พบการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าวเข้าทำลายสวนปาล์มน้ำมัน พร้อมออกมาตรการการควบคุม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับแจ้งรายงานจากสำนักงานเกษตรจังหวัด พบการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าวเข้าทำลายสวนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสภาพอากาศมีความเหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของหนอนหัวดำ โดยเฉพาะสวนปาล์มน้ำมันในภาคใต้และภาคตะวันออก พบการระบาดแล้ว ในพื้นที่ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี พื้นที่เสียหายประมาณ ๑๘๐ ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหายแล้ว ๑๘ ราย และเกรงว่าจะขยายการแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ซึ่งสาเหตุการระบาดเกิดจากหนอนหัวดำเข้าทำลายสวนมะพร้าวในบริเวณใกล้จนหมดแล้วจึงลุกลามเข้าไปทำลายต้นปาล์มน้ำมัน

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรป้องกันกำจัดหนอนหัวดำในปาล์มน้ำมัน โดยประยุกต์จากวิธีการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ดังนี้ 1.ตัดทางใบที่ถูกทำลายแล้วนำไปเผาทันที 2.ใช้เชื้อจุลินทรีย์ (บีที) ที่ได้มาตรฐานฉีดพ่น 3.ใช้แตนเบียนหนอนและแตนเบียนดักแด้ 4.ใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นและฉีดพ่นทางใบ เพื่อทำการควบคุมการระบาดเบื้องต้นจนกว่าจะได้ผลงานวิจัยอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการควบคุมหนอนหัวดำ ดังนี้

มาตรการที่ ๑  เฝ้าระวังสถานการณ์การระบาด โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งที่ปลูกเป็นแปลงเดี่ยวหรือปลูกร่วมกับมะพร้าว หรือมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวใกล้เคียง กำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ให้สำรวจติดตามสถานการณ์และรายงานกรมส่งเสริมการเกษตรทุกสัปดาห์ หากพบการเข้าทำลายต้องให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่เกษตรกรทันที และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ทุกราย สำรวจติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ตนเอง  หากพบการเข้าทำลายให้ตัดใบปาล์มน้ำมันเผาทำลายทันที ไม่ควรตัดแล้วทิ้งไว้ในพื้นแปลง เนื่องจากแมลงยังคงมีชีวิตและสามารถเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นได้ ในกรณีที่เกษตรกรต้องการป้องกันการเข้าทำลายไว้ก่อนสามารถใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย เช่น การปล่อยแตนเบียนควบคุมปริมาณ หรือการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นหรือฉีดพ่นบริเวณทรงพุ่มโดยขอคำแนะนำและการสนับสนุนแตนเบียนได้จากสำนักงานเกษตรจังหวัดที่ตั้งแปลง

    มาตรการที่ ๒  จำกัดวงพื้นที่ระบาดในพื้นที่วิกฤตและพื้นที่เสี่ยง โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการจำกัดวงการระบาดของหนอนหัวดำในพื้นที่ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่เป็นพื้นที่วิกฤต (พบการระบาดรุนแรง) และพื้นที่เสี่ยง (พื้นที่บริเวณใกล้เคียง) ไม่ให้หนอนหัวดำระบาดขยายวงออกไป ด้วยการตัดวงจรการเจริญเติบโตของแมลงทุกระยะ โดยจัดทำเป็นพื้นที่ต้นแบบการควบคุมหนอนหัวดำในปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้ศึกษาและนำไปดำเนินการในพื้นที่ของตน