ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | กนกวรรณ แซ่หล่อ |
เผยแพร่ |
ปัจจุบัน กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมและการบริโภคเพื่อสุขภาพมีการตื่นตัวกันเพิ่มมากขึ้น ผู้คนทั่วโลกต่างเสาะแสวงหาสิ่งดำรงชีพที่ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีและสารพิษต่างๆ ทั้งๆ ที่มนุษย์รู้จักการใช้สมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืชมานานแล้ว
แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกมองข้าม ขาดการเผยแพร่ ประกอบกับสารเคมีทางการเกษตรในปัจจุบันหาได้ง่าย ใช้ได้ง่าย และเห็นผลรวดเร็วกว่า แต่เมื่อมีการใช้ในระยะเวลานานๆ ก็จะเริ่มส่งผลเสียออกมาให้เห็น มีทั้งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ พืช รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย
จึงเป็นสาเหตุให้บรรดาเกษตรกรเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการปลูกพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ และหาวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะนำมาใช้ทดแทนสารเคมี พืชสมุนไพรจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุด ซึ่งปัจจุบันภาคธุรกิจได้หันมาผลิตสารสกัดจากสมุนไพรเพื่อใช้สำหรับกำจัดศัตรูพืชออกมาจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย
อาจารย์แสงเดือน อินชนบท สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆ ของสมุนไพรเพื่อให้มีการนำไปใช้ได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวว่า “สำหรับผู้ที่กำลังใช้หรือต้องการใช้พืชสมุนไพร ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า การใช้พืชสมุนไพรเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชไม่ได้เป็นวิธีการสำเร็จรูปที่จะช่วยป้องกันหรือแก้ไขปัญหาของศัตรูพืชได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากการใช้สมุนไพรในรูปแบบนี้แท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกลับไปหาวิธีการสร้างสมดุลธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชน้อยที่สุด
แต่ถ้าจะให้ดีเราควรจะมีการจัดการและการป้องกันแมลงศัตรูพืชตั้งแต่เริ่มต้นที่ทำการเพาะปลูก โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งการใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของจุลินทรีย์ มีการวางแผนเลือกใช้พันธุ์พืชผักพื้นบ้านที่มีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการปลูกพืชผักแบบผสมผสานและหมุนเวียนด้วย ซึ่งวิธีการต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้มาก
แต่หากเกิดปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชขึ้น การใช้สมุนไพรก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ปัญหาโรคและแมลงลดลงได้ แถมยังไม่เกิดสารพิษตกค้าง ที่สำคัญยังมีต้นทุนในการดำเนินงานน้อยกว่าสารเคมีอยู่มาก การใช้สมุนไพรไล่แมลงและศัตรูพืชจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย”
สมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช ยังมีข้อดีหลายอย่างคือ มีราคาถูก ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้ ไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในแปลงพืชผัก ไม่ตกค้างในดินและสภาพแวดล้อม
ชนิดของสมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
สมุนไพรที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ หางไหลขาว (โล่ติ๊น) หางไหลแดง (กะเพียด) ยาสูบ (ยาฉุน) เถาบอระเพ็ด สาบเสือ พริกไทย ข่าแก่ ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ตะไคร้แกง ดีปลี พริก โหระพา สะระแน่ กระเทียม กระชาย กะเพรา ใบผกากรอง ใบดาวเรือง ใบมะเขือเทศ ใบคำแสด ใบน้อยหน่า ใบยอ ใบลูกสบู่ต้น ใบลูกเทียนหยด ใบมะระขี้นก เปลือกว่านหางจระเข้ ว่านน้ำ เมล็ดโพธิ์ เมล็ดแตงไทย เปลือกมะม่วงหิมพานต์ ดอกลำโพง ดอกเฟื่องฟ้าสด กลีบดอกชบา ลูกทุเรียนเทศ รากเจตมูลเพลิงแดง
สมุนไพรที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดหนอนชนิดต่างๆ ได้แก่ สะเดา (ใบ+ผล) หางไหลขาว (โล่ติ๊น) หางไหลแดง (กะเพียด) หนอนตายหยาก สาบเสือ ยาสูบ (ยาฉุน) ขมิ้นชัน ว่านน้ำ หัวกลอย เมล็ดละหุ่ง ใบและเมล็ดสบู่ต้น ดาวเรือง ฝักคูนแก่ ใบเลี่ยน ใบควินิน ลูกควินิน ใบมะเขือเทศ เถาบอระเพ็ด ใบลูกเทียนหยด เปลือกใบเข็มป่า เปลือกต้นจิกและจิกสวน ต้นส้มเช้า เมล็ดมันแกว ใบยอ ลูกเปลือกต้นมังตาล เถาวัลย์ยาง เครือบักแตก คอแลน มุยเลือด ส้มกบ ตีนตั่งน้อย ปลีขาว เกล็ดลิ้น ย่านสำเภา พ่วงพี เข็มขาว ข่าบ้าน บัวตอง สบู่ดำ แสยก พญาไร้ใบ ใบแก่-ผลยี่โถ
สมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สามารถแยกตามชนิดของแมลงศัตรูพืชได้ดังนี้
1. หนอนกระทู้-มันแกว สาบเสือ ยี่โถ สะเดา หนอนตายหยาก ใบมะเขือเทศ ดาวเรือง ขมิ้นชัน ข่า ขิง คูน น้อยหน่า
2. หนอนคืบกะหล่ำ-มันแกว สาบเสือ ยาสูบ ยี่โถ สะเดา หนอนตายหยาก ใบมะเขือเทศ ดาวเรือง ขมิ้นชัน คูน ตะไคร้หอม
3. หนอนใยผัก-มันแกว ยี่โถ สะเดา หนอนตายหยาก ใบมะเขือเทศ ดาวเรือง ขมิ้นชัน คูน ตะไคร้หอม
4. หนอนกอข้าว-ยาสูบ บอระเพ็ด ใบมะเขือเทศ
5. หนอนห่อใบข้าว-ผกากรอง
6. หนอนชอนใบ-ยาสูบ ใบมะเขือเทศ
7. หนอนกระทู้กล้า-สะเดา
8. หนอนหลอดหอม-ยี่โถ สะเดา หนอนตายหยาก ใบมะเขือเทศ ตะไคร้หอม
9. หนอนหนังเหนียว-ยี่โถ สะเดา หนอนตายหยาก ใบมะเขือเทศ คูน
10. หนอนม้วนใบ-ยี่โถ สะเดา หนอนตายหยาก ใบมะเขือเทศ คูน ตะไคร้หอม
11. หนอนกัดใบ-ยี่โถ สะเดา หนอนตายหยาก ใบมะเขือเทศ คูน ตะไคร้หอม
12. หนอนเจาะยอดเจาะดอก-ยี่โถ สะเดา ขมิ้นชัน คูน
13. หนอนเจาะลำต้น-สะเดา ใบมะเขือเทศ คูน
14. หนอนแก้ว-ใบมะเขือเทศ ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม
15. หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก-ใบมะเขือเทศ ดาวเรือง
16. หนอนผีเสื้อต่างๆ-มันแกว หนอนตายหยาก สะเดา คูน
17. ด้วงหมัดกระโดด-มันแกว ว่านน้ำ มะระขี้นก ยาสูบ กระเทียม
18. ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว-ขมิ้นชัน ด้วงกัดใบ มะระขี้นก คูน
19. ด้วงเต่าฟักทอง-สะเดา กระเทียม น้อยหน่า
20. ด้วงหรือมอดทำลายเมล็ดพันธุ์-ยี่โถ กระเทียม ขมิ้นชัน ข่า ขิง
21. มอดข้าวเปลือก-ว่านน้ำ
22. มวนเขียว-มันแกว ยาสูบ
23. มวนหวาน -มันแกว ยาสูบ
24. แมลงสิงห์ข้าว-มะระขี้นก
25.เพลี้ยอ่อน-มันแกว ยาสูบ สะเดา หนอนตายหยาก ดาวเรือง กระเทียม น้อยหน่า
26.เพลี้ยไฟ-ยางมะละกอ สะเดา สาบเสือ ยาสูบ หนอนตายหยาก กระเทียม
27.เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล-สะเดา สาบเสือ บอระเพ็ด
28.เพลี้ยจักจั่นสีเขียว-สะเดา สาบเสือ บอระเพ็ด
29.เพลี้ยหอย-สาบเสือ
30.เพลี้ยแป้ง-ยาสูบ สะเดา ไรแดง ยาสูบ ขมิ้นชัน ไรขาว ยาสูบ ขมิ้นชัน
- แมลงหวี่ขาว-ดาวเรือง กระเทียม
- แมลงวันแดง-ว่านน้ำ น้อยหน่า สลอด ข่าเล็ก เงาะ บัวตอง ขิง พญาไร้ใบ
33..แมลงวันทอง-ว่านน้ำ หนอนตายหยาก บัวตอง มันแกว แสลงใจ
34.แมลงปากกัดผัก-ว่านน้ำ
35.แมลงกัดกินรากและเมล็ดในหลุมปลูก-มะรุม
36. จิ้งหรีด-ละหุ่ง สบู่ดำ สลอด
37. ปลวก-ละหุ่ง
38.ตั๊กแตน-สะเดา
สมุนไพรไล่แมลง เป็นพืชที่มีส่วนต่างๆ เช่น ใบ ราก เปลือก ดอก ผล ที่มีสารออกฤทธิ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
ผลทางตรง จะมีผลกระทบต่อระบบประสาท และระบบหายใจ ทำให้แมลงตายทันที
ผลทางอ้อม จะมีผลต่อระบบอื่นๆ โดยการไปยับยั้งการกินอาหาร การลอกคราบ การเจริญเติบโตของแมลง
การใช้สมุนไพรไล่แมลงหรือกำจัดศัตรูพืชควรใช้ให้เหมาะสม คือ เลือกใช้ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรในช่วงเวลาที่เหมาะสม ดังนี้
ดอก ควรเก็บในระยะดอกตูมเพิ่งจะบาน
ผล ควรเก็บในระยะที่ผลยังไม่สุก เพราะสารต่างๆ ยังไม่ถูกส่งไปเลี้ยงเมล็ด
เมล็ด ควรเก็บในระยะที่ผลสุกงอมเต็มที่ ซึ่งจะมีระยะที่เมล็ดแก่เต็มที่ และจะมีสารต่างๆ สะสมอยู่ในปริมาณมาก
หัวและราก ควรเก็บในระยะที่เริ่มมีดอก เพราะระยะนี้ต้นพืชจะมีการสะสมสารต่างๆ ไว้ที่ราก และควรเก็บในฤดูหนาวปลายฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงที่กระบวนสังเคราะห์แสงหยุดทำงาน
เปลือก ควรเก็บก่อนที่จะมีการผลิใบใหม่ และควรเก็บในฤดูร้อนและฤดูฝน
ดังนั้น ก่อนที่จะนำสมุนไพรแต่ละชนิดมาใช้ในการป้องกันกำจัดหรือไล่แมลงศัตรูพืช ควรมีการศึกษาหาข้อมูลให้ดีเสียก่อนว่า จะนำส่วนไหนมาใช้และใช้ในช่วงเวลาใด จึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันกำจัดแมลง
หากผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์แสงเดือน อินชนบท สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 50290 โทร. (053) 873-071 ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. (053) 873-938-9
เมื่อวันพฤหัสที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2562