เมืองนวัตกรรมอาหารสำเร็จเกินเป้า “ซีอีโอ” มุ่งพัฒนาความแกร่งเครือข่ายส่วนขยาย

หลังสยายปีกทั่วประเทศในปีที่ผ่านมา พร้อมงัดกลยุทธ์สู้มาตรการกีดกันทางการค้า เชื่อ ปี 62 รุนแรงทั่วโลก

ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส กล่าวว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา    เมืองนวัตกรรมอาหารได้ดำเนินการในหลากหลายด้าน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารในทุกขนาด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในรูปแบบการให้บริการ One stop service เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารของไทยเข้าถึงแหล่งทรัพยากร บุคลากรการวิจัย การบริการ แหล่งเงินทุน สิทธิประโยชน์ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และภาคมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมอาหารออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว มีคุณภาพตามมาตรฐาน และตรงกับความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอีกด้วย โดยในปี 2561 เมืองนวัตกรรมอาหารได้ให้บริการผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 100 บริษัท

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่จำเป็นต่อการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่จำเป็น อาทิ การพัฒนาความเชี่ยวชาญทางด้านกลิ่นรส และประสาทสัมผัส การลงทุนในโรงงานต้นแบบแปรรูปอาหาร เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาต้นแบบ และผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับการทดสอบตลาด และการจำหน่าย การลงทุนเครื่องมือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ด้านบริการการวิเคราะห์ทดสอบ รวมทั้งได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับโครงการ Future Food Lab เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง ได้มีโอกาสทำวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการมายาวนาน โดยในปีนี้มีบริษัทเข้าร่วมโครงการและเข้ามาทำวิจัยใน Future Food Lab แล้วเกือบเต็มพื้นที่

ขณะเดียวกันก็ได้จัดกิจกรรมอบรม สัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จากวิทยากร นักวิชาการระดับแนวหน้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้รับความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัย เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งรู้จักเครื่องมือต่างๆ ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการวิจัย พัฒนาและการสร้างนวัตกรรมใหม่ เช่น การจัดสัมมนา Cutting Edge Technology ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูล เทคโนโลยีที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมอาหาร การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทางด้านกลิ่นรส ร่วมกับ 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ และผู้สนใจอย่างมาก และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมืองนวัตกรรมอาหารได้จัดให้มีการประชุมวิชาการนานาชาติ Food Innopolis International Symposium 2018 ขึ้นเป็นปีแรก โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรระดับแนวหน้าจากสถาบันด้านอาหาร และอุตสาหกรรมอาหารของโลก จากประเทศต่างๆ รวม 15 ประเทศ ในการประชุมดังกล่าวได้พูดถึงแนวโน้มนวัตกรรมอาหารโลกในหลากหลายแง่มุม รวมถึงเทคโนโลยี หรือความต้องการด้านอาหารในอนาคต ซึ่งในการประชุมวิทยากรจากแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมุมมองของแต่ละประเทศที่มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน

ดร. อัครวิทย์ กล่าวด้วยว่า เมืองนวัตกรรมอาหารให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการวิสาหกิจด้านนวัตกรรมอาหาร จึงได้จัดให้มีโครงการสนับสนุน และส่งเสริมในหลากหลายรูปแบบ เช่น การประกวดนวัตกรรมด้านอาหาร (Food Innovation Contest) ร่วมกับบริษัท     เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มนิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้แสดงออกด้านความรู้ ความสามารถทางวิชาการ มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของ  ผู้บริโภค และความต้องการของตลาดในปัจจุบัน และอนาคต การจัดอบรมหลักสูตร PADTHAI ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจเดิมโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการขยายตัวของธุรกิจ การจัดการแข่งขัน IDE Competitions 2018 ร่วมกับศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการประกวดแผนธุรกิจในการแข่งขัน MIT Enterprise Forum ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจากทีมในเครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหาร ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 และ 3 จากประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับการขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนนั้น ดร. อัครวิทย์ กล่าวว่า เมืองนวัตกรรมอาหารให้ความสำคัญมาก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต เช่น การจัดสัมมนา “The Power of Packaging” และการเยี่ยมชมบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) การสร้างแบรนด์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยในเครือข่ายของเมืองนวัตกรรม พร้อมกันนี้ก็ได้ขยายเครือข่ายไปยังต่างประเทศด้วย โดยปีที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ จากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และการสร้างระบบนิเวศน์การวิจัยในประเทศไทย เช่น การทำบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงาน Future Food Institutes ประเทศอิตาลี เพื่อเสริมสร้างการพัฒนานวัตกรรมทางด้านอาหาร ภายใต้โครงการ Food Innovation Global Mission ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 ประเทศในปีนี้ ที่นักศึกษาภายใต้โครงการฯ เดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความรู้ จากประเทศไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหาร รวมทั้งมีการจัดทำสื่อเผยแพร่ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก และเป็นการตอกย้ำความเป็นศูนย์กลาง    นวัตกรรมอาหารของโลกอีกทางหนึ่ง ความร่วมมือกับหน่วยงานโตเกียวเอส เอ็ม อี ประจำประเทศไทย และหน่วยงานโตเกียวเอส เอ็ม อี ประเทศญี่ปุ่น โดยได้จัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากมาย

ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า เมืองนวัตกรรมอาหารเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 และได้บูรณาการความร่วมมือ ขยายเครือข่าย เพื่อให้เกิดนวัตกรรมอาหารขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ในปี 2561 โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันอาหารชั้นนำของโลก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้ประกาศโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย ในส่วนภูมิภาคอีก 15 แห่ง และได้จัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

“ปี 2561 ถือเป็นปีทองของเมืองนวัตกรรมอาหาร เพราะผลงานที่ได้ดำเนินงานมาตลอดทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมาย และมีหลายเรื่องที่สำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งๆ ที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่แล้วคาดว่าจะสามารถสร้างผลงานได้มากยิ่งขึ้น ส่วนทิศทางในอนาคตนั้น ก็มองว่า แนวโน้มของความต้องการอาหารของโลก และพฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนมาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ   จะมีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร จำเป็นต้องมีการปรับตัว และรู้เท่าทันสถานการณ์ความต้องการอาหารโลก และการนำเอาเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาปรับใช้เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้า หรือการไม่ยอมรับของผู้บริโภค ในส่วนของเมืองนวัตกรรมอาหารเองมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายฯ ส่วนขยายทั้งหมดให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินการ และการสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายฯ ทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในทุกระดับ ตลอดจนการกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหารในระยะกลางและระยะยาว” ดร. อัครวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย