เกษตรกรเมืองย่าโมเลี้ยง “จิ้งหรีด-สะดิ้ง” รายได้ดีเกินคาด

แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับการเชื้อเชิญให้ลองชิมเมนูจิ้งหรีดทอดหลายต่อหลายครั้งในหลายโอกาส แต่ก็ไม่กล้าลองสักครั้ง เพราะเห็นตัวแล้วรับประทานไม่ลง เป็นคนประเภทไม่ชอบหม่ำบรรดาสัตว์สี่ขาแบบนี้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารสชาติมันคงเอร็ดอร่อยจริงๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่เป็นอาหารจานโปรดของผู้คนจำนวนไม่น้อย

วันก่อนมีอันต้องไปทำธุระแถวบ้านปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เห็นแม่ค้าขายจิ้งหรีดทอดใส่ถุง ขายถุงละ 20 บาท

สอบถามคุณวิเชษฐ น้อยกลาง คนขายวัยกว่า 50 ปี ได้ความว่า เป็นคนเลี้ยงจิ้งหรีดเอง และนำมาทอดขายในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวที่บ้านปราสาท ซึ่งแม้จะเป็นมือใหม่เพิ่งเลี้ยงเจ้าจิ้งหรีดและสะดิ้งไม่กี่เดือน แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็ทำเอาคุณวิเชษฐปลื้มใจและมีกำลังใจที่จะเลี้ยงต่อไป

คุณวิเชษฐ พาไปดูโรงเรือนเลี้ยงที่ทำง่ายๆ หลังไม่ใหญ่นัก ใช้อิฐบล็อก 200 ก้อน ปูน 10 ถุง  มีหลังคาและก่ออิฐบล็อกกั้นเป็นที่อยู่ และใช้ถาดบรรจุไข่เป็นที่ให้พวกมันอาศัยหลับนอน จิ้งหรีดจะตัวใหญ่มีสีดำ ส่วนสะดิ้งมีสีขาวขุ่นๆ ตัวเล็กกว่าเยอะ

คุณวิเชษฐเล่าว่า เริ่มเลี้ยงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งเลี้ยงได้มานาน เมื่อก่อนทำนาเป็นหลักอย่างเดียว แต่เมื่ออายุมากมีปัญหา แข้งขาไม่ดี  ญาติที่เลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ก่อนแถวอำเภอปักธงชัย เลยชวนเลี้ยงให้มาเลี้ยงจิ้งหรีด

“ครั้งแรกซื้อไข่มา ขันละ 100 บาท พอเราเลี้ยงได้ 45 วัน จะโตเป็นจิ้งหรีดและวางไข่ แต่ก่อนจะขายนั้นต้องเลี้ยงด้วยฟักทอง เวลาทอดจะได้หอมๆ มันๆ  ส่วนอาหารอื่นๆ ที่ให้ก็มีใบมัน ใบตำลึง และสาหร่ายบ้าง ถ้าเป็นเจ้าอื่นใครมีเวลาเขาก็ไปหาผักกาดเขียวบ้าง”

ในวันที่สนทนากันนั้น เธอเลี้ยงมา 4 รุ่นแล้ว โดยครั้งแรกลงทุนซื้อไข่มาทั้งหมด 5,000 บาท ขายตัวได้ 5,000 บาท  จากนั้นก็ได้ไข่มาเลี้ยงต่อ ซึ่งการเลี้ยงไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก แค่เฉพาะค่าอาหารที่จะต้องซื้ออาหารไก่ให้กินบ้างในช่วงที่จิ้งหรีดและสะดิ้งจะวางไข่ เพื่อให้ได้จำนวนไข่ที่มากและสมบูรณ์  ส่วนตัวโรงเรือนนั้นคุณวิเชษฐลงทุนไป 6,000 บาท เป็นคอกที่มีหลังคา สาเหตุที่ต้องทำโรงเรือนนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มดหรือจิ้งจกเข้ามากินตัวจิ้งหรีด

สะดิ้งลอกคราบ 3 ครั้ง

ในการเลี้ยงทั้งจิ้งหรีดและสะดิ้งนั้น เธอว่าสะดิ้งเลี้ยงยากกว่า โดยช่วงเวลาใกล้ๆ จะวางไข่มันจะลอกคราบและกินกันเอง ดังนั้นต้องนำใบตองแห้งมาปิดไว้  เพื่อเป็นที่ซ่อนตัว ซึ่งในรอบชีวิตของสะดิ้งจะลอกคราบประมาณ 3 ครั้ง เริ่มครั้งแรกตอนอายุ 10 วัน ต่อมาประมาณ 20 -30  วัน จะเริ่มลอกอีกครั้งหนึ่ง และช่วง 45 วันก็จะเริ่มลอกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจะวางไข่ แม้การเลี้ยงสะดิ้งจะยากกว่า แต่พูดถึงราคาแล้ว จิ้งหรีดได้ราคาดีกว่า

“จิ้งหรีดจะขายได้ราคาดีกว่า เขารับซื้อกิโลละ 80 บาท ถ้าขายที่หมู่บ้านเราขายปลีกกิโลละ 100  ส่วนสะดิ้งเขารับซื้อกิโลละ 70 ขายปลีกกิโลละ 100  คน ที่ผ่านมาในหมู่บ้านชอบซื้อกิน  ขายดีมาก ส่วนใหญ่เราขายกันเองในหมู่บ้าน  บางครั้งเราจับได้ประมาณ 20 -40 กิโล”

เลี้ยง 6 เดือนได้ทุนได้กำไรแล้ว

การเลี้ยงจิ้งหรีดและสะดิ้งครั้งนี้ คุณวิเชษฐลงทุนไป 10,000 บาท เพียงแค่ 6 เดือน เธอก็ได้ทุนคืนแล้ว พร้อมกับกำไรรวมแล้วประมาณ 30,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากขายตัวบ้าง ขายไข่บ้าง

ด้วยรายได้เช่นนี้ เธอจึงวางแผนที่จะทำเป็นอาชีพหลัก และยังทำให้เพื่อนบ้านหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดตามเธออีกหลายราย ขณะที่แต่ก่อนบางคนวิจารณ์ว่าเธอบ้าที่เลี้ยงจิ้งหรีด

อย่างไรก็ตามเธอไม่คิดว่าเพื่อนบ้านที่เลี้ยงตามนั้นจะเป็นคู่แข่ง ถือเป็นคู่ค้าเสียด้วยซ้ำ เพราะแต่ละรายก็ต้องมาซื้อไข่จากเธอทั้งนั้น

การเลี้ยงจิ้งหรีดแม้จะมีรายได้งาม เธอเองก็อยากจะขยายโรงเรือนเพิ่ม แต่ด้วยความที่ต้องเลี้ยงอยู่คนเดียวไม่มีคนในครอบครัวมาช่วย การไปหาอาหารมาเลี้ยง เช่นสาหร่าย เป็นเรื่องยาก เธอจึงคิดเลี้ยงแค่ในโรงเรือนโรงเดียวเท่านั้น

เลี้ยงง่ายไร้ปัญหา

เห็นโรงเรือนและวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมทั้งผลตอบแทนที่ได้แล้ว คงมีหลายคนอยากจะเลี้ยงเป็นอาชีพบ้าง เพราะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายๆจริง

“ตั้งแต่ทำมาไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ใครๆ ก็ทำได้ ถ้าเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ได้ก็ไม่ต้องไปทำอะไรแล้ว  ทำเป็นอาชีพหลักได้เลย คิดคร่าวๆ น่าจะได้เดือนละ 3,000 บาท แต่ถ้าโรงเรือนใหญ่หน่อยจะได้ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องเหนื่อยมาก  เพราะมันไม่บินหนี อยากชวนคนอื่นมาทำด้วย เพราะจิ้งหรีดเลี้ยงง่ายโดยเฉพาะตัวดำโตเร็ว ไม่ถึง 45 วันก็ได้ขายแล้ว ถึงเวลาจับขาย ก็เคาะให้มันออกมาจากถาดไข่แล้วล้างน้ำให้สะอาด  ถ้าลูกค้าอยู่ไกลแล้วมาขอซื้อเราจะนึ่งให้เขาก่อนจะได้เอาไปง่ายๆ”

ในการขายจิ้งหรีดและสะดิ้งนั้น เธอขายทั้งตัวเป็นๆ และทอดขาย หากสนใจติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 087-8742268

“ฉันทอดขายเองด้วย  ทอดขายกำไรเยอะกว่าแต่คนซื้อบอกว่าได้น้อย ฉันก็บอกให้เขาซื้อสดไปจะได้ทอด กินได้เยอะๆ อย่างทอดขายถุงละ 20 บาท หนักประมาณขีดกว่าๆ ถ้าทอด 3 กิโล จะขายได้ 400 -450 บาท”

เน้นฟักทอง-ผักปลอดสารเคมี

เกษตรกรของบ้านปราสาทอีกรายที่หันมาเลี้ยงจิ้งหรีดด้วย คือ คุณบัณฑิต  ขออ่อนกลาง วัย 43 ปี ซึ่งเพิ่งเลี้ยงมาได้ 4 เดือน แต่ก็ลงมือขยายโรงเรือนเพิ่มอีก 1 โรง จากที่มีอยู่เดิม 1 โรง ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรรายนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าอาชีพเสริมดังกล่าวจะทำเงินได้ก้อนโต

“ผมเผาถ่านขาย ไม้ที่เอามาเผาก็เป็นไม้ยูคาลิปตัสบ้าง เศษไม้บ้าง แล้วผมทำน้ำส้มควันไม้ โดยทำเป็นอาชีพเสริมทำคู่กับทำนาเป็นอาชีพเสริม การเลี้ยงจิ้งหรีดก็อยากได้เป็นอาชีพเสริมอีกอาชีพทางหนึ่ง รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 2 ก่อนหน้านี้ผมเคยไปดูงานที่บ้านตะแบก อ.โนนสูง เห็นว่าบ้านเราก็พอทำได้เลยมาลองทำ ลงทุนครั้งแรกทำโรงเรือนโดยต่อออกไปจากยุ้งข้าว ประมาณ 7,000 บาท เทพื้นคอนกรีตแล้วซื้อหลังคาใหม่ เอาตาข่ายสีเขียวมาคลุมเพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งจกลงมากิน แล้วกั้นเป็นรางน้ำเพื่อกันมดไม่ให้เข้าไปกินไข่มัน”

ครั้งแรกคุณบัณฑิตลงทุนซื้อไข่สะดิ้งขันละ 80 บาท เมื่อเลี้ยงแล้วจะได้1 กิโลกรัม การให้อาหารแต่ละช่วงเวลานั้นก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้จิ้งหรีดและสะดิ้งโตไว

เทคนิคการให้อาหาร

“อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นหัวอาหารสำหรับไก่แรกเกิด ซื้อมาแล้วก็เอามาบดละเอียดผสมรำอ่อน ที่โรงสีแถวบ้านกิโลละ 5 บาท แล้วนำมาผสมกับหัวอาหารไก่เล็ก อย่าให้เยอะเพราะถ้าเหลือจะเสีย  แต่ถ้าอยากให้โตเร็ว ๆ ก็เลี้ยงเฉพาะหัวอาหารแล้วก็ให้น้ำ  ครั้งแรกเวลาที่เราให้น้ำ จะใช้แฟงที่เป็นลูกๆ มาหั่นบางๆ  แล้ววางไว้ เนื่องจากจิ้งหรีดตัวเล็กมากมันจะได้ดูดกินน้ำ ถ้าให้น้ำทั่วไปเนื่องจากจิ้งหรีดตัวเล็กมากมันจะตาย เลี้ยงประมาณ 20 วันก็เปลี่ยนอาหารเป็นประเภทผัก เช่น ใบมันสำปะหลัง  ใบบวบ สาหร่ายทุ่ง ใช้ได้หมด ส่วนฟักทองจะให้ตอนหลังจากวางไข่ เสร็จจะทำให้ตัวเต่งขึ้น สำหรับสาหร่ายจะให้ตอนไหนก็ได้ อย่างเวลาไปทุ่งนาก็เก็บใส่ถุงมาแล้วโรยให้กิน”

เขาแจกแจงว่า เทคนิคการเลี้ยงของเกษตรกรแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน โดยแรกเริ่มนั้นเขาก็เลี้ยงตามที่คนอื่นบอกมา จากนั้นก็สังเกตุ

“พอเราเลี้ยงเวลาให้อาหารก็สังเกตว่ามันโตอย่างไร แรกๆ ต้องกระตุ้นอาหารก่อน จากเริ่มเกิดเราก็โรยรำข้าวไว้มันจะมากินเองจนอายุได้ 20 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มโตเท่าๆ กันก็ให้อาหารอย่าให้ขาด เพราะมันมีจำนวนเยอะมาก ตัวอิ่มจะลงไป ตัวไหนยังไม่ได้กินก็จะขึ้นมา อาหารเป็นรำอ่อนผสมหัวอาหารอย่างละเท่าๆ กัน บางคนประหยัดก็เอาหัวอาหาร 1 ส่วน รำ 3 ส่วน ผสมกัน ตอนนี้ผมจะค่อยๆ ลดอาหาร เมื่ออายุ 30 วันจะไม่โตแล้วหลังจากอายุ 20 วันก็ให้เป็นผัก”

จากไข่จนเป็นจิ้งหรีดและสะดิ้งใช้เวลาประมาณ 45 – 50  วันก็จับขายได้ หลังจากนั้นสามารถนำไข่มาวางต่อ ซึ่งถ้านำไข่มาวางไว้ประมาณ 10 วัน จะเริ่มออกเป็นตัว พอเอาไข่เสร็จก็ให้ฟักทองเป็นอาหาร แต่ถ้าให้กินผักที่ตลาดซึ่งมีสารเคมีจิ้งหรีดและสะดิ้งจะตาย

สาเหตุที่คนชอบรับประทานจิ้งหรีด  คุณบัณฑิตให้เหตุผลว่า เพราะมีโปรตีนสูง  ดีกว่าเนื้อครับเพราะว่าเนื้อราคาแพง กินสะดิ้งกินจิ้งหรีดดีกว่า ถ้าขายในกรุงเทพฯตกกิโลละ 200 – 250 บาท

โรงเรือนของคุณบัณฑิตนั้นเลี้ยงทั้งจิ้งหรีดและสะดิ้ง ซึ่งจิ้งหรีดตัวใหญ่จะได้น้ำหนักมากกว่า ขณะที่ราคาพอๆ กัน  อยู่ที่คนจะชอบกินแบบไหน  ซึ่งคนอีสานมักชอบกินจิ้งหรีดตัวโต ส่วนสะดิ้งจะส่งไปกรุงเทพฯ ซึ่งจะขายดีเพราะไม่มีขาใหญ่กินง่ายและรสชาติอร่อยกว่า

คุณบัณฑิต จะเลี้ยงเพื่อขายตัวอย่างเดียว ไม่ได้ทอดขาย  พอโตได้ที่จะมีพ่อค้ามารับซื้อแล้วแช่แข็งไปขายส่งที่ตลาดไท โดยรับซื้อกิโลละ 70 บาท แต่ถ้าขายปลีกกันในหมู่บ้านจะขายกิโลละ 100 บาท

เจ้าตัวแจกแจงว่า จิ้งหรีดและสะดิ้งที่เลี้ยงทอดแล้วจะรีบประทานอร่อยกว่า จิ้งหรีดหรือสะดิ้งตามธรรมชาติ เพราะเลี้ยงด้วยผักตามธรรมชาติ

ตั้งเป้าทำรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน

คุณบัณฑิตเล่าว่า รุ่นแรกซื้อมา 60 ขัน ราคา 4,800 บาท และมีแถมมาด้วยพอเลี้ยงโตได้น้ำหนัก 43 กิโล  ถ้าขายหมดจะได้ 4,300 บาท แต่ก็ไม่ขายหมดเพื่อจะได้ไข่ต่อ

สาเหตุที่คุณบัณฑิตจะเลี้ยงจิ้งหรีดเพิ่มเพราะวางแผนไว้ว่าเดือนหนึ่งจะต้องทำรายได้15,000 บาท และหากเลี้ยงเพิ่มขึ้น เขาก็วางแผนที่จะลองทำตลาดเอง สนใจติดต่อได้ที่โทร.089-4247363

เขาแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงจิ้งหรีดว่า การเลี้ยงจิ่งหรีดทำให้มีรายได้ดีพอสมควร บางคนไม่มีเงินเป็นหมื่นๆ  คนที่มีเงินน้อยก็ทำโรงเลี้ยงแบบง่ายๆ ทำเพิงเฉยๆ ก็ได้ ซึ่งตลาดมีแน่นอน เพราะจะมีพ่อค้ามารับไปขายที่กรุงเทพฯ กิโลละ 200 บาท

ในการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นแม้ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงง่ายและไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่เขาก็พบปัญหา

“ตอนที่เราจะเอาไข่ ถ้าใช้แกลบจากโรงสีใหญ่ๆ ที่มีส่วนผสมของสารเคมีจะทำให้ไข่ด้าน

ดังนั้นเราควรใช้แกลบที่เผาเอง ผมเผาเองเพื่อปลอดภัย ผมเอาแกลบผสมน้ำขยำๆ แล้วก็เอาไปเลี้ยง ตัวใหญ่ใช้เวลาประมาณ 35 – 40 วันก็จะวางไข่แล้ว แต่ถ้าตัวเล็กหรือสะดิ้งใช้เวลา 45 วันมันถึงจะร้องแล้ววางไข่ ประมาณวันที่ 45 –  50 วันมันก็จะเริ่มออกปีกแล้ว ตัวใหญ่ที่ 40 วันก็ร้องแล้ว”

ที่ผ่านมาเขาเลี้ยงจิ้งหรีดและสะดิ้งในโรงเรือนเดียวกัน แต่หากโรงเรือนอีกหลังสร้างเสร็จ คุณบัณฑิตวางแผนว่าจะเลี้ยงแยกกันเพื่อให้เป็นสัดส่วน และเขาเองชอบที่จะเลี้ยงจิ้งหรีดมากกว่าสะดิ้ง เพราะตัวใหญ่ให้น้ำหนักมากกว่า

เชื่อว่าด้วยจำนวนรายได้ก้อนโตในแต่ละเดือนคงจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรอีกหลายรายหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดและสะดิ้ง ที่สำคัญตลาดไปได้ดีและมีอนาคตสดใส เพราะสามารถขายได้ทั้งในพื้นที่และในกทม.