“หญ้าเนเปียร์” สินค้าดาวรุ่งในกลุ่มพืชไร่ ต้องการใช้มากในฟาร์มปศุสัตว์-พืชพลังงาน

การเก็บเกี่ยวหญ้าเนเปียร์ในเชิงอุตสาหกรรม

ที่ผ่านมา เกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการปลูกพืชไร่ทางเลือกหลักเพียง 3 ชนิด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่วนมันสำปะหลัง นำไปผลิตเป็นแป้งมัน เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และส่งออกเป็นบางส่วน สำหรับอ้อย นำไปผลิตเป็นน้ำตาลสูงได้ถึง 11.3 ล้านตัน และใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 2.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ

ปัจจุบัน เมืองไทยมีพืชไร่ตัวเลือกใหม่ คือ “หญ้าเนเปียร์” ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองของหลายฝ่ายว่า หญ้าเนเปียร์ น่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างความร่ำรวยให้แก่เกษตรกไทยได้ในอนาคต เพราะ เกษตรกรสามารถขายหญ้าเนเปียร์ได้ถึง 2 ช่องทาง คือ เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในกลุ่มสัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์น้ำได้แล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลังงานได้อีก โดยใช้หญ้าเนเปียร์หมักร่วมกับมูลสัตว์ทำให้เกิด “พลังงานชีวภาพ” นำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้ม และผลิตกระแสไฟฟ้า

ตลาด “หญ้าเนเปียร์”

อาจารย์สันติ เหลืองทวีผล เจ้าของกิจการ “สันติฟาร์ม” ฟาร์มบราห์มันมาตรฐานของเมืองโคราช ตั้งอยู่เลขที่ 197/1 หมู่ 3 ต.ลาดบัวขาว อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา 30340 ( โทร. 081-955-3549 ) การันตีว่า หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ปลูกดูแลง่าย เพราะเป็นหญ้าลูกผสมที่เกิดจากการคัดเลือก ปรับปรุงพันธุ์จากสถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จนได้สายพันธุ์หญ้าลูกผสม ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง ตอบสนองต่อการให้น้ำและปุ๋ย เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อตัดสดเลี้ยงโค กระบือ

คุณอนันต์ พานิชสมัย เกษตรกรที่ร่ำรวยจากการปลูก “หญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1” ในพื้นที่อำเภอปากช่อง โดยได้สายพันธุ์หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 มาจาก ดร.ไกลาส เขียวทอง คุณอนันต์ เชื่อว่า หญ้าเนเปียร์ มีคุณภาพดีที่สุดในโลก เพราะหญ้าชนิดนี้ ไม่ได้เป็นแค่อาหารเลี้ยงวัวเท่านั้น สามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้หลายชนิด เช่น โคนม โคเนื้อ ประมง ไก่ สุกร ฯลฯ ที่ผ่านมา ซีพี เลี้ยงห่านในอำเภอโชคชัย 4,000 ตัว ก็ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นอาหารเลี้ยงห่าน โดยนำหญ้าเนเปียร์บดผสมกับรำข้าว เมนูนี้ห่านชอบมาก แถมเติบโตเร็วอีกต่างหาก เพราะหญ้าเนเปียร์มีวิตามินที่เป็นประโยชน์หลายชนิด

โดยทั่วไป หญ้าเนเปียร์ ขายในราคา ก.ก.ละ 1.60 บาท ที่ผ่านมา รัฐบาลห้ามปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนฟางก้อนสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ เกษตรกรขายหญ้าเนเปียร์ได้ราคาสูงกว่า 2 บาท/ก.ก. ส่วนช่วงฤดูฝน ฟาร์มปศุสัตว์ส่วนใหญ่นิยมใช้หญ้าสดตามธรรมชาติ เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์แทน ทำให้ตลาดมีความต้องการใช้หญ้าเนเปียร์น้อยลง ก็หันมาผลิตหญ้าเนเปียร์ส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล ในเครือกิจการดับเบิ้ลเอ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอโชคชัย ในราคาตันละ 700 บาท

Advertisement

หากใครมีที่ดินอยู่ใกล้กับแหล่งเลี้ยงโคนม โคเนื้อ แนะนำให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ต้นอ่อน ส่งขายให้กับฟาร์มปศุสัตว์ในท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังปลูกหญ้าเนเปียร์ส่งขายโรงไฟฟ้าชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล ได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ควรเน้นตัดหญ้าต้นแก่ เพื่อป้อนขายโรงงาน ในราคาเฉลี่ยขั้นต้น ไม่ต่ำกว่าตันละ 700 บาท

โรงงานแก๊สชีวภาพ ที่ใช้หญ้าเนเปียร์ กับมูลสัตว์ทุกชนิดเป็นพลังงาน

“หญ้าเนเปียร์” ปลูกดูแลง่าย

Advertisement

ที่ผ่านมา บริษัท คอร์นโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา ตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนคราชสีมา ได้ร่วมกันศึกษาวิจัย และพัฒนาการผลิตและใช้ประโยชน์หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 พบว่า การใช้น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง มาผลิตหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ในการผลิตพืชอาหารสัตว์ และการลดมลภาวะ

ลักษณะทั่วไปของหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นพันธุ์หญ้าอาหารสัตว์ที่มีอายุหลายปี ทรงต้นเป็นกอตั้งตรง สูงประมาณ 2-4 เมตร แตกกอดี มีระบบรากแข็งแรง ชอบดินที่มีการน้ำระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตสูง สัตว์ชอบกิน มีคุณค่าทางอาหารสูง โปรตีนหยาบประมาณ 10-12 % ที่อายุการตัด 60 วัน และทำหญ้าหมักได้ดี ขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ เป็นหญ้าที่ไม่ติดเมล็ด จึงไม่เสี่ยงต่อการเป็นวัชพืช

ดร.ไกลาส เขียวทอง นักวิชาการกรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้วิจัยสายพันธุ์หญ้าสายพันธุ์หญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 กล่าวว่า หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 สามารถปลูกในเขตชลประทานได้ตลอดปี ส่วนพื้นที่ที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ก่อนปลูกให้เตรียมดินโดยการไถกำจัดวัชพืช 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 2,000 กิโลกรัม/ไร่ หรือใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่รองพื้น จากนั้นไถกลบอีก 1 ครั้ง

การเตรียมท่อนพันธุ์จากต้นพันธุ์หญ้าที่มีอายุประมาณ 90 วัน นำต้นพันธุ์มาตัดเป็นท่อนๆ ให้มีข้อติดอยู่ไม่น้อยกว่า ท่อนละ 2 ข้อ ต้นพันธุ์ 1 ต้น ตัดเป็นท่อนพันธุ์ได้ประมาณ 3 ท่อน นำไปขยายพันธุ์ โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 120 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 80 เซนติเมตร ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 400 กิโลกรัม ต่อไร่

หลังการปลูก 2-3 สัปดาห์ ให้กำจัดวัชพืชครั้งแรก จากนั้นควรกำจัดวัชพืชหลังการตัดทุกครั้ง พร้อมกับการใส่ปุ๋ยปรับปรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ตอบสนองต่อการให้น้ำได้ดี หากให้น้ำแบบระบบพ่นฝอยทุก 3-5 วัน หรือปล่อยน้ำเข้าแปลง ทุกๆ 7-10 วัน จะสามารถผลิตหญ้าสดได้ตลอดทั้งปี

เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวหญ้าครั้งแรกเมื่ออายุ 75 วัน จากนั้นตัดใช้ประโยชน์ได้ทุกๆ 60 วัน การปลูกหญ้าในพื้นที่ชลประทาน หรือให้น้ำโดยใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม จะสามารถผลิตหญ้าสดได้ตลอดปี ตัดเกี่ยวหญ้าได้ 5-6 ครั้ง ต่อปี มีผลผลิตน้ำหนักสด ประมาณ 70-80 ตัน ต่อไร่ หรือคิดเป็นน้ำหนักแห้ง ประมาณ 10-12 ตัน ต่อไร่ ต่อปี เพียงพอสำหรับการเลี้ยงโค 5-6 ตัว สามารถลดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เหมาะสำหรับผู้มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์น้อย แต่มีจำนวนสัตว์มาก

คุณภาพทางอาหารสัตว์ หญ้าอายุ 60 วัน มีวัตถุแห้งเฉลี่ย 17.3 เปอร์เซ็นต์ มีโปรตีนเฉลี่ย 10.6 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยรวม 42.6 เปอร์เซ็นต์ และมีคาร์โบไฮเดรตละลายได้ 33.3 เปอร์เซ็นต์ จึงถือว่าเป็นพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี มีคุณค่าอาหารสัตว์สูง เหมาะสำหรับการใช้เลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น โคนม และสามารถนำไปผลิตเป็นพืชหมักได้ดี เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตที่ละลายได้สูง

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ จะใช้เป็นอาหารเลี้ยงโคได้ไม่น้อยกว่า 5 ตัว ตั้งแต่ ปี 2554 เป็นต้นมา กรมปศุสัตว์จึงเร่งรัดกระจายท่อนพันธุ์หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ เน้นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกร และฟาร์มปศุสัตว์ ร่วมกันผลิตหญ้าเชิงบูรณาการ โดยนำน้ำเสียจากอุตสาหกรรมมาปลูกหญ้า ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 5 ด้าน คือ ลดมลภาวะ ลดโลกร้อน ผลิตพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี เพิ่มผลผลิตเนื้อและนม และเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร

หญ้าเนเปียร์ เป็นพืชที่ตอบสนองต่อการให้น้ำและปุ๋ย หากวันนี้เกษตรกรตัดหญ้าเนเปียร์ออกขาย พรุ่งนี้ ต้นหญ้าที่ถูกตัดจะงอกขึ้นมาใหม่ทันที เกษตรกรสามารถตัดต้นหญ้าเนเปียร์ออกขายได้ทุกๆ 2 เดือน แค่ลงทุนปลูกเนเปียร์เพียงครั้งเดียว หากเกษตรกรดูแลจัดการแปลงปลูกอย่างดี สามารถเก็บเกี่ยวหญ้าเนเปียร์ออกขายได้ยาวนานถึง 10 ปี เรียกว่า ให้ผลตอบแทนนานกว่าการทำไร่อ้อยเสียอีก เพราะอ้อยปลูกแค่ 3 ปี ก็ต้องรื้อแปลงทิ้งเพื่อปลูกใหม่ จึงอยากให้เกษตรกรหันมาสนใจปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชเศรษฐกิจตัวเลือกใหม่ในอนาคต