“ยักษ์ส่งออกข้าว” มีสะดุ้ง ถูกโรงสีแย่งแชร์เฉียดล้านตัน

การส่งออกข้าวของประเทศไทยในปี 2561 ได้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเดือดโดยเฉพาะ กลุ่มผู้ส่งออกข้าวหน้าใหม่ที่พัฒนามาจาก”โรงสีข้าว” สามารถ คว้ายอดส่งออกข้าวไปเกือบล้านตัน ชิงเค้กเจ้าตลาดส่งออกข้าวกับ 3 ทหารเสือ “เอเซีย โกลเด้น ไรซ์-นครหลวงฯ-ธนสรรไรซ์” ที่ครองตลาดส่งออกมาอย่างยาวนาน

สำหรับการส่งออกข้าวในปี 2561 ภาพรวมประเทศไทยสามารถส่งออกได้ 11.08 ล้านตันหรือลดลง 5% จากปีก่อนที่ส่งข้าวออกได้ 11.67 ล้านตัน แต่มูลค่าการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 8.3% หรือ 5,619 ล้านเหรียญสหรัฐจากปี 2560 ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 5,187 ล้านเหรียญ โดยการส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากตลาดหลักของ “ข้าวเก่า” ซึ่งเป็นสต๊อกของรัฐบาลโดยเฉพาะตลาดแอฟริกาลดลง เนื่องจากรัฐบาลระบายสต๊อกข้าวเก่าหมดแล้วไทยจึงไม่มีข้าวไปแข่ง

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้ส่งออกข้าวของไทยก็มีการแข่งขันราคากันเองอย่างรุนแรง ระหว่างผู้ส่งออกข้าวหน้าใหม่ ที่พัฒนาขึ้นมาจากโรงสีซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น กับผู้ส่งออกข้าวรายเดิม

จากข้อมูลการส่งออกข้าวรายบริษัทที่ส่งออกสูงสุด 10 อันดับแรก (ดูตารางประกอบ) จะเห็นว่า ผู้ส่งออกรายเก่าหลายรายมียอดการส่งออกข้าวลดลง ยกตัวอย่าง บริษัทเอเซีย โกลเด้น ไรซ์เบอร์ 1 หรือบริษัทนครหลวงค้าข้าวเบอร์ 2 ที่เคยส่งออกข้าวประมาณ 1.7 ล้านตันก็เหลือเพียง 1.5 ล้านตันในปีนี้ ส่วนบริษัทธนสรรไรซ์ ที่เคยทำได้ 1 ล้านตันก็เหลือ 900,000 ตัน ถือเป็นการปรับลดลงทั้งกระดานปี 62 ส่งออก 10 ล้านตัน

ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าปี 2562 สมาคมคาดว่าจะส่งออกข้าวได้เพียง 10 ล้านตัน หรือลดลงจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้เทียบเท่ากับปี 2561 ปริมาณ 11 ล้านตัน โดยเป็นผลมาจากปัจจัยลบโดยเฉพาะ “ค่าบาท” ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าวไทยสูงที่สุดในโลกส่งผลกระทบต่อข้าวที่รับออร์เดอร์ไปแล้วในช่วงไตรมาส 3 ปีก่อนที่ 33 บาท

แต่ขณะนี้อยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากคิดเป็นราคาส่งออกข้าว ข้าวหอมมะลิ 1,200 เหรียญจะหายไป 1,200 บาท ข้าวขาวหายไป 800 บาท ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ส่งออกไทยเองก็มีการแข่งขันกันสูง ซึ่ง ระบบค้าข้าวไทยเป็นระบบเสรีแข่งขันกันได้ แต่ควรมีการดูแลการแข่งขันกันเอง เพราะแต่ละรายต้นทุนไม่เท่ากัน และต้องดูแลเรื่องมาตรฐานส่งออกข้าวด้วย

“ประเด็นเรื่องพันธุ์ข้าวขาวนิ่มของเวียดนามที่มีอายุสั้นและราคาสูงกว่าข้าวขาวไทยทั่วไปตันละ 1,000 บาท จูงใจให้เกษตรกรปลูก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากไทยมีการพัฒนาและรับรองพันธุ์ข้าวล่าช้า เช่น พันธุ์ข้าว กข 79 ผ่านการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการรับรอง ส่วนการออก พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …ก็เป็นเรื่องหนึ่งต้องดูให้รอบคอบ เพราะหากมีการกำหนดบทลงโทษโรงสีที่ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาต้องดูแลด้วยว่าเป็นข้าวพันธุ์อะไร และการบังคับให้มีการตรวจสอบมาตรฐานข้าวเปลือกก็จะกลายเป็นการผลักภาระไปเป็นต้นทุนชาวนาอีก” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

Advertisement

ยักษ์ส่งออกเหนื่อย

Advertisement

นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด หรือ STC ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่าปี 2561 นครหลวงค้าข้าวส่งออกได้ประมาณ 1.5-1.6 ล้านตันหรือลดลงจากปี 2560 เล็กน้อย สาเหตุสำคัญมาจากการแข่งขันของผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายใหม่ที่พัฒนามาจากโรงสี ประกอบกับไทยไม่มีวัตถุดิบข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลไปขาย

สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวปี 2562ขณะนี้ทางผู้ส่งออกเร่งส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์และรอผลสรุปการเจรจาขายข้าวระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) กับคอฟโก้ รัฐบาลจีน แต่ยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ ประกอบกับราคาข้าวในช่วงต้นปีปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อที่รับใหม่ จะต้องมีการปรับราคาสูงขึ้นให้สอดรับกับค่าบาท และต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงินด้วย “การแข่งขันกับรายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง เพราะเป็นวัฏจักรธุรกิจที่เมื่อรายใหม่ขึ้นมาก็ย่อมแข่งขันเพื่อแย่งตลาดจากผู้ส่งออกรายเดิม โดยกลยุทธ์ที่ใช้คือการกำหนดราคาจูงใจ เช่นให้ราคาถูกกว่าก็เป็นเทคนิคที่ใช้กัน”

ด้าน นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 กล่าวว่า ปี 2561 เอเซีย โกลเด้น ไรซ์สามารถส่งออกข้าวได้1,561,851 ตันหรือลดลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลุ่มผู้ส่งออกโรงสีมียอดส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นมาก มีการแข่งขันด้านราคากัน ส่วนเป้าหมายปี 2562 อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะปรับลดลงจากปี 2561 เล็กน้อย

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด คาดการณ์ว่า ปีนี้จะส่งออกได้ระหว่าง 800,000-1 ล้านตัน เพราะการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทางบริษัทได้หันไปทำตลาดข้าวภายในประเทศมากขึ้น

“ปัญหาข้าวเปลือกเวียดนามที่มีการนำมาปลูกจะทำตลาดข้าวไทยเสียหายอย่างมาก เพราะชาวนาไม่รู้ว่าเป็นข้าวอะไร แต่ใช้เวลาปลูกสั้น 90 วันและให้ผลผลิตดีและขายแพงกว่าข้าวเปลือกรวมเกวียนละ 1000 บาทก็สนใจปลูก คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะมีการปลูกข้าวชนิดนี้มากกว่า 100,000 ไร่ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่แก้ไขโดยด่วน และข้าวพันธุ์นี้จะยิ่งปลูกกันมากขึ้น ผมเกรงว่าเวียดนามอาจจะฟ้องร้องไทย ถ้าไทยมีการส่งออกข้าวแบบเดียวกัน ซึ่งมีเมล็ดข้าวใกล้เคียงกับข้าวขาว 10% หรือ 15% ของไทย”

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์