ปลูกมะไฟ ให้งาม ทำได้ไม่ยากเกินไป

“มะไฟพันธุ์ทองสยาม”

“มะไฟ”  ภาคใต้เรียก “ ส้มไฟ”  ฝรั่งมังค่าเรียก “เบอร์มีส เกรฟ ” มะไฟพบได้ในป่า ตั้งแต่เนปาล อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ เขมร เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ปัจจุบันประเทศที่นิยมปลูกมะไฟคือ อินเดีย มาเลเซีย และไทย  ในอดีตประเทศไทยมีแหล่งผลิตและรวบรวมพันธุ์ดีอยู่ที่กรุงเทพฯ ชลบุรี และนนทบุรี

 

“ มะไฟ ” เป็นผลไม้พื้นบ้าน เมล็ดสีขาวขุ่น รสเปรี้ยวอมหวาน  ลักษณะเด่นของมะไฟ เป็นไม้ที่มีความสูง 10-25 เมตร มีทั้งต้นตัวเมีย ตัวผู้ และต้นกะเทย โคนต้นแตกเป็นพู ใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปหอกถึงรูปไข่ กว้าง 4-9 เซนติเมตร และยาว 10-20 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1-8 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งและลำต้น ช่อดอกตัวผู้ยาว 3-8 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกตัวเมียยาว 15-30 เซนติเมตร ดอกเดี่ยวมีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ

การปลูกด้วยเมล็ดส่วนใหญ่จะเป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย  ปัจจุบันนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด จึงได้ต้นพันธุ์เป็นต้นกะเทยเกือบทั้งหมด ต้นกะเทย ดังกล่าวหมายถึงต้นที่มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ขนาดผลมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-3.0 เซนติเมตร มีรูปร่างกลม และกลมรี ผลอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุมผิวเปลือก ต่อมาจะหลุดร่วงเมื่อผลแก่ ผิวมีสีเหลือง หรือสีชมพูอ่อน เนื้อผลสีขาวครีม เมล็ดในสีน้ำตาลอ่อน เนื้อผลมีทั้งรสเปรี้ยว และรสหวาน ในหนึ่งผล มี 2-3 เมล็ด หรือ 2-3 พู พันธุ์ที่ปลูกกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น พันธุ์เหรียญทอง ไข่เต่า  กระถิน และมะไฟพันธุ์ทองสยาม

“มะไฟพันธุ์ทองสยาม”

มะไฟ เป็นพืชต้องการดินร่วน หรือดินร่วนเหนียว ระบายน้ำได้ดี จะติดดอกออกผลดีต้องอยู่ในสภาพมีพืชร่วมช่วยบังแสง หรือไม่ชอบแสงแดดจัด มีปริมาณน้ำพอเพียง มีความชื้นในบรรยากาศค่อนข้างสูง ต้องการน้ำมากในระยะติดผล และระยะเริ่มติดดอก หากขาดน้ำจะทำให้การผสมเกสรล้มเหลว การปรับปรุงบำรุงดินนับว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน

แต่ทั้งนี้การให้ปุ๋ยต้องให้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยระยะก่อนออกดอก ควรใส่ปุ๋ยตัวกลางสูง เช่น สูตร 10-30-10 เพื่อกระตุ้นการพัฒนาของรากและการผลิดอก แต่เมื่อติดผลแล้วต้องใส่ปุ๋ยสูตรตัวท้ายสูง เช่น สูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 ปุ๋ยตัวท้ายคือ โพแทสเซียม ช่วยเร่งกระบวนการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลจากใบและต้นไปยังผล อีกทั้งทำให้สีสันสวยยิ่งขึ้น

มะไฟกา ผลไม้พื้นเมืองภาคใต้จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับมะไฟ

สิ่งสำคัญระวังอย่าให้มีการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อน เนื่องจากแมลงทั้งสองชนิดจะดูดน้ำเลี้ยงที่ช่อดอกของมะไฟกินเป็นอาหาร ทำให้น้ำเลี้ยงหรืออาหารไปหล่อเลี้ยงดอกและผลไม่พอเพียง ดอกและผลจะร่วงหล่นในที่สุด วิธีป้องกันกำจัดที่ดีที่สุดคือ การกำจัดมดแดง และมดคันไฟ ที่นำแมลงทั้งสองชนิดไปดูดกินน้ำเลี้ยง และได้น้ำหวานที่แมลงขับถ่ายออกมากินเป็นอาหารตอบแทน กำจัดมดเพื่อไม่ให้นำแมลงไปยังช่อดอก ด้วยวิธีที่เหมาะสม หากคุณปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้น คุณจะได้ช่อมะไฟที่สวยงามตามความประสงค์