GDP ภาคเกษตร ปี’62 “วูบ”, “ยาง-ปาล์ม” ราคาดิ่ง ยกเว้น “ข้าว” ราคาดี

แนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (GDP สินค้าเกษตร) ปี 2562 จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่า จะขยายตัว ร้อยละ 2.5-3.5 จัดเป็นการขยายตัวที่ “ชะลอ” ลงจาก ปี 2561 ที่ขยายตัว ร้อยละ 4.6 เป็นผลจาก “GDP ในสาขาพืช” ขยายตัว ร้อยละ 2.7-3.7 จาก ปี 2561 ที่ขยายตัว ร้อยละ 5.4

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า แนวโน้มสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะมีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ในปี 2562 ได้แก่ ข้าว-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง ส่วนสินค้าเกษตรที่มีราคาจะใกล้เคียงกับ ปี 2561 ได้แก่ สับปะรดโรงงาน, ยางพารา และน้ำมันปาล์ม สำหรับพืชเกษตรที่คาดว่าผลผลิตจะลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง, อ้อย, สับปะรด เนื่องจากภาครัฐมีโครงการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลาย และผลจากราคาที่ปรับลดลงในปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดและอ้อยลง

สงครามการค้าทุบราคายางดิ่ง

ในปี 2561 ยางพารา เป็นสินค้าที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำรุนแรง โดยราคาต่ำสุดถึง กก. ละ 40-41 บาท เป็นผลจากความต้องการใช้ยางพาราโลกลดลง “สวนทาง” กับปริมาณการผลิตโลกที่เพิ่มขึ้นจาก 12.14 ล้านตัน เป็น 14.59 ล้านตัน

โดยปัจจัยสำคัญมาจากสงครามการค้า ทำให้กำลังซื้อลดลง ความต้องการใช้ยางล้อในตลาดสำคัญๆ อย่าง จีน ก็ลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะกระตุ้นการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น โดยการออกมาตรการช็อปช่วยชาติให้ซื้อยางเพื่อนำไปใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี แต่ก็ยังไม่สามารถฉุดราคายางกลับขึ้นมาได้

ดังนั้น จึงคาดการณ์แนวโน้มราคายางพารา ในปี 2562 ว่า “ราคายางจะยังทรงตัว” เนื่องจากประเทศผู้ผลิต ได้แก่ เวียดนาม, สปป.ลาว, เมียนมา และกัมพูชา ยังขยายเนื้อที่ปลูกยางเพิ่มขึ้น แต่ภาวะสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยังคงยืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 3.9% ส่งผลให้การใช้ยางพาราของโลกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561

“โรคใบด่าง” มันสำปะหลัง

ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2562 คาดว่า จะมีประมาณ 29.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.49% จาก ปี 2561 ที่มีผลผลิต 27.88 ล้านตัน เนื่องจากไทยไม่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นโอกาสในการส่งออกมันสำปะหลังของไทย โดย นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2562 กรมจะเร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น ตุรกี-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงมาก

ส่วนตลาดหลัก คือ “ตลาดจีน” นั้น คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการนำเข้า เนื่องจากคาดการณ์ว่าสภาพภูมิอากาศยังคงหนาวเย็น จะเพิ่มการผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีน

เร่งระบายปาล์มสต๊อกผลิตไฟฟ้า

ส่วน “ปาล์มน้ำมัน” นั้น ในปี 2561 เรียกได้ว่า “วิกฤตหนัก” ภายหลังจากที่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก ได้มีมาตรการไม่นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มทั่วโลกรวมถึงไทย ลดลงจาก กก. ละ 4-5 บาท เหลือ 2.50 บาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ปริมาณสต๊อกประเทศผู้ผลิตก็เพิ่มขึ้น โดยอินโดนีเซียมีสต๊อก 4.3 ล้านตัน, มาเลเซีย 2.5 ล้านตัน

ส่วนไทยมากถึง 3.8 แสนตัน ทิศทางผลผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2562 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6% หรือมากกว่า 15 ล้านตัน เพราะช่วงต้นปีประเมินว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญแต่ก็ไม่เกิด อีกทั้งต้นปาล์มไทยยังเป็นปาล์มหนุ่มสาวให้ผลผลิตสูง ส่วนการส่งออก ปี 2562 คาดว่า จะมีปริมาณ 300,000 ตัน ส่วนทิศทางราคาตลาดอยู่ที่ ตันละ 500-600 จากปัจจุบัน ตันละ 490 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราคาน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 18 บาท

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่ง “ปรับสมดุล” สต๊อกปาล์มน้ำมัน โดยการขออนุมัติงบประมาณ 525 ล้านบาท เพื่อใช้ชดเชยให้เอกชนที่ซื้อน้ำมันปาล์มไปส่งออก แต่ก็ไม่สำเร็จ และให้กระทรวงพลังงานผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล B20 แต่ก็ได้รับเสียงปฏิเสธจากบรรดากลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่ง กระทั่งสุดท้าย รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการดึงน้ำมันปาล์มไปใช้ผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าบางปะกง 160,000 ตัน เพื่อยกระดับราคาผลปาล์มให้ถึง กก.ละ 3 บาท

เซฟการ์ดดันราคามะพร้าว

“มะพร้าว” ถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีความเสี่ยงด้านราคาสูงอีกกลุ่มหนึ่ง โดยใน ปี 2560 ไทยมีการนำเข้ามะพร้าวถึง 400,000 ตัน

ส่งผลให้ราคาผลผลิตมะพร้าวในประเทศลดลงไปต่ำกว่า กก.ละ 4 บาท เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาให้มะพร้าวเป็น “สินค้าควบคุม” กระทั่งล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ช่วงปลายเดือนธันวาคมมีมติว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้มาตรการภาษีปกป้องพิเศษ (special safeguard) มะพร้าวนำเข้า โดยคำนวณจากประวัติการนำเข้าย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2557-2559) คิดเป็นปริมาณ 156,655 ตัน ให้เสียภาษีนำเข้า 54% หากเกินจากนั้นต้องเสียภาษี 72% ซึ่งผลจากเตรียมประกาศมาตรการนี้ ทำให้ราคามะพร้าวปรับขึ้นเป็น กก.ละ 7 บาท

ข้าว-ข้าวโพด ราคาดี

“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มว่า จะมีปัญหาน้อยที่สุด โดยใน ปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ในปี 2561 ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ทำสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึงตันละ 18,000 บาท ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เคยว่างใน 1-2 ปี ที่ผ่านมา

ส่วนข้าวนาปรังอาจจะลดลงจากสาเหตุเกษตรกรปรับลดพื้นที่นาปรังลง เพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นตามนโยบายรัฐ เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ “ข้าวโพด” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาปรับสูงขึ้นกว่า กก.ละ 10 บาท จากช่วงที่ผ่านมา กก.ละ 8.50 บาท ในภาคการส่งออกข้าว ปี 2562 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในปี 2562 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะลดลงเหลือ 10 ล้านตัน มูลค่า 5,000 ล้านเหรียญ เนื่องจากยังคงมีความท้าทายและแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงประเทศผู้นำเข้าข้าว อาทิ อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ ได้มีการนำเข้าข้าวไปสต๊อกไว้ “ดังนั้น อาจลดการนำเข้าข้าวใน ปี 2562 ลง”

ขณะที่ “จีน” กลับมีสต๊อกข้าวขาวเก่ามากถึง 113 ล้านตัน “ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน” และส่งออกทำเป็นข้าวนึ่ง ในราคาตันละ 325 เหรียญสหรัฐ หรือ “ต่ำกว่า” ข้าวนึ่งไทยที่ขาย ตันละ 329 เหรียญ ทำให้จีนสามารถแย่งตลาดข้าวนึ่งไทยในแอฟริกาไปได้ และยังเชื่อมโยงไปถึงเวียดนามที่ได้นำข้าวออกมาทุ่มขายในตลาด เนื่องจากส่งออกข้าวให้จีนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องรอลุ้น “อานิสงส์” จากภาวะภัยแล้งในอินเดีย ผู้ส่งออกข้าว เบอร์ 1 ของโลกว่า ผลผลิตข้าวจะเสียหายไปประมาณเท่าไร แต่ไม่ว่าราคาข้าวจะเป็นอย่างไร เอกชนหวังว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง “ไม่ควร” หวนกลับไปใช้โครงการประชานิยมอีก

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์