เจาะสินค้าพืชสำคัญ ภาคตะวันออก พร้อมเตรียมเสนอคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรเป็นข้อมูลเอกภาพ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการจัดทำข้อมูลการเกษตรอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรของประเทศ โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในรูปคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมทั้งได้มีคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร แต่ละด้าน ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง และคณะทำงานในระดับภูมิภาคเพิ่มเติมเพื่อการจัดทำข้อมูลที่เป็นเอกภาพ ถูกต้อง และแม่นยำ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลจากการประชุมคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2561 ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 เป็นประธาน และคณะทำงานจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้รับรองข้อมูล ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลังโรงงาน เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่ ปี 2561 ใน 9 จังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ) ซึ่งเพาะปลูกสินค้าแต่ละชนิด (ข้อมูล ณ 18 ตุลาคม 2561) ดังนี้

ข้าวนาปรัง ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่เพาะปลูก 777,735 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 773,926 ไร่ ผลผลิตรวม 532,177 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 688 กิโลกรัม/ไร่ (ณ ความชื้น 15%) เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่เพาะปลูกลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.40 เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลงจากสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกตกต่ำไม่จูงใจ และมาตรการปรับลดพื้นที่ของรัฐบาล แต่ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.36 จากผลผลิตต่อไร่ที่เฉลี่ยสูงขึ้นมา เนื่องจากมีน้ำเพียงพอ ไม่กระทบภัยธรรมชาติและโรคแมลง

มันสำปะหลังโรงงาน ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่เพาะปลูก 921,057 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 895,191 ไร่ ผลผลิตรวม 3,214,462 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,591 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว ลดลงร้อยละ 15.75 และ 15.99 ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.14 ส่งผลให้ผลผลิตรวมลดลงร้อยละ 15.89 เนื่องจากราคาไม่จูงใจจึงปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่นแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยูคาลิปตัส กล้วยไข่ มะม่วงแก้วขมิ้น ลำไย รวมทั้งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในร่องสวนยางพาราและลำไย ซึ่งไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้อีกเพราะต้นไม้โตคลุมพื้นที่ อีกทั้งมีการขยายพื้นที่โรงงานและที่อยู่อาศัยในภาคตะวันออก จึงทำให้เนื้อที่ปลูกลดลง

เงาะ ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่ยืนต้น 115,975 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 112,441 ไร่ ผลผลิตรวม 173,623 ตัน ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,544 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่ยืนต้น เนื้อที่ให้ผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตรวมลดลงทั้งหมด ลดลงร้อยละ 1.62, 0.90, 9.02 และ 9.81 ตามลำดับ สาเหตุจากราคาเงาะไม่จูงใจให้ขยายพื้นที่ เกษตรกรตัดโค่นเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน อีกทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวนช่วงเงาะออกดอกมีฝนตกชะดอกทำให้ดอกเงาะร่วง

Advertisement

ทุเรียน ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่ยืนต้น 323,205 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 268,867 ไร่ ผลผลิตรวม 405,414 ตัน ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,508 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่ยืนต้น และเนื้อที่ให้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 และ 4.33 เนื่องจากราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีติดต่อกันมานานหลายปี และทุเรียนที่ปลูกในปี 2556 เริ่มให้ผลได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น ผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตรวมลดลงร้อยละ 8.38 และ 4.40 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในปีนี้แต่ละวันมีทั้งอากาศร้อน ฝนตก และหนาวเย็น ต้นทุเรียนปรับสภาพต้นไม่ทัน ทุเรียนออกใบอ่อนแทนการออกดอก และรุ่นที่ออกดอกได้ประสบพายุ ลมฝน ดอกร่วง และสภาพผลทุเรียนไม่สวยได้น้ำหนักเฉลี่ยต่อลูกลดลง ทำให้ผลผลิตรวมลดลง

มังคุด ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่ยืนต้น 202,203 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 196,146 ไร่ ผลผลิตรวม 54,476 ตัน ผลผลิตต่อ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 278 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่ยืนต้นลดลงร้อยละ 0.28 เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.49 ส่วนผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตรวมลดลงร้อยละ 65.34 และ 64.84 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนตลอดมีฝนตกชุก มังคุดออกใบอ่อนแทนการออกดอก ส่วนที่ออกดอกออกประปรายไม่เต็มต้นทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงมาก ส่งผลให้ผลผลิตรวมลดลงตาม

Advertisement

ลองกอง ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่ยืนต้น 44,302 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 42,938 ไร่ ผลผลิตรวม 16,501 ตัน ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 384 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่ยืนต้น เนื้อที่ให้ผล ผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตรวมลดลงทั้งหมดร้อยละ 8.89, 6.80, 27.00 และ 31.94 ตามลำดับ เนื่องจากราคาลองกองตกต่ำมาหลายปี เกษตรกรทยอยโค่นต้นทิ้งปรับปลูกทุเรียนทดแทน อีกทั้งลองกองจะออกดอกได้ต้นลองกองจะต้องขาดน้ำใบสลดเหลือง ซึ่งสภาพอากาศที่แปรปรวนมีฝนชุก ทำให้ลองกองไม่ขาดน้ำ จึงออกดอกได้น้อย ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

ลำไย ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่ยืนต้น 274,735 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 256,900 ไร่ ผลผลิตรวม 348,417 ตัน ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,356 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่ยืนต้น เนื้อที่ให้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 และ 16.60 ตามลำดับ ส่วนผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตรวมลดลงร้อยละ 22.87 และ 10.01 ตามลำดับ เนื่องจากราคาลำไยที่ดีต่อเนื่องมานานหลายปีเกษตรกรได้ปลูกเพิ่มและเริ่มมีปัญหาราคาในช่วงปลายปี 2560 เกษตรกรจึงปรับสลับแปลงต้นที่สมบูรณ์บังคับออกดอกและพักแปลงลำไยต้นไม่สมบูรณ์เพื่อพักต้นไม่ให้ผลผลิตออกกระจุกช่วงเดียวกัน อีกทั้งแปลงที่บังคับสารโพแทสเซียมคลอเรตช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 (จะสามารถเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561) การบังคับออกดอกไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีฝนตกทำให้ลำไยไม่ติดดอก ในแหล่งผลิตใหญ่ของจันทบุรี จึงทำให้ผลผลิตรวมลดลง

ลิ้นจี่ ปี 2561 มีจำนวนเนื้อที่ยืนต้น 2,193 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 1,943 ไร่ ผลผลิตรวม 1,989 ตัน ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,024 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่ยืนต้น เนื้อที่ให้ผลลดลงร้อยละ 2.01, 2.26 ตามลำดับ เนื่องจากลิ้นจี่ที่เกษตรกรปลูกในจังหวัดจันทบุรี แหล่งเดียว ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าเกษตรกรโค่นต้นไปปลูกทุเรียนทดแทน ผลผลิตต่อไร่ต่อเนื้อที่ให้ผล ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.24, 83.83 ตามลำดับ เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มาลิ้นจี่ออกผลน้อยได้พักต้นปีนี้จึงให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะได้นำเสนอข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ด้านพืช เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อมูลก่อนนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นข้อมูลเอกภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์ต่อไป