ชาวนาปลื้ม “โครงการหงษ์ทองนาหยอด” ลดต้นทุน มีผลกำไรเพิ่ม ไร่ละ 3-4 พันบาท

“ข้าวหอมมะลิ 105” นับเป็นข้าวหอมคุณภาพดีที่สุดในโลก เพราะมีรสชาติดี ข้าวสุกมีความนุ่มเหนียวและมีกลิ่นหอม (aroma) จึงเป็นที่นิยมบริโภคไปทั่วโลก แต่ระยะหลัง ข้าวหอมมะลิ ที่ลูกค้าซื้อไปรับประทาน ปรากฏว่าไม่หอมเหมือนกับที่เคยรับประทาน จึงถูกเข้าใจผิด คิดว่าเป็นข้าวปลอม ปัญหาข้าวหอมมะลิที่มีเปอร์เซ็นต์ความหอมน้อยลง ทำให้ไทยเสียแชมป์ข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลก ให้กับ “มาลีอังกอร์ ข้าวหอมพันธุ์ดีของกัมพูชา ในการประกวดข้าวโลก ทำให้ข้าวกัมพูชาครองตำแหน่ง ข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลกเป็นครั้งที่ 4 ในช่วง 6 ปีมานี้

กลิ่นหอมของข้าวหอม อยู่ในรูปของสารน้ำมันที่ระเหยได้ (Essential oil) ข้าวหอมมะลิจะให้กลิ่นหอมตั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้า ระยะแตกกอ ระยะออกดอก และเป็นเมล็ดทั้งข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวสาร รวมถึงขณะที่กำลังหุงต้ม หรือข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ แค่เดินผ่านแปลงปลูกข้าวหอมมะลิ จะได้กลิ่นหอมของข้าวจากใบและดอกข้าว ทั้งนี้ คาดว่าสารกำเนิดกลิ่นหอมมีการสะสมอยู่ในใบแล้วเคลื่อนย้ายไปสู่เมล็ดข้าว ซึ่งจะได้กลิ่นหอมเมื่อเคี้ยวเมล็ดข้าว

“สภาพแวดล้อม” คือปัจจัยแรกที่มีผลต่อความหอมของข้าวหอมมะลิ ชนิดและความอุดมสมบรูณ์ของดิน อาจทำให้ลักษณะเมล็ดและความหอมแตกต่างกัน ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในดินร่วนปนทราย จะมีข้าวกล้องและข้าวสารที่ใสเป็นเงา เมื่อนำไปหุงสุกจะมีรสชาติดี และมีกลิ่นหอมกว่าข้าวที่ปลูกในดินเหนียว การใช้ปุ๋ยเคมีมากอาจทำให้เมล็ดอ้วนขึ้น ข้าวกล้องขุ่นมัว ความเลื่อมมันและความหอมอาจน้อยลง ขณะเดียวกันขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การตาก และการเก็บรักษาก็มีส่วนทำให้ความหอมเปลี่ยนไป เนื่องจากกลิ่นหอมเป็นสารที่ระเหยได้ง่าย หากต้องการเก็บรักษาความหอมไว้ได้นานในรูปข้าวสาร ต้องเก็บไว้ในที่ไม่ร้อนอบอ้าว และอากาศถ่ายเทได้สะดวก

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการหงษ์ทองนาหยอด

นอกจากข้าวมีกลิ่นหอมน้อยลงแล้ว การผลิตข้าวหอมมะลิในปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแต่ได้ผลผลิตต่ำ ทำให้ไทยเสียเปรียบการแข่งขันราคาในเวทีตลาดโลก เพื่อรักษาคุณภาพข้าวไทยให้มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ ให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าเมื่อรับประทานข้าวหอมมะลิของไทย บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “ข้าวหงษ์ทอง” จึงหันมาส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วม “โครงการหงษ์ทองนาหยอด” เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตข้าวคุณภาพดี ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ สามารถยกระดับผลผลิตและสร้างรายได้ให้ชาวนาได้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้รัฐบาลนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ขยายผลในแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

โครงการหงษ์ทองนาหยอด    

เนื่องจาก “ชาวนาไทย” เป็นทั้งเพื่อนและครอบครัวคนสำคัญของ บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “ข้าวหงษ์ทอง” เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีอาชีพและรายได้ที่เติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ ปี 2558 เป็นต้นมา บริษัทจึงได้ดำเนินโครงการหงษ์ทองนาหยอด ในแหล่งปลูกข้าวตำบลโพนข่า จังหวัดศรีสะเกษ ผลวิจัยพบว่า โครงการนี้สามารถยกระดับผลผลิตและสร้างรายได้ให้กับชาวนาได้มากกว่าเดิม เฉลี่ยไร่ละ 3-4 พันบาท

“การดูแลชาวนาไทยไม่ได้เป็นการหยิบยื่นความหวังไปให้ แต่เป็นการสร้างความแข็งแรง ยั่งยืน ให้กับชาวนาไทย ให้เกิดจากภายในผืนนาของตนเอง ฟื้นฟูตัวเองเป็นกระดูกสันหลังที่แข็งแรง ช่วยให้ชาวนาไทยทุกคนได้ปลูกข้าวด้วยความภูมิใจอีกครั้ง” ดร. วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด กล่าว

ดร. วัลลภ มานะธัญญา

ที่ผ่านมา บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวแบบนาหยอด ใน 2 แนวทาง คือ

  1. การเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าว
  2. ผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิคุณภาพดี

สำหรับฤดูการผลิต 2561/62 การเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ตราหงษ์ทอง มีชาวนาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และอำนาจเจริญ สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,000 ไร่ เพื่อเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 และ พันธุ์ กข 15 ได้ผลผลิต จำนวน 600,000 กิโลกรัม ทางบริษัทรับซื้อเมล็ดพันธุ์มะลิ 105 และ กข 15 จากเกษตรกรมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรทั่วไป นำไปทำเมล็ดพันธุ์ จำนวน 300,000 กิโลกรัม และป้อนเมล็ดพันธุ์เข้าสู่โครงการหงษ์ทองนาหยอด จำนวน 300,000 กิโลกรัม เนื้อที่ปลูก 40,000 ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี

เกษตรกรที่เป็นสมาชิกโครงการหงษ์ทองนาหยอด ทางบริษัทจะให้สินเชื่อไม่คิดดอกเบี้ย เช่น ค่าไถนา ค่าหยอด ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าเกี่ยวข้าว โดยจะหักเงินคืน หลังจากที่ชาวนานำข้าวเปลือกมาขายกับโรงสีของบริษัท ระหว่างปลูก ทางบริษัทจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำวิธีการปลูกดูแลแปลงนาที่ดี ตรวจสอบดิน เก็บข้อมูลการปลูกข้าวทุกระยะ และรับซื้อผลผลิตทั้งหมด โดยเพิ่มราคารับซื้อสูงกว่าราคาตลาดอีก 0.50 บาท ต่อกิโลกรัม

“ระยะแรก มีชาวนาเข้าร่วมโครงการหงษ์ทองนาหยอดเพียง 53 ราย พื้นที่ 573 ไร่ เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,086 ราย บนพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวคุณภาพทั่วทั้งจังหวัดศรีษะเกษ อำนาจเจริญ และได้ไล่เรียงต่อยอดไปสู่จังหวัดอุบลราชธานีอีกด้วย” ดร. วัลลภ กล่าว

ข้อดีของการทำนาหยอด       

โครงการหงษ์ทองนาหยอด เป็นการปฏิวัติการทำนาหว่านแบบเดิมๆ สู่วิธีการปลูกด้วยวิธีนาหยอดแบบแห้ง สร้างผลผลิต และรายได้ที่มากขึ้น การปลูกข้าวแบบเดิม ที่เรียกว่า “นาหว่าน” ชาวนามักใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ครั้งละ 25-35 กิโลกรัม แต่การทำนาหยอด กลับใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ลดลง เหลือแค่ 8-10 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น

คุณณรงค์ พันยา หนึ่งในเกษตรกรชาวนาที่เข้าร่วมโครงการหงษ์ทองนาหยอด อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 115 หมู่ที่ 1 บ้านโพนข่า ตำบลโพนข่า อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โทร. 080-627-1161 คุณณรงค์ มีพื้นที่นา 14 ไร่ เข้าร่วมโครงการนาหยอด ตั้งแต่ปี 2559 เขาทำนาหยอดมาได้ 2 ปีแล้ว ในฤดูการผลิต ปี 2559/60 ได้ผลผลิต 4,500 กิโลกรัม

คุณณรงค์ พันยา ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการหงษ์ทองนาหยอด

คุณณรงค์ บอกว่า ข้อดีของการทำนาหยอด คือช่วยให้ต้นข้าวแตกกอได้ดีไม่เบียดแน่น ปริมาณข้าวออกรวงสูง เมล็ดเรียงสวยงาม มองเห็นต้นข้าวเรียงกันเป็นแถว ดูแลจัดการเรื่องแมลงและวัชพืชได้ง่ายขึ้น มีการวิเคราะห์ดินและสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งยาฆ่าแมลงและปุ๋ย

นอกจากนี้ การทำนาหยอด ยังช่วยลดต้นทุนได้อย่างชัดเจน จากเดิมที่ต้องลงทุน ราวๆ 3,060 บาท ต่อไร่ ลดลงเหลือ 2,575 บาท ประหยัดต้นทุนการผลิตได้ ลดลงประมาณ 16% หากปลูกแบบเดิมจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 451 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่หลังเปลี่ยนมาทำนาหยอด ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 559 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือคิดเป็น 24%

ปลูกพืชหลังนา เพิ่มรายได้

แม้กรรมวิธีการทำนาหยอดจะได้ผลและตอบโจทย์แก่เกษตรกรอย่างชัดเจน แต่ด้วยข้อจำกัดของข้าวหอมมะลิที่ปลูกได้เพียง 1 ครั้ง ต่อปี ทำให้ผืนนาต้องไร้ซึ่งผลผลิตไปกว่าครึ่งปี ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเหล่าเกษตรกรโดยตรง บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด จึงประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น อบต. โพนข่า และกรมชลประทาน ปรับปรุงระบบฝายน้ำล้นคลองอีสานเขียว และอ่างเก็บน้ำห้วยซัน อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้มีแหล่งน้ำชลประทานสำหรับใช้เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้น 1,500 ไร่

อ่างเก็บน้ำห้วยซัน อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
ปลูกข้าวโพดหลังนา เพิ่มรายได้

เมื่อว่างเว้นจากฤดูทำนา บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด จึงส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่เป็นที่ต้องการในท้องตลาด พร้อมจัดหาเมล็ดพันธุ์ สอนวิธีการ รวมไปถึงเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตให้กับเกษตรกร อาทิ ปลูกแตงโม ฟักทอง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ลำเลียงสู่ตลาดประชารัฐต่อไป

ข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู

“โครงการหงษ์ทองนาหยอด” ไม่ใช่แค่การเพิ่มผลผลิตที่เน้นปริมาณของข้าวเท่านั้น แต่ยังเน้นเรื่องคุณภาพของข้าว เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ 99% ที่เกษตรกรใช้ในโครงการ ถือเป็นคำตอบที่ บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด พยายามสร้างมาเกือบ 10 ปี ผลผลิตที่ได้จึงเป็นข้าวหอมมะลิคุณภาพดีมาก โดยเฉพาะข้าวล็อตแรกที่เรียกกันว่า “ข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู” เป็นข้าวที่มาจากโครงการหงษ์ทองนาหยอด ที่ปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ ในแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ เป็นข้าวที่มีความเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม และรสชาติอร่อยเป็นพิเศษ

ข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู

บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด นำข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดูมาสีและบรรจุให้เร็วที่สุด เพื่อผู้บริโภคได้รับประทานข้าวหอมมะลิใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งสินค้ารุ่นนี้มีจำนวนจำกัด จึงเรียกว่า ข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู รุ่น Limited Edition ที่มีจำนวนจำกัด เพียงแค่ 5-6 แสนถุง (ถุงละ 5 กิโลกรัม) มีวางจำหน่ายเฉพาะเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 เท่านั้น

“การสร้างข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศ นับเป็นรางวัลที่ดีที่สุด และบ่งบอกความสำคัญของโครงการนาหยอดได้เป็นอย่างดี” ดร. วัลลภ มานะธัญญา กล่าวทิ้งท้าย