พาไปรู้จัก “ไม้มีค่า” 58 ชนิดที่ใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้

“คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม” เป็นผู้จุดประกายความคิดให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มทรัพย์สินอื่นมาเป็นหลักประกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงเปิดเวทีประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน SME Bank ปรากฏว่า ทุกหน่วยงานต่างสนับสนุนแนวคิดเรื่องการใช้ไม้มีค่าเป็นสินทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ เพราะนโยบายนี้สร้างผลดีต่อประเทศชาติ รวมทั้งภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยการออกเป็นกฎกระทรวง ตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เพื่อเปิดทางให้ใช้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่าสามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ได้รับความสะดวกและมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้นแล้ว

นโยบายดังกล่าว สร้างแรงจูงใจให้คนไทยหันมาปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วยังส่งผลดีทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว ประชาชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ จะมีไม้จากป่าปลูกจำนวนมากใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปในอนาคต

58 พันธุ์ไม้มีค่า

สำหรับไม้ยืนต้นที่กำหนดตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด ประกอบด้วย

ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด

ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร) แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ครั้ง ที่ 5/2561 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. … ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดทางให้ประชาชนสามารถนำไม้ยืนต้น เช่น ไผ่ มะม่วง ทุเรียน มะขาม ไม้ยาง มะขามป้อม ไม้สัก ไม้พะยูง ฯลฯ ที่ขึ้นทะเบียนปลูกกับหน่วยงานภาครัฐ นำมาใช้ค้ำประกันธุรกิจได้ในอนาคต

ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งส่งร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในเร็วๆ นี้ หากใครอยากนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ขอให้อดใจรออีกสักหน่อย

รู้จักลักษณะเด่นของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด 

ต้นกระซิก 

ชื่ออื่นๆ ซิก สรี้ ครี้ ประดู่ชิงชัน ดู่สะแตน เก็ดแดง อีเม็ง พยุงแกลบ กระซิบ หมากพลูตั๊กแตน

ต้นกระซิก

“กระซิก” เป็นต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสตูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คือ ตอนต้นเล็กๆ ถูกจัดเป็นไม้รอเลื้อย ลำต้นมีหนามเล็กๆ เปลือกสีเทา แต่พอโตขึ้นมีกิ่งก้านแข็งแรง สูงใหญ่ มีดอกเล็กๆ กลิ่นหอมออกปลายกิ่ง ง่ามใบใกล้ยอด ดอกออกประมาณเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม มีผลเป็นฝักแบนๆ มีเมล็ดขยายพันธุ์ได้ ชอบอยู่ป่าโปร่งริมห้วย ริมลำธาร ใกล้ทะเลทางภาคใต้

ต้นกระพี้เขาควาย

ชื่ออื่นกระพี้ (ภาคกลาง) กำพี้ (เพชรบูรณ์) จักจั่น เวียด (เงี้ยว เชียงใหม่) อีเม็งใบมน (อุดรธานี) เก็ดดำ อีเฒ่า เก็ดเขาควาย (ภาคเหนือ) แดงดง (เลย)

กระพี้เขาควาย ภาพจาก กรมป่าไม้

เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดปานกลางจนถึงใหญ่โดยทั่วไปความสูงอยู่ที่ 10-25 เมตร พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร แต่ในปัจจุบันไม้ชนิดนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นทั่วๆ ไป เพราะการกระจายพันธุ์ค่อนข้างน้อย โดยส่วนใหญ่จะพบที่ภาคเหนือและอีสานตอนบนหรือแถบตะวันตกติดพม่าเท่านั้น

ต้นกันเกรา 

ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา มะซูไม้ต้น ภาคกลางเรียก กันเกรา ภาคใต้เรียก ตำแสง หรือตำเสา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก มันปลา เนื่องจากลักษณะของดอกเหมือนกับไขมันของปลา

กันเกราเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอกเป็นช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย มักพบต้นกันเกราเติบโตทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศไทยออกดอก เดือนเมษายน-มิถุนายน เป็นผล เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

ต้นกันเกรา

กันเกรา สวยงามและกลิ่นหอมไม่เหมือนใคร จัดอยู่ในกลุ่มไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก และพะยูง ที่คนนิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมเมื่อเวลาก่อสร้างบ้านเรือนให้เป็นสิริมงคล นอกจากนั้นคนอีสานยังนำมาบูชาพระโดยเฉพาะเมื่อเวลางานบุญบวชนาคช่วงเดือนพฤษภาคมหรือเดือน 6 ของทุกปี

การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ ลักษณะลำต้นที่สวยงามทั้งลวดลายของเปลือกและเนื้อไม้ เหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ มีน้ำมันหอมระเหยที่เปลือก

ไม้แดง

มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า แดง (ทั่วไป), จะลาน จาลาน ตะกร้อม สะกรอม (จันทบุรี), เพ้ย (ตาก), ปราน (สุรินทร์), ไปร (ศรีสะเกษ), กร้อม (นครราชสีมา), ผ้าน (เชียงใหม่), คว้าย (เชียงใหม่, กาญจนบุรี), ไคว เพร่ (แพร่, แม่ฮ่องสอน), เพ้ย (กะเหรี่ยง-ตาก) เป็นต้น

ไม้แดง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สีเขียวอมแดง เปลือกเรียบ สีเทาอมแดง ตกสะเก็ดออกเป็นแผ่นกลมบางๆ รอบลำต้นเมื่อสับเปลือกทิ้งไว้จะได้ชันสีแดง ยอดอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุม ใบเป็นช่อแบบขนนกสองชั้น ปลายใบแหลมมน ดอกสีเหลือง ขนาดเล็กขึ้นอัดกันแน่นบนช่อกลมเดี่ยวๆ หรือแตกกิ่งก้าน หรือขึ้นเป็นกลุ่มๆ ดอกจะออกราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม แล้วเป็นฝัก ฝักจะแก่ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนานเรียวและโค้งงอมีส่วนปลาย ฝักแข็งยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมเทา

ไม้แดง

ลักษณะเนื้อไม้สีแดงเรื่อๆ หรือสีน้ำตาลอมแดง เนื้อละเอียดพอประมาณ แข็ง เหนียว ทนทานมาก เลื่อย ไสกบ ตกแต่งได้เรียบร้อย ขัดชักเงาได้ดี ไม้แดง จัดเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ นิยมนำมาใช้งานกันอย่างกว้างขวาง ไม้แดงมีความทนทานสูงมาก นำไปใช้งานกลางแจ้งได้ดี แต่ส่วนใหญ่นิยมนำไม้แดงไปใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำเป็นพื้นบ้าน เครื่องมือทางเกษตร และทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังนิยมนำไม้แดงไปใช้ในการทำปาร์เก้ได้รับความนิยมรองจากไม้สักปาร์เก้ ใช้ทำเสา รอดตง ขื่อ ฝา ทำกระดานข้างเรือ เรือใบ เรือสำเภา คราด ครก สาก กระเดื่อง ส่วนต่างๆ ของเกวียน ทำสะพาน หมอนรางรถไฟ ด้ามเครื่องมือต่างๆ แกะสลักก็ได้ ประโยชน์ของไม้แดงทางสมุนไพร เช่น ใช้ผสมยาแก้ทางโลหิต และโรคกษัย แก้พิษ โลหิต และอาการปวดอักเสบของฝีต่างๆ เปลือกมีรสฝาดใช้สมานธาตุ ดอกผสมยาแก้ไข บำรุงหัวใจ เมล็ดรับประทานได้

ไม้ชิงชัน

ชื่ออื่นๆ ดูสะแตน เก็ดแดง อีเม็ง พะยูงแกลบ กะซิบ หมากพลูตั๊กแตน ประดู่ชิงชัน

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ประเภทไม้ผลัดใบที่อยู่ในวงศ์ Leguminosae ชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์เดียวกับไม้ประดู่ ต้นชิงชันขยายพันธุ์โดยเมล็ด แพร่กระจายพันธุ์ตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณทั่วไปยกเว้นเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้นที่ไม่สามารถแพร่กระจายพันธุ์ได้ ไม้ชิงชันเป็นไม้กลางแจ้ง สามารถขึ้นได้ดีในดินทุกประเภท ต้องการน้ำเพียงปานกลาง

ไม้ชิงชัน แข็งและเหนียว เนื้อไม้สวยงามมาก จึงนิยมใช้เป็นเครื่องเรือน เครื่องดนตรีต่างๆ และมีประโยชน์ด้านสมุนไพร

ต้นสาธร

ชื่ออื่นๆ กระเจาะ ขะเจาะ ขะเจ๊าะ (เหนือ) กระพี้เขาควาย (ประจวบฯ) กระเซาะ สาธร (กลาง) ขะแมบ (เชียงใหม่)

ต้นสาธร ภาพกรมป่าไม้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นสาธรประเภทพืชดอก เป็นไม้ต้นกึ่งผลัดใบขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแผ่กว้าง ดอกช่อแยกแขนง มีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว สีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกดอกเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ฝักแก่มีสีน้ำตาลแบนรูปหอกกลับหรือรูปขอบขนาน ขนาดของฝัก 2×4-10 เซนติเมตร เมล็ดสีน้ำตาลแดง กลมแบน ฝักแก่ประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เปลือกนอกสีเทาอ่อนหรือสีเทา ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นเกล็ดเล็ก เปลือกในสีเหลืองอ่อน พบในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ ในภาคกลาง เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นสาธรเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดนครราชสีมา การใช้ประโยชน์ นิยมใช้สร้างที่อยู่อาศัย ไม้ประดับ เครื่องจักสานและเครื่องใช้สอย

มะค่าโมง

ชื่ออื่น : มะค่าใหญ่ มะค่าหลวง มะค่าหัวคำ เขง เบง บิง ปิ้น ฟันฤๅษี แต้โหล่น

ถิ่นกำเนิด : พบตามป่าดิบแล้ง แนวเชื่อมต่อระหว่างป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณชื้น

ต้นมะค่าโมง ภาพกรมป่าไม้

มะค่าโมง เป็นไม้ยืนต้นขนาดค่อนข้างใหญ่ เส้นรอบวงลำต้นที่เคยพบ ประมาณ 13 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ ขณะผลิใบใหม่ๆ ให้สีสันสวยงาม แพรวพราวไปด้วยสีสนิมเหล็ก เมื่อกระทบกับแสงแดดยามเช้าหรือเย็น ช่างสวยจับใจ เมื่อปลูกในที่สาธารณะจะแผ่กิ่งก้านใหญ่โต กว้างขวาง แข็งแรง และสวยงามมาก ไม่หักหรือฉีกง่าย มะค่าโมง เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดสุโขทัย

การใช้ประโยชน์ : เมล็ดอ่อน รับประทานสด หรือต้มให้สุก เมล็ดแก่ นำมาคั่ว และกะเทาะเปลือกออกแช่น้ำให้นิ่ม มีรสมัน เปลือก ให้น้ำฝาด ใช้ฟอกหนัง เนื้อไม้ และส่วนอื่นๆ ให้สีย้อมสีเหลืองและสีน้ำตาล ชาวอีสานนิยมใช้ย้อมผ้าไหมและผ้าฝ้าย เปลือกมีน้ำฝาดใช้ฟอกหนังได้ เนื้อไม้แข็ง เหนียว ทนทาน สีออกเหลืองส้ม เหมาะกับการทำเป็นไม้แปรรูปต่างๆ ได้ดี เช่น ปาร์เกต์มะค่า เครื่องเรือน และไม้บุผนังที่สวยงาม ทำเครื่องมือเกษตรกรรม เครื่องดนตรี ฯลฯ

มะค่าแต้

ชื่ออื่น : มะค่าหยุม มะค่าหนาม แต้ มะค่าลิง กอกก้อ กอเก๊าะ ก้าเกาะ กรอก๊อส และ แต้หนาม

ต้นมะค่า มี 2 ชนิด คือ มะค่าโมง พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดสุโขทัย และมะค่าแต้ เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดสุรินทร์

มะค่าแต้ ภาพจากกรมป่าไม้

ส่วนมะค่าแต้ พบครั้งแรกที่จังหวัดราชบุรี โดย J.E. Teijsmann ชื่อสปีชีส์ คือ siamensis นั้น ตั้งเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย สีของใบจะแตกต่างกับมะค่าโมง ฝักมะค่าแต้ ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร จะมีหนามแหลมทั่วผิวฝัก ฝักขนาดเล็ก แบน ต้นเติบโตช้ากว่า ทำให้ต้นแคระกว่ามะค่าโมง และที่สำคัญคือไม่มี “ปม” ที่ถือว่าเป็นส่วนที่สวยที่สุดของไม้มะค่า ส่วนเนื้อไม้จะหยาบกว่า เสี้ยนตรง เนื้อแข็ง ละเอียด น้ำหนักมาก (จมน้ำ) สีออกน้ำตาลอ่อนสลับเข้ม สวย และนำมาใช้งานหลากหลาย แต่สู้มะค่าโมงไม่ได้ แผ่นใหญ่บิด แตกง่าย ไม่ค่อยมีลาย แต่มีความแข็งและทนทานมาก น่าจะใกล้เคียงกับไม้แดง นิยมทำเสา และโครงสร้างรับน้ำหนัก

มะค่าแต้  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เรือนยอดเป็นรูปร่ม หรือเป็นทรงเจดีย์ต่ำ กิ่งและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาล เปลือกต้นเรียบมีสีเทาคล้ำ ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม  ผล เป็นฝักเดี่ยว  ขยายพันธุ์ ด้วยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง พบการเติบโตในป่าเต็งรัง ป่าชายหาดทั่วๆ ไป และป่าเบญจพรรณแล้ง

สรรพคุณทางสมุนไพร :  เปลือก ใช้ต้มแก้ซาง แก้ลิ้นเป็นฝ้า ปุ่มที่เปลือก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พยาธิ เมล็ด เป็นยาขับพยาธิ และทำให้ริดสีดวงแห้ง

ประโยชน์อื่นๆ : เนื้อไม้ สีน้ำตาลอ่อนหรือเป็นสีน้ำตาลแก่ เมื่อทิ้งไว้นานๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น มีเส้นสีเข้มกว่า สลับกับเนื้อไม้ที่ค่อนข้างหยาบ แข็งแรง ทนทาน ทนปลวกได้ดี เลื่อย ผ่า ไสกบตกแต่งได้ยาก ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี

ฝักและเปลือก ให้น้ำฝาด ใช้สำหรับฟอกหนัง บางท้องที่นิยมใช้เปลือกต้นซึ่งให้สีแดง ใช้ย้อมเส้นไหม  ลำต้นและกิ่ง ใช้ทำเป็นถ่านได้ดี ให้ความร้อนสูงมาก

เมล็ดแก่ นำเนื้อข้างในมารับประทานเป็นอาหารว่างได้ โดยเนื้อจะมีลักษณะแข็ง คล้ายกับเมล็ดมะขาม และมีรสมัน

ไม้วงศ์ยาง  ( ไม่รวมยางพารา )

ไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) เป็นพืชวงศ์ใหญ่ของโลก เป็นพรรณไม้เอกลักษณ์ของภูมิภาคเอเชีย พบจำนวนมากที่สุดประมาณ 500 ชนิด จาก 700 ชนิด ทั่วโลก พรรณไม้ในวงศ์ยาง มีลักษณะลำต้นที่สูงเด่นตระหง่านกว่าไม้อื่น ๆ ในป่า จึงได้ชื่อว่า ราชาแห่งไพรพฤกษ์

หนังสือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพืชป่า  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ประเทศไทยมีไม้วงศ์ยาง 8 สกุล ประมาณ 60 ชนิด พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ทั้งป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ ได้แก่

1.สกุลไม้กระบาก (Anisoptera) เช่น กระบาก, กระบากแดง,กระบากทอง, ช้าม่วง

2.สกุลไม้ยาง (Dipterocarpus)  เช่น  ยางนา, ยางบูเก๊ะ, ยางขน, ยางวาด ,ยางเสียน, ยางยูงยางใต้ ,ยางกราด, ยางมันหมู ,ยางเหียง ,ยางแดง, ยางพลวง, ยางแข็ง ,ยางคาย

ต้นยางนา ภาพกรมป่าไม้

3.สกุลไม้เคี่ยม (Cotelelobium)  มีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ  เคี่ยม

4.สกุลไม้พันจำ (Vatica)  เช่น  จันทน์กะพ้อ,สักปีก, พันจำเขา, สะเดาปัก ,พันจำดง ,จันทร์กระพ้อแดง, สักผา, พันจำ ,สักน้ำ, ทะลอก, สักรือเสาะ

5.สกุลไม้ไข่เขียว (Parashorea) เช่น  เกล็ดเข้ , ไข่เขียว

6.สกุลไม้ตะเคียนชันตาแมว (Neobalanocarpus) คือ  ตะเคียนชันตาแมว

7.สกุลไม้ตะเคียน (Hopea) เช่น ตะเคียนทอง , ตะเคียนหิน, ตะเคียนชันตาหนู ,ตะเคียนสามเส้น ,ตะเคียนรากเขา, กระบกรัง, เคียนราก, ตะเคียนเขา , เคียนรากดำ ,ตะเคียนราก, กรายดำ ,ชันภู่ ,ตะเคียนแก้ว, ตะเคียนทราย, ตะเคียนขาว, ตะเคียนใบใหญ่

8.สกุลเต็ง รังและสยา (Shorea)  เช่น  เต็ง , พะยอม ฯลฯ

กัลปพฤกษ์

สุพรรณิการ์
ราชพฤกษ์
มะหาด
เทพทาโร
ตีนเป็ด
ต้นอินทนิลน้ำ
ต้นหว้า
ต้นเสลา
ต้นสัก
ต้นมะม่วง
มะขามป้อม
ต้นมะขาม
พะยูง
ต้นพญาเสือโคร่ง
ต้นไผ่
ต้นปีบ
ต้นทุเรียน
ต้นจามจุรี

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก กรมป่าไม้