บุกเปิดตลาด ข้าวสารในเมืองกรุง ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง-ทางรอดเกษตรกร ?

ปี 2559 ถือเป็นปีที่หนักหนาสาหัสของชาวนาอีกครั้ง เมื่อราคาข้าวหอมมะลิทรุดฮวบในรอบ 10 ปี ราคาข้าวเปลือกบางแห่งเหลืออยู่เพียงกิโลกรัมละ 5 บาทเท่านั้น จากเดิมที่เคยขายกิโลกรัมละ 9-10 บาท แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต 2559 ถึง 2560 รวมถึงข้าวหอมมะลิ โดย ธ.ก.ส.รับจำนำตันละ 9,500 บาท รวมกับค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพตันละ 2,000 บาท และค่าขึ้นยุ้งเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท ก็ถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราวเท่านั้น

ปีนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ชาวนาออกมาดิ้นรนขายข้าวตรงถึงมือผู้บริโภคเองจำนวนมากจากเดิมที่ขายข้าวเปลือกให้กับพ่อค้าหรือโรงสีก็หันมาสีข้าวขายเองโดยใช้โรงสีชุมชนโดยเดินสายเข้ากรุงเทพฯตระเวนขายตามจุดต่าง ๆ ที่ภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น

ครั้งแรกสีข้าวขายตรงคนกรุง

ทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจจุดจำหน่ายข้าวสารที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดขึ้น ในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าชาวนาส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน บรรทุกข้าวหอมมะลิจากหลายจังหวัด เช่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และภาคอื่น ๆ เช่น ชัยนาทและพิจิตร เป็นต้น

“พรนภา โพธิเศษ”
อายุ 44 ปี ชาวนา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ บอกว่า เพิ่งจะเริ่มนำข้าวมาขายในปีนี้ ได้รับการชักชวนจากกลุ่มฟางเส้นสุดท้าย ขายที่แรกที่ The Walk เกษตร-นวมินทร์ วันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลตอบรับค่อนข้างดี ผ่านไปเดือนกว่าขายได้ทั้งหมด 3-4 ตันแล้ว จึงเริ่มมีกำลังใจ สำหรับข้าวสารที่นำมาขายจะมีทั้งข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิขัดขาว ข้าวกล้องพันธุ์ 105 ข้าวมะลิแดงอินทรีย์ และข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ ราคาข้าวหอมมะลิ กิโลกรัมละ 35 บาท หรือ 3 กิโลกรัม 100 บาท ข้าวเหนียว กิโลกรัมละ 40 บาท ข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ กับมะลิแดงอินทรีย์ กิโลกรัมละ 60 บาท

พรนภาบอกอีกว่า ปัจจุบันทำนาร่วมกับพี่น้อง 4 คน รวมเกือบ 100 ไร่ ผลผลิตไร่ละ 300 กิโลกรัม จะแบ่งไว้ส่วนหนึ่งนำไปจำนำข้าว ส่วนหนึ่งเก็บไว้กินเอง และอีกส่วนทยอยสีมาขาย โดยนำข้าวมาขายเฉพาะกลุ่มพี่น้องก่อน เพราะชาวบ้านหลายคนไม่สามารถทำได้เพราะต้องการเงินก้อนนำไปจ่ายค่าปุ๋ย ค่าจ้างเกี่ยว และอีกหลายอย่าง แต่ตนเองมองว่าหากทำได้จะยั่งยืนขึ้น เพราะขายข้าวเปลือกมีข้อจำกัดเรื่องความชื้น หรือแห้งเกินไปก็ถูกกดราคา มองว่าชาวนาต้องปรับตัวด้วย เพราะโลกเปลี่ยนไป คิดว่าการทำเกษตรแบบผสมผสานจะทำให้อยู่ได้ โดยไม่ต้องเข้ามาขายแรงงานในกรุงเทพฯ

ข้าวใหม่-สด-ไร้สารเคมี

“มองว่าช่องทางนี้ดีสำหรับผู้บริโภคคือจะได้ข้าวใหม่สดและไม่มีสารเคมี เพราะเราสีเสร็จก็นำมาขายเลย ไม่มีการรมยา ข้าวเปลือกเราก็เก็บในยุ้งฉาง พอลูกค้าสั่งมาเราก็ค่อยสี สั่งใหม่ สดถึงบ้าน ซึ่งบอกได้เลยว่าข้าวในเมืองจะไม่มีแบบนี้แน่นอน แต่ลูกค้าจะพูดแน่นอนว่ามาตรฐานข้าวไม่เท่าข้าวถุงในห้าง แต่เราบอกได้ว่าข้าวเราเป็นโรงสีเล็ก การคัดข้าวของเราอาจจะไม่ดีพอ แต่ความสะอาด ความปลอดภัยเรามี 100%”

“ลัดดา สันต์ประโคน” อายุ 67 ปี ชาวนา อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า ลูกชายไปทำนาที่บ้านลูกสะใภ้ที่ อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ แต่ผลผลิตที่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากประสบทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งใน 1 ปี สามารถทำนาได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ประกอบกับยังต้องเจอกับสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำอีก ข้าวเปลือก 1 กระสอบ (80 กิโลกรัม) ขายได้ราคาไม่ถึง 500 บาท ถือว่าแย่มาก แต่เมื่อได้นำข้าวสารมาขายเอง ก็ทำให้สามารถพออยู่ได้ โดยได้ราคามากกว่าเท่าตัว

“ครั้งนี้นำข้าวมา 1 ตันกับอีก 200 กิโลกรัม โดยหารค่าน้ำมันกับเพื่อนที่มาด้วย คิดว่าดีกว่าขายที่บ้าน ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือด้วยการให้ชาวนานำข้าวมาขายเองแบบนี้ ก็จะสามารถอยู่ได้ ถ้ามีสถานที่ที่พอจะเดินทางมาขายได้ก็จะมา จะพยายามสีข้าวมาขาย รวมถึงอยากจะให้หน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทขนาดใหญ่ มาช่วยซื้อข้าวจากชาวนา อาจจะซื้อเป็นลอตหรือประจำก็ได้”

ป้อนตลาดยิ่งเจริญ 2 ตัน/วัน

“โชติกา บุญครอง” อายุ 45 ปี ชาวนา กลุ่มชาวบ้านสระขี้ตุ่น ต.ปะเคียบ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ทำนาตั้งแต่รุ่นพ่อ 68 ปีแล้ว มีที่นา 60 ไร่ ขายข้าวเปลือกมาตลอด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่โกยข้าวออกจากยุ้งมาสีขาย ยังไม่รู้ว่าชะตากรรมจะเป็นอย่างไร แต่ตัดสินใจทำ เพราะวันนี้ขายข้าวเปลือกไม่คุ้มกับต้นทุน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงบ้าง เนื่องจากสีข้าวมาแล้วหากขายไม่ได้ก็ยังไม่รู้จะทำอย่างไร หวังว่ามาครั้งนี้จะได้ออร์เดอร์กลับไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านสระขี้ตุ่น มีผู้ใหญ่บ้านไปทำเอ็มโอยูกับตลาดยิ่งเจริญเพื่อส่งข้าวสารเข้าตลาดวันละ 2 ตัน

“ผกากรอง จันสง” นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ลูกชาวนา อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ บอกว่า ทนเห็นครอบครัวที่จำหน่ายข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 กว่า 19 ไร่ให้กับโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่ให้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริงไม่ได้ เช่น ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าไถนา ค่าหว่าน จึงนำข้าวไปสีกับโรงสีข้าวชุมชนแล้วนำข้าวมาจำหน่ายที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยพ่อระบายข้าว ซึ่งมีลูกค้าที่เป็นข้าราชการ นิสิต และประชาชน มาอุดหนุนจำนวนมาก

ทั้งนี้ก็คาดว่าปีหน้าราคาข้าวเปลือกจะตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอีก จึงเตรียมแผนสำรองไว้แล้วที่จะนำข้าวของครอบครัวมาจำหน่ายเองในกรุงเทพฯ และจำหน่ายผ่านโซเชียลมีเดีย กระจายช่องทางจำหน่ายให้ได้มากที่สุด หากข้าวของครอบครัวขายหมดเร็วก็จะช่วยชาวนาคนอื่น ๆ ด้วย

สำหรับตัวเองเรียนคณะเกษตร ปีที่ 4 หากสำเร็จการศึกษาแล้ว จะนำความรู้ไปช่วยพัฒนาการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวที่บ้านเกิด และแม้ว่าข้าวจะมีราคาดีขึ้น ก็จะไม่ทิ้งการนำข้าวมาจำหน่ายเอง เพราะถือว่าเป็นช่องทางที่ทำรายได้ดี ผู้บริโภคคนกรุงเทพฯชื่นชอบ เพราะข้าวใหม่มีคุณภาพดี หอม น่ารับประทาน

ราคาปุ๋ยสูงต้นทุนพุ่ง

“ปรานี เลิศสุวรรณสิทธิ์”
ชาวนา อ.หันคา จ.ชัยนาท กล่าวว่า ข้าวที่นำมาขาย ปลูกเองทั้งหมดบนเนื้อที่ 20 ไร่ โดยไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง แม้จะได้ผลผลิตเพียง 5,000 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ก็สามารถอยู่ได้ เพราะไม่ได้ลงทุนเยอะ แต่ปีนี้ราคาข้าวตกต่ำมากประมาณ 5,000 บาท/ตัน เมื่อไปถึงโรงสีแล้ว เขาให้ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย จะวิ่งเร่ไปขายโรงสีอื่นก็ไม่ได้ เพราะโรงสีเขารู้กัน ให้ราคาเท่ากันหมด บางครั้งปริมาณข้าวเยอะมากหรือราคาข้าวสูงขึ้น โรงสีก็ปิดไปเฉย ๆ ชาวนาก็แย่ ตอนนี้ก็นำข้าวมาสีกันเองภายในกลุ่มที่รวมตัวกัน แม้จะเหนื่อย แต่ก็ได้ราคาดี ประมาณ 10,000 กว่าบาท/ตัน ก็ช่วยได้เยอะ

“มองว่าทางออกของชาวนา คือ การสีข้าวและนำมาขายเอง แต่ก็ต้องทำเรื่อย ๆ และอยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องการประกันราคาข้าว รวมถึงทำให้ราคาปุ๋ยลดลงมาบ้าง”

ทั้งหมดคือเสียงสะท้อนจากชาวนาที่บอกว่าหากไม่ดิ้นรนก็อยู่ยาก เช่นนี้แล้วภาครัฐจะเร่งแก้ไข และบริหารจัดการอย่างไรที่พอจะคลายทุกข์ให้กับผู้ที่ได้ชื่อว่ากระดูกสันหลังของชาติให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์