เครือ ซีพี แนะภาครัฐใช้มาตรการระยะสั้น-ระยะยาว แก้วิกฤตมะพร้าวล้นตลาด

เครือเจริญโภคภัณฑ์เสนอแนวทางแก้ปัญหามะพร้าวล้นตลาดราคาตกต่ำ ระยะสั้นต้องชะลอหรืองดการนำเข้า หากมีการนำเข้าภาครัฐต้องกำหนดปริมาณการนำเข้า เร่งใช้สต๊อกเก่าให้หมดก่อน ระยะยาวควรส่งเสริมเกษตรกรปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนการนำเข้า สนับสนุนการแปรรูปเพื่อส่งออกกะทิ อาหารและขนมไทยไปทั่วโลก เพราะคุณภาพมะพร้าวไทยดีที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก เผยเครือเจริญโภคภัณฑ์พัฒนา “ทับสะแกโมเดล” ส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาสายพันธุ์มะพร้าวให้ได้ผลผลิตเพิ่ม พร้อมรับซื้อเพื่อส่งเป็นวัตถุดิบป้อนบริษัทในเครือผลิตอาหาร

นายขุนศรี ทองย้อย ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่าสถานการณ์มะพร้าวล้นตลาดและราคาตกต่ำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2559 เนื่องจากพื้นที่ปลูกมะพร้าวในประเทศไทยมีเพียง 1 ล้านไร่ ผลผลิตจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลง ในขณะที่ปริมาณการใช้มะพร้าวสูงขึ้น จึงมีการนำเข้าโดยปราศจากการตรวจสอบ จนถึงปัจจุบันมีปริมาณมะพร้าวมากกว่าความต้องการใช้จริงในประเทศ สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวโดยเฉพาะในภาคใต้

เครือเจริญโภคภัณฑ์เล็งเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นสามารถที่จะชะลอการนำเข้าหรืองดการนำเข้า หากมีการนำเข้าต้องกำหนดปริมาณการนำเข้า และที่สำคัญต้องป้องกันการลักลอบนำเข้า เร่งใช้สต๊อกเก่าเพื่อลดซัพพลายในตลาดฯ

ส่วนมาตรการระยะยาว ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวพันธุ์ดี เพื่อลดการนำเข้า โดยการกำหนดโซนนิ่งเพื่อให้ผลผลิตออกมาเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการแปรรูปเพื่อส่งออกกะทิ อาหาร และขนมหวานไทยไปทั่วโลก เนื่องจากคุณภาพกะทิของประเทศไทยเป็นที่ 1 ของโลก ในขณะที่ผลผลิตมีมากเป็นอันดับ 7 ของโลก

ปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ทดลองพัฒนาโครงการ “ทับสะแกโมเดล” จ.ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มดำเนินงานเมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา โดยส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตดี ปัจจุบันสามารถพัฒนาจนได้ผลผลิต 800 กิโลกรัม/ไร่ จากเดิม 500 กิโลกรัม/ไร่ และรับซื้อในราคาที่เป็นธรรมบวกราคาเพิ่มให้อีกหากผลผลิตดีให้น้ำกะทิคุณภาพสูง ผลผลิตที่ได้ป้อนเข้าบริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ และ บจก. ซีพีแรม เพื่อผลิตอาหารคุณภาพดี โดยปัจจุบันมีการรับซื้ออยู่ที่ 50,000 ผล/เดือน ไม่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพมะพร้าวของประเทศไทย

Advertisement