เตือนชาวสวน….ระวังการระบาดเพลี้ยจักจั่นมะม่วง

เตรียมเก็บจำหน่าย

             กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงที่ขณะนี้มะม่วงอยู่ในระยะแทงช่อดอกจนกระทั่งติดผลอ่อน เนื่องจากสภาพอากาศเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวให้ระวังการระบาดของเพลี้ยจักจั่น ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน แต่ระยะที่ทำความเสียหายมากที่สุด คือ ระยะที่มะม่วงกำลังแทงช่อดอก โดยเพลี้ยจักจั่นจะดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอกทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยงจะถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำเหนียวๆ คล้ายน้ำหวานเปียกเยิ้มติดตามใบ ช่อดอก ผล และรอบๆ ทรงพุ่ม ต่อมาตามใบช่อดอกจะถูกปกคลุมโดยเชื้อราดำ ทำให้พืชสังเคราะห์แสงลดลง ใบที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงในระยะเพสลาดจะบิดงอโค้งลงด้านใต้ใบ ตามขอบใบจะมีอาการปลายใบแห้ง แมลงชนิดนี้พบระบาดทั่วไปทุกแห่งที่ปลูกมะม่วง พบได้ตลอดทั้งปีแต่พบมากและทำความเสียหายในช่วงมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกจนถึงระยะดอกตูม และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นปริมาณสูงสุดเมื่อดอกใกล้บาน คือ ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม และจะลดลงเมื่อมะม่วงเริ่มติดผล ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากเริ่มพบการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นให้แจ้งการระบาดและขอคำปรึกษาในการป้องกันกำจัด ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อเตรียมการหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตต่อไป

               ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

๑. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในช่วงมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกจนกระทั่งติดผล

๒. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ผีเสื้อตัวเบียน แมลงวันตาโต แตนเบียน มวนตาโต เชื้อรา  บิวเวอร์เรีย

๓. ระยะที่ดอกมะม่วงกำลังบาน การพ่นน้ำเปล่าในตอนเช้าจะช่วยให้การติดมะม่วงดีขึ้น    แต่ควรปรับหัวฉีดอย่าให้กระแทกดอกมะม่วงแรงเกินไป

๔. ระยะมะม่วงใกล้จะออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ให้พ่นด้วยสมุนไพรน้ำส้มควันไม้ อัตราน้ำส้มควันไม้ ๑ ส่วน ต่อน้ำ ๑๐๐ – ๑๕๐ ส่วน หรือจะใช้สารเคมีกำจัดแมลงคาร์บาริล (เซฟวิน ๘๕) อัตรา ๖๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร

๕. ระยะมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกให้พ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ อัตราน้ำส้มควันไม้ ๑ ส่วน ต่อน้ำ ๑๕๐ – ๒๐๐ ส่วน หรือจะใช้สารเคมีกำจัดแมลงคาร์บาริล (เซฟวิน ๘๕) อัตรา ๖๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร

๖. ในสวนมะม่วงที่มีการระบาดรุนแรงควรเปลี่ยนไปพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง หรือสาร  ไพรีทรอยด์สังเคราะห์

๗. การตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิต จะช่วยลดที่หลบซ่อนของเพลี้ยจักจั่นลงได้ และทำให้การพ่นสารเคมีกำจัดแมลงมีประสิทธิภาพดีขึ้น