พิมลพรรณ พรหมทอง ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น แห่งปี 2561 โดดเด่นเรื่องปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ ในยุค Thailand 4.0 เพื่อเกษตรกรรากหญ้าอย่างแท้จริง

งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561 ผ่านไปแล้ว มีการนำสิ่งประดิษฐ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนอ รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ในรอบปีมาเป็นแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน เด็กๆ เยาวชน ตามนโยบายวิทยาศาสตร์สร้างคนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง

ทุกๆ ปี เราจะได้เห็นบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ดีเด่น หรือ “ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูประถัมภ์ ให้เป็นบุคคลดีเด่นหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ทำคุณประโยชน์ ผู้คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้ารับโล่พระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 เพื่อเป็นเกียรติประวัติอันสูงสุดของการรับราชการครูสาขาวิชาวิทยาศาสตร์

บุคคลตัวอย่างทางด้านวิทยาศาสตร์ดีเด่น แห่งปีที่จะกล่าวถึงนี้คือ ครูผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ครูพิมลพรรณ พรหมทอง ผู้ก้าวผ่านความท้าทาย ผ่านความเหนื่อยยากกับการทุ่มเท ต้องเดินลุยโคลน ตากแดด ตากฝน เพื่อเข้าสวนแปลงทดลองในแต่ละโครงงานวิทยาศาสตร์ มาตลอดทุกๆ 1 ปี โดยใช้หลักคิด วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาวิเคราะห์วิจัย ในการคำนวณค้นหาสูตรปุ๋ยอินทรีย์ และเก็บสถิติในแต่ละโครงงาน จากความทุ่มเทผลงานรางวัลระดับชาติของการเป็นครูที่ปรึกษาจึงไม่เคยพลาดคว้ามาได้ทุกๆ ปี

ครูพิมลพรรณ พรหมทอง กับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ

แต่เป้าหมายสูงสุดของครูตัวเล็กๆ ที่ต้องการตอบโจทย์ค้นหาสูตรปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ที่ดีที่สุด ให้กับเกษตรกรรากหญ้า เพื่อลดปัญหาด้านต้นทุนในการใช้ปุ๋ย รวมถึงลดละการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อความเป็นเกษตรกรอินทรีย์ (Organic Thailand) อย่างแท้จริง โดยยึดแนวพระราชดำริตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ครูพิมลพรรณ จบการศึกษาสูงสุด วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำแหน่งงานปัจจุบัน ครูวิทยฐานะชำนาญการ ที่วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

สำหรับผลงานรางวัลที่โดดเด่นด้านโครงงานวิทยาศาสตร์ จากการทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจในการคิดค้นเรื่องปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น มีดังต่อไปนี้

– ชนะเลิศรางวัลโล่พระราชทานฯ “ปุ๋ยน้ำหมักมูลไส้เดือนเพื่อเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง”

เป็นรางวัลสูงสุดในปี 2558 ของการเป็นครูที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนดิน เพื่อเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง” ระดับ ปวส. ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ และเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา

แปลงทดลองดาวเรือง-ของเกษตรกร คุณสิทธิพันธุ์ กัลปพฤกษ์

จากผลการทดลองโครงงานนี้ สามารถตอบโจทย์เกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองได้อย่างแท้จริง จากการใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนดิน เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดิน และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นดาวเรือง ซึ่งแตกต่างจากการรดด้วยน้ำธรรมดาๆ โดยพิจารณาความสูงของลำต้น จำนวนกิ่ง และจำนวนดอก ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ในการศึกษาการเจริญเติบโตของต้นดาวเรือง

นอกจากความสูงของต้นและจำนวนดอกแล้ว การรดด้วยน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนดิน สูตรที่ 6 ในอัตราส่วนปริมาณมูลไส้เดือนดิน 1,100 กรัม แบบไม่เติมออกซิเจน ยังส่งผลให้ดอกดาวเรืองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่มากกว่าทุกๆ ดอกดาวเรืองต้นอื่นๆ ในแปลงทดลอง ในระยะเวลาการทดลอง 75 วันเท่ากัน เรียกว่าเป็นการตอบโจทย์ให้กับเกษตรกรในการเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง และยังเป็นความต้องการของตลาดอีกด้วย

แปลงทดลองเพาะต้นกล้าดอกดาวเรือง
วัดขนาดดอกดาวเรืองในแปลงทดลอง

อย่างที่ทราบกัน ต้นดาวเรือง หรือดอกดาวเรือง เป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และที่สำคัญ ต้นดาวเรือง เกษตรกรต่างก็นิยมปลูกกันทั่วประเทศ จึงเป็นรางวัลสูงสุดแห่งความภาคภูมิใจ

– กล้วยไข่หมักผลิตไฟฟ้าและน้ำไวน์กล้วยไข่

ปีต่อมา 2559 เป็นครูที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “การผลิตไฟฟ้าโดยการหมักน้ำส้มสายชูจากกล้วยไข่สุก” ระดับ ปวส. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ระดับประเทศ

โครงงานนี้แม้จะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 แต่ผู้เขียนก็มองเห็นถึงแนวคิดในการนำผลผลิตที่ล้นตลาดที่แปรรูปไม่ทันและเน่าเสียในที่สุด โดยเฉพาะกล้วยไข่พืชเศรษฐกิจของดีจังหวัดกำแพงเพชร

ครูพิมลพรรณ เล่าว่า การทำโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องนี้เกิดจากแนวคิดที่จะศึกษาการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยอาศัยหลักการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์แบบห้องเดี่ยว โดยใช้กระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูจากกล้วยไข่สุก ที่สุกงอมและเกิดผิวเปลือกดำจนไม่สามารถนำไปขายได้ หรือนำมาแปรรูปได้ยาก นอกเสียจากเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์

ในฐานะครูที่ปรึกษา จึงศึกษารูปแบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์จากน้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักกล้วยไข่สุก เพื่อศึกษารูปแบบใดที่เหมาะต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าและผลของการเติมหรือไม่เติมออกซิเจนที่มีต่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม และสามารถนำไปต่อยอดสู่การผลิตไฟฟ้าในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป

ส่วนขั้นตอนการทดลองนำกล้วยไข่ที่สุกงอมจนเปลือกดำ เอามาปั่นให้ละเอียดและผสมน้ำตาลทรายขาว แล้วเติมโพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ (KMS) ความเข้มข้น 0.2 กรัม ต่อลิตร เติมยีสต์ผงลงไปในถังหมักปริมาตร 18 ลิตร จำนวน 3 ช้อนโต๊ะ เพื่อให้ยีสต์เปลี่ยนน้ำกล้วยไข่สุกเป็นไวน์กล้วยไข่ น้ำใสๆ เพื่อนำมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในผลการทดลองขั้นต่อไป

สรุปโดยย่อ การทดลองครั้งนี้นอกจากได้กระแสไฟฟ้าแล้วยังได้น้ำไวน์กล้วยไข่ที่รสชาติดีมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นการตอบโจทย์ ผลิตภัณฑ์น้ำไวน์กล้วยไข่ได้อีกทางหนึ่ง

– “ปุ๋ยมูลสัตว์” เพิ่มการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่

ในปี 2560 เป็นครูที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “ศึกษาการเจริญเติบโตของกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกัน” ระดับ ปวส. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ

โครงงานนี้ ครูพิมลพรรณ มีความมุ่งมั่นด้วยหัวใจอย่างแท้จริงที่จะศึกษาการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร พืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัด โดยเริ่มจากการนำต้นแม่พันธุ์ที่ชนะเลิศการประกวดในงานประจำปีสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ไปทำการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ จนได้ต้นกล้ากล้วยไข่ที่ดีที่สุด 50 ต้น ไปทำการทดลองในแปลงปลูกจริงของเกษตรกร

ช่วงเวลาของการทดลอง 1 ปีนี้ นับเป็นบทพิสูจน์ของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ผ่านความยากลำบากตากแดดตากฝนลุยโคลนเพื่อเข้าสวนแปลงกล้วยไข่อันรกทึบ แต่ก็คุ้มค่ากับการตอบโจทย์ของโครงงานนี้คือ “ศึกษาการเจริญเติบโตของกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกัน”

ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยมูลสัตว์ต่างชนิดกันที่ว่านี้ ได้แก่ มูลวัว มูลสุกร และมูลไก่ และยังได้ทำการทดลองแบ่งแยกย่อยอีกหลายมิติ ในการนำมูลสัตว์แต่ละชนิดมาทำเป็นปุ๋ยบำรุงต้นกล้วยไข่ ได้แก่ มูลแบบเปียก มูลแบบแห้ง และแบบแห้งมาก

ผู้เขียนเฝ้าติดตามและเอาใจช่วยเพราะเธอบอบบางเกินกว่าที่จะเป็นเกษตรกรที่กำยำ แต่ด้วยหัวใจสู้ แม้จะมีอุปสรรคมากมายแต่เธอก็ผ่านบททดสอบที่เหนื่อยยากมาได้ด้วยดี ไม่เสียแรงเปล่าที่ทุ่มเทกับการทดลองและทำให้รู้ว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกัน ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่ จากการเก็บสถิติ ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตด้านความสูงของต้นกล้วยไข่/ด้านระยะเวลาในการออกหน่อของต้นกล้วยไข่/ด้านจำนวนหน่อของต้นกล้วยไข่/ด้านระยะเวลาในการออกปลีของต้นกล้วยไข่ และด้านจำนวนการออกหวีต่อเครือของต้นกล้วยไข่ เป็นต้น

ครูที่ปรึกษาและนักเรียน กับรางวัลทีมชนะเลิศ

โครงงานนี้จึงทำให้รู้ว่า หากเกษตรกรต้องการเพิ่มปริมาณจำนวนหน่อ ควรใช้ปุ๋ยชนิดใด หากต้องการเพิ่มปริมาณจำนวนหวีต่อเครือควรใช้ปุ๋ยแบบไหนบำรุงในช่วงเวลาใด เป็นต้น และที่สำคัญจากผลการทดลองโครงงานนี้ ยังทำให้รู้อีกว่า ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดใดที่ให้ค่าสีและค่าความหวานของผลกล้วยไข่ นับเป็นความคุ้มค่าที่สุด…

– ค้นพบ “ปุ๋ยมูลวัวแบบแห้ง” ตอบโจทย์ให้ค่าสีและค่าความหวานของกล้วยไข่

ปีต่อมา 2561 เป็นการต่อยอดจากโครงงานที่แล้วภายใต้ชื่อเรื่อง “การศึกษาการใช้ชนิดของปุ๋ยอินทรีย์เพื่อไปกำหนดค่าสีและค่าความหวานของกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร” ระดับ ปวส. และก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ระดับประเทศ มาอีกครั้ง

โครงงานนี้เป็นการต่อยอดจากที่รู้ค่าผลอยู่ในใจจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ “มูลวัวแบบแห้ง” แต่เพื่อความแน่ชัดและตอบโจทย์ให้กระจ่างจึงสุมตรวจและตอบแบบสอบถามของกลุ่มผู้บริโภคที่มาเลือกซื้อกล้วยไข่ ที่ตลาดมอกล้วยไข่ ตลาดค้าขายของฝากกล้วยไข่ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดกำแพงเพชร ว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อกล้วยไข่สีแบบไหน ความสุกแบบใด จำนวน 20 ราย แล้วนำมาถ่ายภาพในกล่องค่าวัดสีเพื่อไปเปรียบเทียบแผ่นเทียบสีมาตรฐานของสีกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ “มูลวัวแบบแห้ง” ซึ่งได้ทำการทดลองวัดค่าสีและหาค่าระดับความหวาน ไว้รองรับก่อนหน้าแล้ว

สรุปผลจากการสัมภาษณ์และตอบแบบสอบถามต่อกลุ่มผู้บริโภคที่มาหาเลือกซื้อกล้วยไข่ต่างให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันกับการเลือกซื้อกล้วยไข่ที่มีสีมาตรฐานใกล้เคียงกับสีกล้วยไข่ที่ปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์ “มูลวัวแบบแห้ง” ส่วนค่าความหวานผู้ทดลองได้นำกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรสุก ที่ว่านี้ไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหาร จำนวน 20 ราย ได้เลือกชิม ซึ่งส่วนใหญ่ต่างให้คำตอบไปในทางเดียวกันว่า ระดับค่าความหวาน 22.48 องศาบริกซ์ ของกล้วยไข่ที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ “มูลวัวแบบแห้ง” มีค่าความหวานรสชาติดีที่สุดกว่าการปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่นๆ

จึงสรุปได้ว่า ปุ๋ยอินทรีย์ “มูลวัวแบบแห้ง” มีความเหมาะสมในการนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับต้นกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรเพื่อให้มีค่าสีของเปลือกกล้วยไข่ที่สวยงาม และได้ค่าความหวาน รสชาติอร่อยมากกว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่นๆ

นับเป็นอีกหนึ่งโครงงานวิทยาศาสตร์ที่สามารถตอบโจทย์ให้กลุ่มเกษตรกร ในการนำปุ๋ยอินทรีย์ “มูลวัวแบบแห้ง” ไปใช้เพื่อจะได้ค่าสีของเปลือกผลกล้วยไข่ที่สวยงาม และยังได้ค่าความหวานของเนื้อกล้วยไข่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดและกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมรับประทานกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร

ที่สำคัญปุ๋ยอินทรีย์ชนิด “มูลวัวแบบแห้ง” ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในการเพิ่มค่าสีและค่าความหวานให้กับผลไม้ชนิดอื่นๆ ของประเทศไทยได้อีกมากมาย…

โครงงานวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่าง ผลงานที่โดดเด่นของ ครูพิมลพรรณ พรหมทอง ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2561 ระดับอาชีวศึกษา ยังมีผลงานที่โดดเด่นอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง รวมถึงการเป็นครูที่ปรึกษาด้านสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ อีกหลายโครงงาน

รศ.ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มอบรางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ครูพิมลพรรณ พรหมทอง

สมแล้วกับรางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น แห่งปี 2561 นับเป็นเกียรติประวัติอันสูงสุดของครูพิมลพรรณ พรหมทอง ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ที่เน้นการสร้างกระบวนการคิด โดยใช้โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นสื่อให้กับผู้เรียน และนำองค์ความรู้โดยการใช้สะเต็มศึกษา (STEM Education) มาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนไปสู่กระบวนการทางวิศวกรรมและคณิตศาสตร์ และเชื่อมโยงไปสู่ภาคเกษตรกรรม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง