อบเชย เครื่องเทศที่ใช้มาก ปลูกง่าย ขายดี

อบเชย เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศที่คนไทยคุ้นเคยกันมานาน จนนำมาตั้งชื่อให้ลูกสาวก็มี ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนก็มีการกล่าวถึงไม้ชนิดนี้

“…อบเชยเผยกลิ่นกลั้วสุกรม   วันนี้ได้เชยชมสมสุขพี่

สายหยุดกุหลาบอาบอวลดี    ขอหยุดชมจูบทีเถิดสาวน้อย… ”

หลายคนจะคุ้นเคยกับกลิ่นอบเชยในพะโล้ แต่คนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่ไม่รู้จัก แต่กลับคุ้นเคยกับคำว่า Cinnamon ที่เป็นส่วนประกอบหรือปรุงกลิ่นรสในเค้ก ซินนามอนโรลล์ ลูกอม ยาสีฟัน หรือในหมากฝรั่ง หลายคนที่สนใจเรื่องสุขภาพจะทราบสรรพคุณของอบเชยในการรักษาเบาหวาน ชนิดที่ไม่พึ่งอินซูลินซึ่งกำลังเป็นที่สนใจทั่วไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหน้าตาของต้นอบเชยเป็นอย่างไร อบเชยมาจากไหน มีปลูกหรือไม่ และการผลิตและตลาดอบเชยทำอย่างไรนั้น จะเป็นที่น่าสนใจเช่นกัน

วิธีการปลูกและพันธุ์

อบเชย เป็นเปลือกต้นของพืชในสกุล Cinnamomum ในวงศ์ Lauraceae หลายชนิด สามารถแบ่งตามแหล่งผลิตและคุณภาพของอบเชยได้ คือ

อบเชยศรีลังกา (Cinnamomum verum J. Presl) หรืออบเชยเทศ (True Cinnamon) ปลูกมากในประเทศศรีลังกา ตอนใต้ของอินเดีย หมู่เกาะซิซิลี และบราซิล อบเชยที่ได้จากศรีลังกามีคุณภาพดีกว่าอบเชยที่ได้จากแหล่งอื่น เป็นที่นิยมในตลาดโลก

อบเชยชวา [Cinnamomum burmannii (Nees) Blume] หรืออบเชยอินโดนีเซีย (Indonesia Cassia) พบมากแถบเกาะสุมาตรา เกาะชวา และทางฝั่งตะวันตกของติมอร์ อบเชยชวาเป็นอบเชยที่จำหน่ายในท้องตลาดบ้านเรา เพราะมีการนำเข้าเพื่อใช้ในเครื่องแกง

อบเชยจีน

อบเชยจีน (Chinese Cassia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum aromaticum Nees พบในมณฑลกวางสี ประเทศจีน และพม่า อบเชยจีนมีเปลือกหนาและหยาบกว่า สีเข้มกว่าอบเชยศรีลังกา

อบเชยญวน (Saigon Cassia) ได้จากเปลือกที่แห้งแล้วของ Cinnamomum loureirii Nees มีลักษณะคล้ายอบเชยจีนมาก หอมไม่มาก แต่มีรสหวาน

อบเชยไทย เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบตามป่าดงดิบทั่วไป มี 2 ชนิด คือ Cinnamomum bejolghotha (Buch.-Ham.) Sweet และ Cinnamomum iners Reinw. Ex Blume มีคุณภาพไม่ดีเท่าอบเชยเทศ

อบเชย ในสภาพธรรมชาติทรงพุ่มอาจสูงตั้งแต่ 10-15 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่อบเชยปลูกจะมีการดูแลรักษาโดยตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม ซึ่งมักจะสูงไม่เกิน 2-2.5 เมตร กิ่งอบเชยจะแตกขนานกับพื้นดินหรือโค้งลงหาดิน เปลือก ลำต้น และใบมีกลิ่นหอม ผลอบเชยมีขนาด 1.5-2 เซนติเมตร อบเชยชอบอากาศร้อนชื้น ดินร่วนซุยระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง ไม่เป็นทรายจัด ดินเหนียวทำให้เปลือกลำต้นหยาบและหนาทำให้คุณภาพต่ำ

วิธีขยายพันธุ์อบเชย

ใช้การเพาะเมล็ด โดยให้นำเมล็ดมาเพาะโดยเร็วใน 2-3 วัน เพราะเมล็ดจะสูญเสียความงอกอย่างรวดเร็ว เมล็ดที่มีความงอกดีจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 20-30 วัน ควรเพาะในแปลงที่มีแสงรำไร ฝังเมล็ดลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร เมื่อกล้ามีอายุ 4-5 เดือน สูงประมาณ 15 เซนติเมตร ให้ย้ายลงถุงและเลี้ยงไว้อีกประมาณ 4-5 เดือน จึงย้ายลงแปลงเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม การปลูกแบบการค้าควรใช้อบเชยที่ตลาดต้องการและมีคุณภาพดี เช่น พันธุ์ศรีลังกา

ต้นอบเชย ภาพกรมป่าไม้

ประเทศไทยปลูกอบเชยในลักษณะที่มีการตัดแต่งให้ต้นอบเชยแตกกอ มีหลายต้นต่อกอ อบเชยเป็นพืชที่เอาส่วนของเปลือกลำต้น และเปลือกกิ่งมาใช้ประโยชน์ การตัดแต่งกิ่งจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนกิ่งต่อต้นให้มากขึ้น ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 2 เมตร และระหว่างแถว 2 เมตร เมื่ออบเชยมีอายุ 2-3 ปี ให้ตัดลำต้นออก ให้เหลือตอสูงจากพื้นดิน 10-15 เซนติเมตร แล้วกลบดินให้มิดเพื่อเร่งการแตกกิ่งใหม่ เมื่อกิ่งแตกออกมาแล้วให้เลือกกิ่งที่ตรง และมีการเจริญเติบโตที่ดีไว้เพียง 4-6 กิ่ง เลี้ยงกิ่งเหล่านี้ไว้จนมีความสูงประมาณ 2-3 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-5 เซนติเมตร จึงเก็บเกี่ยว ในระหว่างนี้ต้องคอยตัดกิ่งข้างออก เพื่อให้ได้กิ่งกระโดงที่ตรงดี ทำเช่นนี้ไปจนผลผลิตต่ำลงจึงรื้อแปลงปลูกใหม่

ดูแลรักษาอย่างไร

ควรให้น้ำในฤดูแล้ง และคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น กำจัดวัชพืชเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะประเภทเถาเลื้อย ให้ปุ๋ยผสม อัตราส่วน 2:1:1 ในช่วงปีที่ 1 ปริมาณ 32 กิโลกรัม ต่อไร่ ปีที่ 4 ใช้อัตรา 64 กิโลกรัม ต่อไร่ และอัตรา 96 กิโลกรัม ต่อไร่ ในปีที่ 3 แบ่งใส่ 2 ครั้ง ช่วงต้นและปลายฤดูฝน และควรใช้ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง เช่นกัน ข้อควรระวัง คือหากใช้ปุ๋ยมากเกินไปจะมีผลกระทบต่อกลิ่นของเปลือกอบเชยได้

วิธีการเก็บเกี่ยวและการลอกเปลือกอบเชย

อบเชย เก็บเกี่ยวในฤดูฝน สังเกตใบอ่อนสีแดงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน ควรตัดกิ่งตอนเช้า ใช้มีดตัดทดสอบกิ่งดูจะพบว่ามีน้ำเมือกออกมาจากรอยตัด แสดงว่าเป็นช่วงที่เหมาะสม หรืออาจทดสอบโดยใช้ปลายมีดแงะเปลือกว่าลอกง่ายหรือไม่ กิ่งที่เหมาะสมในการตัดควรมีอายุกิ่งประมาณ 9-12 เดือน มีเส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งประมาณ 3 เซนติเมตร มีเปลือกสีน้ำตาลอ่อน มีกระขาวที่เปลือก ตัดเหนือดินประมาณ 6-10 เซนติเมตร กิ่งยาวประมาณ 2 เมตร ลิดกิ่งข้างและใบออก ส่วนที่ลิดออกสามารถนำไปกลั่นน้ำมันหอมระเหยได้

ลอกเปลือกโดยนำกิ่งที่ตัดมาขูดผิวเปลือกออกด้วยมีดโค้ง ทำด้วยสแตนเลสหรือทองเหลือง นวดเปลือกที่ขูดผิวแล้วด้วยแท่งทองเหลืองเพื่อให้เปลือกลอกออกจากส่วนของเนื้อไม้ได้ง่าย และช่วยให้เกิดการแตกตัวของเซลล์เปลือก ทำให้มีกลิ่นหอม ใช้มีดควั่นรอบกิ่งเป็นช่วงๆ ด้านบนและล่างห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ถ้าสามารถลอกเป็นแผ่นยาวได้ตลอด ก็ไม่ต้องควั่นเป็นช่วง ใช้ปลายมีดกรีดตามยาวจากรอยควั่นด้านบนมาด้านล่างทั้งสองข้างของกิ่ง ใช้มีดปลายมนค่อยๆ แซะเปลือกให้หลุดจากเนื้อไม้ จะได้เปลือกขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชิ้น ทำเช่นนี้จนหมดกิ่ง ในการลอกแต่ละครั้งจะมีเศษของเปลือกซึ่งไม่สามารถลอกให้เป็นแผ่นได้ เช่น ตามรอยข้อของกิ่งหรือปุ่มปม ส่วนนี้จะใช้บรรจุอยู่ในเปลือกที่ลอกได้อีกครั้ง ในการตัดกิ่งแต่ละครั้งควรลอกให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว ถ้าทิ้งข้ามวันจะทำให้ลอกเปลือกยาก

การบ่ม และการม้วนเป็นแท่ง (quill)

นำเปลือกที่ลอกได้มามัดเป็นกำและห่อด้วยกระสอบป่านเพื่อเก็บความชื้นและทิ้งไว้ในร่ม 1 คืน เพื่อบ่มให้เปลือกเกิดการเหี่ยวและหดตัว นำเปลือกที่เป็นแผ่นสมบูรณ์เรียงซ้อนเกยต่อๆ กัน โดยใช้ปลายเล็กซ้อนปลายใหญ่ และใช้เศษเปลือกที่ลอกได้ชิ้นเล็กๆ บรรจุภายในเปลือกเรียงต่อกันไปจนได้ความยาวแท่งประมาณ 42 นิ้ว ใช้มือคลึงม้วนให้เป็นแท่งตรง ลักษณะการม้วนตัวของเปลือกแห้งนี้เรียกว่า quill ผึ่งในร่มที่มีลมโกรกดี และหมั่นนำมานวดคลึงและกดให้แน่นทุกวันจนแห้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน อบเชยจึงแห้งสนิท ไม่ควรนำไปตากแดดในช่วงนี้ เพราะจะทำให้เปลือกแห้งเร็วเกินไป และเกิดการโก่งงอไม่เป็นแท่งตรง ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ดี หลังจากนั้น นำแท่งอบเชยนี้ไปตากแดดอีก 1 วัน เพื่อให้แห้งสนิท โดยใช้กระสอบป่านคลุมเพื่อป้องกันความร้อนที่อาจมีผลต่อน้ำมันหอมระเหยได้

ผลผลิตเปลือกอบเชยแห้ง 8-10 กิโลกรัม ต่อไร่ เปลือกที่ลอกออกจากส่วนกลางของลำต้นที่ขึ้นอยู่บริเวณกลางของกอ จะให้อบเชยแห้งที่มีคุณภาพดีที่สุด

ตลาด และคุณภาพ

อบเชย ที่ใช้เพื่อบริโภคในประเทศไทย ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม เป็นต้น ในรูปอบเชยไม่บดหรือป่นและอบเชยบดหรือป่น  เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้แต่งกลิ่นขนม เหล้า เภสัชภัณฑ์ สบู่ ยาขับลม ยาหอม ยานัตถุ์

ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีการส่งออกอบเชย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอบเชยบดหรือป่น  ประเทศคู่ค้าหลักคือ สหรัฐอเมริกา คุณภาพของอบเชยที่ตลาดต้องการขึ้นอยู่กับขนาด ความยาว สี กลิ่น ความสะอาดปราศจากสิ่งเจือปน แมลง และเชื้อราทำลาย มีสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอ ไม่ดำคล้ำ แท่งอบเชยควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีความหนาเปลือกสม่ำเสมอ หากเรามีการปลูกอบเชยได้จะสามารถทดแทนการนำเข้าได้หลายสิบล้านบาท ตลาดและผู้รับซื้อในประเทศ ได้แก่ ตลาดจักรวรรดิ กรุงเทพฯ

การซื้อขายในตลาดโลกนอกจากเปลือกแห้งแล้ว ยังมีน้ำมันอบเชยเทศ (Cinnamon bark oil) ได้จากเปลือกอบเชยเทศ นำมากลั่นด้วยไอน้ำ ให้น้ำมันร้อยละ 0.5-1 ใช้แต่งกลิ่นขนม เป็นยาขับลม น้ำมันใบอบเชยเทศ (Cinnamon leaf oil) ได้จากใบสดกลั่นด้วยไอน้ำใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและสบู่ เป็นแหล่งที่มาของยูจีนอล (Eugenol) เพื่อนำไปสังเคราะห์สารวานิลลิน (Vanillin) หรือวานิลลาสังเคราะห์

ฝรั่งเชื่อว่า อบเชย เป็นเครื่องเทศที่เหมาะแก่การเชื่อมช่องว่างระหว่างรสหวานและรสเปรี้ยว อบเชยใช้ผสมกับกาแฟ ช็อกโกแลต และชงกินเป็นน้ำชาอบเชย ใส่อบเชยในอาหารหรือเครื่องดื่มบ้าง…ช่วยทำให้รู้สึกมีงานฉลองและหรูหราดี!!

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก ส่วนเพาะชำกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้