‘อภัยภูเบศร’ หนุนปลดล็อกกัญชา แนะมุ่งเป้าผลิตรักษามะเร็ง ลดนำเข้ายา 4 หมื่นล./ปี

ภญ. สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ในฐานะที่ทำงานด้านสมุนไพรและแพทย์แผนไทย แม้จะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ แต่หลังจากนี้เครือข่ายจะหาทีมและผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยกัน โดยนำงานศึกษาวิจัยของต่างประเทศมาศึกษาเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการนำกัญชามาใช้อย่างไรบ้าง รวมถึงวิธีการควบคุมและจัดการ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ยกตัวอย่างถึงความจำเป็นในการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ การออกใบรับรองหน่วยงาน ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลควบคุม มองว่าประเทศไทยต้องมีระบบจัดการที่ดี มีงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดได้ และทิศทางการจัดวางผลผลิต ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังร่วมกัน โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง หากนำมาสู่การผลิตและมุ่งเป้าผลิต จะช่วยลดภาระการนำเข้ายาเกี่ยวกับการรักษามะเร็งจากต่างประเทศ ได้ถึง 3-4 หมื่นล้านบาท

“ส่วนสถานการณ์การรอคอยของผู้ป่วยมะเร็ง ปัจจุบันการใช้โด๊สรักษายังไม่มีความแน่นอน แต่การวิจัยในการนำกัญชามารักษามะเร็งให้มีข้อมูลชัดเจน จะเป็นแนวทางช่วยเหลือผู้ป่วยได้ รวมถึงเปิดช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถนำมารักษาได้ ขณะนี้มีการนำน้ำมันกัญชามาใช้รักษาแล้ว แต่ได้ผลและไม่ได้ผลบ้าง เพราะไม่ได้เปิดทางให้ใช้กันจริงจัง ส่วนแนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งหันมารักษาการแพทย์ทางเลือกนั้น ต้องยอมรับว่าทางเลือกการรักษาถูกค้นหามาตลอด แต่ปัจจุบันก็มีหลายทางเลือก อดีตผู้ป่วยมะเร็งหันมากินยาหม้อสมุนไพรกันนั้น เพราะมะเร็งไม่ได้กำหนดอยู่ในระบบประกันสุขภาพ กลายเป็นปัญหาสะสมของไทยและต้องหาทางพึ่งตัวเองเรื่องยารักษามะเร็ง” ภญ. สุภาภรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ภญ. สุภาภรณ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ได้แก่ มิติทางด้านชุมชน อยากให้ชุมชนได้ประโยชน์ และการแพทย์ไทยได้ประโยชน์ต่อยอดสู่การแพทย์สมัยใหม่ ตลอดจนมิติการสร้างรายได้ หากมองไปไกลกว่านั้น แน่นอนว่า 1.ต้นทุนการผลิตจะถูกกว่าประเทศทั่วโลก เพราะไทยมีแสงเพียงพอต่อการเพาะปลูก ไม่ต้องสร้างแสงขึ้นเองเหมือนต่างประเทศ ซึ่งไทยสามารถขยายสายพันธุ์เองได้ และ 2. ยาแก้ปวด ยานอนหลับ บางตำรับพบกัญชาเป็นยา กัญชาเป็นยานอนหลับพื้นบ้านของคนไทย หากปลดล็อกได้เฉพาะยานอนหลับและนำมาสู่การทดแทน ถือว่าคุ้มค่ามากแล้ว แต่ต้องต่อยอดมากกว่านั้น โดยต้องขึ้นทะเบียน มีระบบจัดการและควบคุมได้ นำร่องโรงพยาบาลรัฐก่อน

ภญ. สุภาภรณ์ กล่าวว่า การปลดล็อกต้องนำมาใช้ทางการแพทย์ได้หลายทาง ทั้งการแพทย์แผนไทยดั้งเดิมและการวิจัยในการแพทย์สมัยใหม่ โดยทางเครือข่ายเฝ้าดูด้วยความหวัง ว่าสักวันประเทศไทยจะสามารถพึ่งพาตัวเองเรื่องยาได้ และผู้ป่วยไม่ต้องสิ้นหวังอีกต่อไป โดยกัญชาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่สิ่งที่จะต้องทำหลังจากนี้ เครือข่ายจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดเส้นทางของกัญชา โดยในเร็วๆ นี้ จะเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของ สธ.ด้วย