ร้านปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ อีกก้าวเพื่อการพัฒนาเพื่อเกษตรกร

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน พิธีมอบตราสัญลักษณ์และเปิดตลาดนัดปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาสำคัญของการพัฒนาผลผลิตของเกษตรกร นอกจากขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ แล้ว การใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพก็เป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ยปลอม สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ได้คุณภาพ หรือเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการบางรายที่ขาดความซื่อสัตย์

ดังนั้น ในฤดูการผลิต 2559/60 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานของปัจจัยการผลิตตามกฎหมาย และทำหน้าที่ในการดูแลคุณภาพและมาตรฐานของปัจจัยการผลิตตามกฎหมายและหน้าที่ให้การส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรของชาติ ได้เห็นความจำเป็นในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะด้านปัจจัยการผลิต

เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรม และส่งเสริมให้ภาคเอกชนและสถาบันเกษตรกรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร และภายใต้แนวทางประชารัฐ ซึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการผลิตของเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

บรรยากาศของตลาดนัดปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
บรรยากาศของตลาดนัดปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

ทั้งนี้ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีมอบตราสัญลักษณ์และเปิดตลาดนัดปัจจัยการผลิตทางการเกษตร “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 (สวพ.1-8) เร่งมอบป้ายสัญลักษณ์ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“โดยช่วงเปิดตัวโครงการจะมอบป้ายสัญลักษณ์ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐให้กับร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q shop) จำนวนกว่า 2,600 ร้านค้า ร้านค้าเครือข่ายสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 7 สมาคม ประมาณ 500 ร้านค้า รวมถึงร้านของสหกรณ์การเกษตร และร้านสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ที่ผ่านการประเมิน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

ซึ่งจากการให้ข้อมูลของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรชี้ว่า ในช่วงเดือนแรกนี้คาดว่าจะมอบป้ายสัญลักษณ์ฯ ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ร้านค้า ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำตราสัญลักษณ์ไปติดบนผลิตภัณฑ์ และให้ร้านจำหน่ายปัจจัยผลิตนำป้ายสัญลักษณ์ดังกล่าวไปติดตั้งในร้านให้เกษตรกรเห็นเด่นชัด เพื่อช่วยส่งเสริมการขายให้กับผู้ประกอบการ และให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐได้ง่ายขึ้น เพื่อรองรับฤดูกาลผลิต ปี 2559/60 นี้

ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรได้รับปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพแล้ว ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย เนื่องจากสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 7 สมาคม ที่เข้าร่วมโครงการได้มีเจตนารมณ์ที่จะจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพในราคายุติธรรมและถูกกว่าราคาท้องตลาด

“วันแรกที่เปิดตัวโครงการ กรมวิชาการเกษตร ได้มอบป้ายสัญลักษณ์ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐไปแล้วกว่า 1,600 ร้านค้า อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 เดือนนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้มีแผนเร่งตรวจประเมินร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่สมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าส่งเสริมให้เป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐไม่น้อยกว่า 20,000 ร้านค้า จากนั้นจะผลักดันและยกระดับให้เป็น ร้าน Q Shop ต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้เน้นย้ำให้ สวพ. ทั้ง 8 เขต ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งยังแนะนำให้เลือกใช้ปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งใช้อย่างถูกวิธี ปลอดภัย และคุ้มค่าการลงทุน ไม่ใช้เกินความจำเป็น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้น กรมวิชาการเกษตร ยังเร่งประสานกรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมจัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ โดยเบื้องต้นกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเปิดตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ปทุมธานี อุทัยธานี นครราชสีมา ชัยนาท ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ ซึ่งมีแผนดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้สั่งการให้ทุก สวพ. ที่ดูแลพื้นที่จังหวัดดังกล่าว ให้เตรียมความพร้อมสนับสนุนและเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกซื้อและเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงวิธีการใช้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

 

“ขณะเดียวกัน ยังให้จัดแล็บ (Lab) เคลื่อนที่ เพื่อบริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพปัจจัยการผลิตที่นำเข้ามาจำหน่ายในตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้า เกษตรกรที่เข้ามาเลือกซื้อปัจจัยการผลิตในตลาดฯ ประชารัฐ จงมั่นใจได้ว่าได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพแน่นอน หากตรวจพบว่า ปัจจัยการผลิตไม่มีคุณภาพและด้อยมาตรฐาน จะไม่อนุญาตให้นำมาจำหน่ายอย่างเด็ดขาด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในที่สุด