ทำอย่างไรเวลาไม่อยู่บ้านหลายวัน

เพื่อนฝูงหลายคนถามมาว่าจะไม่อยู่บ้านไปต่างจังหวัดหลายวัน ควรทำอย่างไรกับปลาที่เลี้ยงไว้ดี ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำปีละหลายครั้ง เพราะบ้านเรามีวันหยุดยาวเยอะมาก ทั้งเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา โอยนับไม่ไหว… แต่ละครั้งที่หยุดยาวปลาที่เลี้ยงไว้ก็มักเกิดปัญหา กลับบ้านมาอีกทีปลาลอยตายอืดยกตู้ ไม่ก็เจ็บไข้ได้ป่วยต้องมารักษากันให้วุ่น หรือไม่ก็หิวโซไล่ตอดกันเองเนื่องจากไม่ได้กินอะไรเลยเป็นเวลาหลายๆ วัน

โดยปรกติวิสัยคนเลี้ยงปลาก็มักจะให้อาหารปลาวันละครั้งบ้างสองครั้งบ้าง มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำดูแลความสะอาดและตรวจสอบสุขภาพความแข็งแรงของปลากันเป็นประจำ พอไม่อยู่บ้านนาน ๆ ปลาถูกทิ้งไว้ไม่ได้รับการดูแลตามปรกติปัญหาก็เริ่มเกิด ยกเว้นมีการเตรียมพร้อมที่ดีและถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องที่ผมกำลังจะพูดถึงอยู่นี่แหละครับ

หากจำเป็นต้องทิ้งปลาไปเที่ยววันสองวันควรทำดังนี้

1. เปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำความสะอาดตู้และระบบกรอง ปฏิบัติตามปรกติอย่างที่ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่ให้ทำเพิ่มในวันก่อนจะไม่อยู่บ้านเพื่อความมั่นใจเรื่องความสะอาดของน้ำ

2.ตรวจสอบสุขภาพปลาทุกตัว หากมีตัวไหนอาการผิดปรกติให้รีบแยกออกมาเลี้ยงต่างหาก เพราะหากปล่อยปละละเลยปลาอ่อนแอมักจะโดนปลาร่วมตู้ไล่ทำร้ายด้วยความหิวจนกระทั่งตาย และเมื่อตายก็เปื่อยเน่าคาตู้ไม่มีใครเอาออกน้ำก็จะเริ่มเน่าเสียทำให้ปลาที่เหลือป่วยหรือตายตามกันไปด้วย

3.ตรวจสอบอุปกรณ์ในตู้ อุปกรณ์ไฟฟ้าเช่นปั๊มลม ปั๊มน้ำ หลอดไฟ ปลั๊กไฟ หากดูไม่น่าไว้วางใจให้รีบเปลี่ยนทันที อย่ารอหรือคิดว่ากลับมาค่อยทำเพราะหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้แล้วไม่มีใครอยู่ดูแล กลับมาอีกทีอาจไม่เจอบ้าน เจอแต่ตอดำๆ ควันกรุ่นๆ

4.ให้อาหารในปริมาณเดิมๆ ไม่ต้องให้เผื่อ หลายคนชอบให้เสียจนปลาอิ่มแปล้แถมยังเหลือลอยเกลื่อน น้ำจะเสียเร็วมากจากอาหารที่ปลากินเหลือมากกว่าจากของเสียที่ปลาขับถ่ายหลายเท่า อาหารบางอย่างโดยเฉพาะอาหารสดๆ เป็นๆ อย่างปลาเหยื่อหรือกุ้งฝอยสำหรับพวกปลากินเนื้อยิ่งไม่ควรใส่เผื่อให้ปลาจับกินเองระหว่างวันที่ไม่อยู่บ้าน เพราะสิ่งมีชีวิตนั้นอย่างไรเสียก็ต้องกินต้องขับถ่าย ปลาเหยื่อไม่กี่สิบตัวสามารถขับถ่ายผลิตของเสียได้มากกว่าปลาที่เราเลี้ยงไว้เสียอีก แล้วไหนจะเรื่องเชื้อโรคหลายอย่างที่ติดมากับตัวเหยื่อเอง

เคยมีใครเอาตัวอย่างปลาเหยื่อมาพิจารณาดูบ้างไหมครับ ผมเคยทำหลายครั้งพบว่ามีโรคจุดขาว โรคเน่าเปื่อย ติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิภายนอก (ที่เห็นด้วยตาเปล่า) มากมาย นั่นก็เพราะสัตว์น้ำพวกนี้ถูกกักเก็บไว้รอขายในสภาพไม่เหมาะสม แออัดยัดเยียดและสกปรก ปลาที่เลี้ยงไว้มีโอกาสได้รับเชื้อเหล่านี้เต็มๆ แล้วยังเรื่องความหิวโหยของปลาเหยื่อกุ้งเหยื่ออีกล่ะ แม้ว่าจะเกิดมาเพื่อเป็นอาหารเขาแต่ตัวมันเองก็ต้องกิน เมื่อไม่มีอาหารที่คนให้มันก็ต้องหาเอาเองจากแหล่งใกล้ตัว ในตู้เลี้ยงปลากินเนื้อ ปลาเหยื่อที่ว่ายพล่านหัวซุกหัวซุนหนีตาย พอปลาเจ้าของตู้กินอิ่มแปล้แล้วก็เริ่มเนือย บรรดาปลาเหยื่อผู้หิวโหยก็เริ่มเสาะหาอาหาร ง่ายสุดก็เมือกและเศษผิวหนังตามครีบตามผิวของปลาเจ้าของตู้จนเกิดความรำคาญและเครียด

นอกจากนี้ ปลาเหยื่ออย่างลูกปลานิลมีฟันเล็กๆ ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อเวลาตอด เช่นเดียวกับกุ้งฝอยกับก้ามของมัน ผมเห็นหลายรายแล้วครับที่กลับถึงบ้านปลามังกรตายอืดคาตู้โดยมีปลาเหยื่อกุ้งฝอยว่ายเริงร่าอย่างผู้ชนะ (เหยื่อพวกนี้มันไม่อินังขังขอบกับน้ำเน่าเสียเท่าไหร่หรอกครับ เพราะมันถูกเลี้ยงมาในสภาพแบบนั้นอยู่แล้ว)

เป็นไปได้ควรพยายามฝึกให้ปลาที่เคยชินกับการกินเหยื่อสดๆ เป็นๆ หันมากินอาหารสำเร็จรูป อาจฝึกยากหน่อยแต่จริงๆ ก็สามารถทำได้นะครับ มันจะทำให้การเลี้ยงปลาง่ายขึ้น แถมยังสบายใจไม่ต้องเอาชีวิตหนึ่งไปให้อีกชีวิตหนึ่งกินเพื่อหล่อเลี้ยงความสุขของเรา

5.ก่อนออกจากบ้านให้ปิดไฟตู้ปลา บางคนหากระดาษมาบังรอบตู้ให้ค่อนข้างมืดเลยด้วยซ้ำเพื่อที่ความมืดจะทำให้ปลาลดกิจกรรมลง ยอบตัวนอนกับพื้นหรือว่ายช้าๆ เอื่อยๆ เหมือนกับที่มันเป็นในช่วงกลางคืน ปลาจะไม่ต้องการอาหารมาก ไม่ต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในการเผาผลาญมาก และไม่ก้าวร้าวใส่กันเหมือนช่วงเวลาที่มองเห็นกันได้ชัด

เครื่องให้อาหารปลา (Automatic Feeder)

ปัจจุบันหลายคนนิยมใช้เครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติเวลาไม่อยู่บ้านหลายๆ วัน อุปกรณ์แบบนี้มีประโยชน์มาก ใช้งานง่าย แต่ไม่เหมาะกับปลาที่กินอาหารสด ลักษณะของเครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติจะเป็นกล่องขนาดเล็กๆ พอที่จะติดตั้งอยู่ด้านบนคานกระจกของตู้ปลาได้โดยไม่เกะกะ มีช่องสำหรับบรรจุอาหาร ภายในช่องนี้มีลิ้นที่ใช้ปรับปริมาณของอาหารที่จะให้ในแต่ละมื้อได้ ด้านหน้าของเครื่องจะเป็นหน้าปัดสำหรับตั้งเวลา บางรุ่นตั้งได้หนึ่งถึงสองมื้อ แต่โดยส่วนใหญ่จะได้มากกว่านั้น อาจเป็น 4 หรือ 6 มื้อต่อวันแล้วแต่ผู้ใช้จะกำหนด แต่ขอแนะนำว่าหากไม่อยู่บ้านหลายๆ วันควรตั้งเครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติให้ทำงานเพียงวันละครั้งก็พอ เพื่อให้น้ำไม่เสียเร็วเนื่องมาจากปลาบริโภคและขับถ่าย

อาหารที่เหมาะกับเครื่องแบบนี้ต้องเป็นอาหารสำเร็จรูปเท่านั้น และควรเป็นอาหารชนิดเม็ดเล็ก หรือหากชอบใช้ชนิดแผ่น (สำหรับปลาเล็กบางชนิด) ก็ควรป่นอาหารนั้นให้เล็กลงก่อนจะบรรจุลงในช่องเก็บอาหาร เหตุผลคืออาหารแผ่นมันติดขัดตรงบริเวณช่องปล่อยอาหารทำให้อาหารไม่ไหลตกลงมาแม้ว่าเครื่องจะทำงานตามปรกติ

ตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติควรอยู่ห่างจากจุดปล่อยฟองอากาศ เนื่องจากความชื้นของฟองน้ำที่แตกเป็นละอองเมื่อถึงผิวน้ำอาจทำให้อาหารชื้นเสียขึ้นรา และหากตู้ปลามีระบบกรองแบบกรองในตัวก็ควรวางเครื่องให้ห่างจากทางเข้าของระบบกรอง เนื่องจากอาหารที่เครื่องเพิ่งปล่อยลงไปจะไหลเข้าสู่ระบบกรองทันทีส่วนหนึ่งซึ่งทำให้น้ำเสียได้เร็ว

ตรวจสอบการทำงานของเครื่องก่อนใช้งาน เครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติเดี๋ยวนี้ผลิตจากประเทศจีน มีราคาถูก การใช้งานก็นับว่าพอได้แต่บทจะเสียก็เสียขึ้นมาดื้อๆ แถมไม่มีรับประกันเสียอีก ตรวจสอบให้แน่ใจและเปลี่ยนถ่านใหม่ก่อนออกเดินทาง เพราะเครื่องอาจจะดีเยี่ยม แต่ใช้ไปได้หน่อยถ่านดันหมด ปลาเมื่อถึงเวลาก็มารอเก้อมองเครื่องตาแป๋ว

อีกทางเลือกหนึ่งที่คนเลี้ยงปลาหลายรายนิยมใช้กัน คือใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับวันหยุด ลักษณะของอาหารประเภทนี้มีหลายแบบ เช่นเป็นแบบเยลลี่แข็งๆ เหมาะสำหรับปลาทอง แบบแท่งสั้นๆ อ้วนๆ เหมาะสำหรับปลาเล็ก และแบบอัดเป็นเม็ดใหญ่ๆ สีขาวคล้ายปูนพลาสเตอร์ เหมาะกับปลาที่หลากหลายกว่า (แต่คุณภาพอาจสู้สองแบบแรกไม่ได้) คุณสมบัติของอาหารกลุ่มนี้คือสามารถแช่อยู่ในน้ำได้นาน ไม่ละลาย ปลาอาจกินยากสักหน่อยแต่ก็ยังได้กินบ้างไม่อด การให้อาหารวันหยุดควรให้แต่พอดี (จะมีปริมาณการใช้ต่อจำนวนปลาบอกไว้ข้างกล่อง) อย่าให้เผื่อ และเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็ควรเก็บอาหารที่เหลือออกแล้วเปลี่ยนถ่ายน้ำสัก 20 – 25%