กรมหม่อนไหม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชน พัฒนาการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหม่อนไหมเพื่อขับเคลื่อนระบบการผลิตและนวัตกรรมไหมไทย เพื่อยกระดับศักยภาพ และพัฒนาความยั่งยืนไหมไทย

กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชน นำร่องโดย บริษัท สิ่งทอซาติน (แบรนด์ PASAYA) และ หจก.เรือนไหมใบหม่อน วิจัย “โครงการการพัฒนาต้นแบบศักยภาพการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหม่อนไหมเพื่อขับเคลื่อนระบบการผลิตและนวัตกรรมไหมไทย” ให้แก่ชุมชนเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่มีศักยภาพทั่วประเทศ ตั้งเป้าพัฒนาต้นแบบศักยภาพการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหม่อนไหมเพื่อขับเคลื่อนระบบการผลิตและนวัตกรรมไหมไทยกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เพื่อใช้เป็นต้นแบบการผลิตและธุรกิจการค้าไหมไทย สามารถสร้างศักยภาพ สร้างความยั่งยืนและพร้อมก้าวไปสู่เวทีโลกในอนาคต

นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า โครงการพัฒนาต้นแบบศักยภาพการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหม่อนไหมเพื่อขับเคลื่อนระบบการผลิตและนวัตกรรมไหมไทย เป็นการศึกษาการรวมกลุ่มการผลิตไหมไทยที่มีศักยภาพตามความเข้มแข็งของแต่ละกลุ่ม ในการดำเนินรูปแบบการผลิตไหมแปลงใหญ่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ไหมอุตสาหกรรม ไหมหัตถกรรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหมและผลพลอยได้จากผลิตภัณฑ์พาณิชย์ โดยได้มีการร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับ กลุ่มเกษตรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าและแปรรูป และภาคเอกชน ได้แก่ หจก.เรือนไหมใบหม่อน และบริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด (แบรนด์PASAYA) โดย คุณชเล วุทธานันท์ กรรมการผู้จัดการฯ เป็นที่ปรึกษาโครงการ ร่วมให้มุมมองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของการตลาด การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ และด้านอื่นๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จทั้งโซ่คุณค่าไหมไทย

การดำเนินโครงการการพัฒนาต้นแบบศักยภาพการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหม่อนไหมเพื่อขับเคลื่อนระบบการผลิตและนวัตกรรมไหมไทย จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งโดยมีแนวทางเป้าหมายเดียวกัน ทั้งเรื่องการมองกลุ่มตลาดร่วมกัน เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด และร่วมปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบไหมไทย และพัฒนาต้นแบบธุรกิจภายใต้การสร้างโซ่คุณค่าของการรวมกลุ่ม (Cluster) ซึ่งส่งผลให้มีการพัฒนาความหลายกลายของสินค้าที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง มีการตลาดใหม่ๆ ที่กลุ่มสามารถตอบโจทย์ทางการตลาดได้ และพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุนได้ ทำให้ท้องถิ่นเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายและสามารถก้าวสู่ตลาดในต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ผศ.ดร. กรทิพย์ วัชรปัญญาวงศ์ เตชะเมธีกุล หัวหน้าโครงการบูรณาการวิจัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการได้รับทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สวพ.มก.) การวิจัยร่วมกันครั้งนี้เน้นการวิเคราะห์หาปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อน (Key Driver) ที่ทำให้การรวมกลุ่มมีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จ มีการจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพิจารณาสร้างความเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ ด้านการตลาด ผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศและตลาดอาเซียน นำข้อมูลที่ได้มาบูรณาการนำไปสู่รูปแบบกลยุทธ์การบริหารจัดการใหม่อย่างมีศักยภาพที่แท้จริง ด้วยการใช้แนวคิดร่วมออกแบบ (Co-design) และ Customization เข้ามาร่วมพัฒนา และพัฒนาแนวทางการใช้ระบบการผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับรูปแบบการรวมกลุ่มการผลิตไหมแต่ละประเภทรวมทั้งนำเสนอต้นแบบการรวมกลุ่มการผลิตไหมที่มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจ รูปแบบ (Model) ใหม่ที่เข้มแข็งและยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนต้นแบบที่มีศักยภาพที่จะต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากไหม ได้แก่ การ   แปรรูปเสื้อผ้า สิ่งทอเคหะ และอื่นๆ ที่ทำจากไหม ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไหม และ     ผู้ประกอบการทั้งระบบได้รับการพัฒนายกระดับและนำไปสู่เชิงพาณิชย์

กิจกรรมโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยกระบวนการที่สำคัญคือ การคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่มีศักยภาพจากกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแปลงใหญ่ จำนวนอย่างน้อย 5 กลุ่มหลัก และทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจ และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ในแต่ละท้องที่ โดยมีการให้คำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญทั้งกระบวนการผลิต การสร้างแนวทางความร่วมมือโซ่คุณค่าของกลุ่ม Cluster อีกทั้งมีการพัฒนาควบคู่กันทั้งแนวทางการสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองแนวโน้มความต้องการของกลุ่มตลาดเป้าหมาย และได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านสิ่งทอมาพัฒนาสมบัติพิเศษให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้ผ้าไหมไทยสามารถสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มและมีผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย และยังคงอัตลักษณ์ผ้าไหมไทยแต่ละพื้นที่ไว้