ค่าฝุ่นพุ่ง แต่ชาวไร่อ้อยยังเผา ทนแบกรับต้นทุนแพงไม่ไหว ร้อง ‘รัฐ’ หามาตรการรองรับ

วันที่ 14 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้ประสบกับปัญหามลภาวะเป็นพิษ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงปัญหาไฟป่าที่ลุกลามไหม้ตามสถานที่ต่างๆ เป็นวงกว้าง จนทำให้หลายพื้นที่ประกาศคำสั่งห้ามเผาตอซังข้าว รวมถึงห้ามเผาอ้อย แต่ก็ไม่ได้รับความใส่ใจจากเกษตรกร

จนกระทั่งมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งการจับกุมดำเนินคดีและขอความร่วมมือโรงงานผลิตน้ำตาลในการหักค่าปนเปื้อนจากการเผา ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัวด้วยการจ้างรถตัดอ้อยหรือหาแรงงานเพื่อตัดอ้อยสดส่งโรงงานทดแทนการเผาใบอ้อยก่อนตัด แต่จากคำสั่งดังกล่าวก็ได้เริ่มส่งผลกระทบกับเกษตรกร เนื่องจากทางภาครัฐไม่ได้มีมาตรการรองรับในจุดนี้ก่อนจะออกคำสั่ง

จากการลงพื้นที่สอบถาม นายบุญเลิศ แก้วกลาง เกษตรกรชาวไร่อ้อย อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากคำสั่งห้ามเกษตรกรเผานั้น ส่งผลกระทบกับต้นทุนการปลูกอ้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ออกเพียงคำสั่งแต่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือรองรับ ซึ่งตามจริงเกษตรกรไม่ได้อยากเผา แต่ความจำเป็นในการหาแรงงานตัดอ้อยเป็นปัจจัยหลักที่ต้องมีการเผา

โดยแรงงานที่ตัดอ้อยสดนั้นหายาก เนื่องจากใบอ้อยที่รกต้องใช้เวลาตัดออกแรงงานหลายรายจึงปฏิเสธการตัดอ้อยสดให้ ถึงแม้ราคาอ้อยสดที่ตัดนั้นจะดีกว่าคือ กองละ 10 ลำ ราคา 3 บาท ส่วนตัดที่เผาใบแล้ว กองละ 60-70 ลำ ราคา 5 บาท แต่อ้อยสดจะใช้เวลาตัดนานกว่า โดยแรงงาน 10 คน ตัดอ้อยสด 1 ไร่ ใช้เวลา 1 วัน ส่วนอ้อยที่เผาใบแล้ว 1 วัน จะตัดได้ประมาณ 7-10 ไร่ ส่วนการใช้รถตัดอ้อยมีข้อจำกัดคือปริมาณรถที่มีน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรับตัดในโควต้าเกษตรกรของโรงงานเอง ส่วนเกษตรกรรายย่อยต้องจองคิวกันข้ามปีกว่าจะได้ตัด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นโรงงานก็ปิดหีบหยุดรับซื้อไปแล้ว

เกษตรกรจึงอยากให้ทางภาครัฐหามาตรการที่ชัดเจน ในการช่วยเหลือเกษตรกรในเมื่อขอความร่วมมือห้ามเกษตรกรเผาแล้ว อาทิ การรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนจัดหารถตัดอ้อยให้ หรือการให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ว่างเว้นจากภารกิจประจำให้ออกมาช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงวิกฤตฝุ่นละอองในอากาศเช่นนี้ ซึ่งถ้ามีเพียงคำสั่งห้ามเผา แต่ให้เกษตรกรต่อสู้ด้วยตัวเองก็ยังจะคงมีเกษตรกรฝ่าฝืนคำสั่งอยู่เช่นนี้ตลอดไป ไม่สามารถแก้ไขได้