้สมาชิกสหกรณ์รักษาคุณภาพของข้าวเปลือกและรวบรวมนำมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์ที่ตนเองสังกัด ซึ่งจะได้ราคาที่ยุติธรรม และเมื่อสหกรณ์มีผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปข้าว สหกรณ์ได้จัดสรรกำไรดังกล่าวมาปันผลเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยอนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2561/62 ผ่าน ธ.ก.ส. โดยจัดสรรวงเงินสินเชื่อไว้ 12,500 ล้านบาท ให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศุนย์ข้าวชุมชน กู้ยืมเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นข้าวสาร คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ชำระหนี้ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2562 ขณะนี้มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว 399 แห่ง วงเงินที่ขออนุมัติสินเชื่อ จำนวน 16,890 ล้านบาท” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว