ตามไปดู..โครงการเสริมสร้างรายได้เกษตรกรรายย่อย ที่หันคา ชัยนาท แหล่งจุดประกายถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“เกษตรกร คือกระดูกสันหลังของชาติ” กล่าวไว้ถูกต้องและให้ความหมายที่ชัดเจน เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบาย ในปีงบประมาณ 2561 เน้นการพัฒนาคนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ จึงเป็นการสร้างโอกาสและการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ และนวัตกรรมด้านเกษตร ให้สามารถปรับตัวให้ทันต่อระบบการผลิตที่มีการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน รวมทั้ง ขาดแคลนทุนตั้งต้นสำหรับใช้ในการประกอบกิจการเพื่อให้เกิดรายได้ที่ต่อเนื่องและมั่นคง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง ได้รับการพัฒนาและสนับสนุนในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต ด้านการบริหาร จัดการผลผลิต และการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจ จะสามารถติดอาวุธทางปัญญาให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ได้จริงในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรในทุกมิติ และตอบโจทย์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน เกิดความเข้มแข็งในชุมชนซึ่งเป็นฐานรากของระบบเกษตรกรรมของประเทศ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อีกทั้งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เพื่อให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับบริบทสังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างยั่งยืน เป็นการวางรากฐานการพัฒนาการเกษตร ในระยะยาว เป็นแนวทางการพัฒนาในรูปแบบของโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

นายชัด  ขำเอี่ยม เกษตรอำเภอหันคา เปิดเผยว่า อำเภอหันคามีพื้นที่การเกษตร จำนวน 271,431 ไร่ เกษตรกรจำนวน 7,287 ครัวเรือน จำนวน 8 ตำบล 100 หมู่บ้าน แบ่งจุดส่งเสริมตามโครงการเสริมสร้างรายได้เพื่อเกษตรกรรายย่อยจำนวน 13 ชุมชน คัดเลือกเกษตรกรร่วมรับการฝึกอบรมเฉลี่ยชุมชนละ 200 ราย ถ่ายทอดความรู้ตามหลักสูตรการพัฒนาการเกษตร มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยให้มี การรวมกลุ่มกัน โดยการเรียนรู้ฐานวิธีคิด หลักการสำคัญของการรวมกลุ่ม การสร้างความเข้มแข็ง การเริ่มต้น ประกอบธุรกิจเกษตรขนาดเล็กและการจัดทำแผนธุรกิจ การสร้างความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งการเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มผลิตภาพการผลิต การลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการทำแผนธุรกิจกลุ่มเพื่อขอรับการสนับสนุนการดำเนินการร่วมกัน โดยดำเนินการ ฝึกอบรม จำนวน 3 วัน/รุ่น วิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถประสบความสำเร็จตามหลักสูตรที่จะถ่ายทอดความรู้ อีกทั้งมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ ส่งผลให้เกษตรกรมีความพึงพอใจมากทั้งผู้เป็นวิทยากรและเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม รวมทั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่เตรียมทำอาหาร และเครื่องดื่ม สำหรับเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม เกิดความรักความสามัคคีเอื้อเฟื้อในชุมชน เมื่อผ่านการอบรมแล้วเกษตรสามารถร่วมกลุ่มย่อย เพื่อร่วมกิจกรรมการพัฒนากลุ่มเกษตรกร ภายใต้เงื่อนไขว่า กลุ่มย่อยในชุมชนต้องมีเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการ มีความพร้อมในการพัฒนากลุ่มเกษตรกร และจัดทำโครงการเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการในทุกขั้นตอนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการระดับชุมชน และอำเภอ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายในวงเงินชุมชนละ 300,000 บาท ในการนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดตั้งและการพัฒนาสถาบันเกษตรกร จึงเห็นประโยชน์ของการจัดตั้งกลุ่มเกิดการร่วมกลุ่ม และขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ส่งผลให้บางชุมชนงบประมาณไม่พอ บางโครงการจึงไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ มีเพียงบางชุมชนที่คิดโครงการที่ใช้งบประมาณไม่มาก จึงใช้ไม่หมด 300,000 บาท รวมทั้งสิ้น 29 โครงการ

นางศุทธินี ฉิมแป้น เกษตรกรวัย 41 ปี ผู้เข้ารับการฝึกอบรม บ้านเลขที่ 116 หมู่ที่ 8 ต.ห้วยงู อ.หันคา จ.ชัยนาท กล่าวว่า ได้เข้ารับการฝึกอบรมร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรมาหลายหลักสูตร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรเฉพาะทาง แต่ครั้งนี้เป็นหลักสูตรที่ได้รับความรู้ที่หลากหลาย ทำให้น่าติดตามไม่น่าเบื่อหน่ายกับการเรียนรู้ หลังการอบรมแล้วมีเพื่อนเกษตรกรหลายรายเข้าเพื่อจัดตั้งกลุ่ม ดำเนินกิจกรรมร่วมกันสร้างเสริมรายได้จากการทำนา จึงจัดตั้งกลุ่ม ชื่อ กสิกรรมธรรมชาติบ้านท่าแก้ว สมาชิกจำนวน 30  คน จัดทำโครงการ แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 152,000  บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเนินการซื้อวัสดุอุปกรณ์ และ วัตถุดิบหมุนเวียน เพื่อการแปรรูปกล้วยอบเนย และการเพาะถั่วงอกอินทรีย์

นายขวัญชัย แตงทอง วิทยากรเกษตรกรวัย 52 ปี ประธานศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอหันคา หมู่ที่ 9 อำเภอหันคา ได้ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรที่ร่วมโครงการ วิชาการผลิตข้าวแบบลดต้นทุน กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เป็นวิทยากรว่า แม้ว่าจะเหนื่อย และต้องมีการบริหารจัดการเวลา เพราะต้องจัดสรรเวลาให้เหมาะสมเพื่อการทำการเกษตรในไร่นา และการจัดการที่ ศพก. อีกด้วย แต่นับว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่มีคุณค่าเป็นที่น่าประทับใจ ที่ได้พบแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร ในหลายพื้นที่ของอำเภอหันคา ซึ่งมีทั้งที่เคยไปและไม่เคยไป ศพก.หันคา จึงนับได้ว่าเป็นโครงการที่ดีอีกโครงการหนึ่งของทางราชการที่ได้หยิบยื่นให้กับเกษตรกร จึงขอให้ดำเนินการในทุกๆ ปี แต่ขอให้มีเวลาเพื่อการดำเนินงานที่ยาวนานกว่าในปีนี้ เพื่อเกิดความคล่องตัวของการดำเนินงาน และของวิทยากรที่เข้าร่วม เนื่องจากต้องดำเนินการควบคู่กับการดำเนินงานตามภารกิจหลัก