ค้นหาสุดยอดคนรุ่นใหม่! ดีไซน์ ‘โฟมยางพารา’ เป็นผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต

เพื่อค้นหาสุดยอดนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุโฟมยางพารา รับเบอร์แลนด์ อุทยานการเรียนรู้เกี่ยวกับยางพาราของไทยจึงเปิดรับผลงานประกวด“RUBBERLAND DESIGN CONTEST FUTURE LIVING ปั้นยางให้เป็นงาน” ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา
จนได้ผลงานจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น 277 ชิ้น
ภายใต้คอนเซ็ปต์ Future Living ปั้นยางให้เป็นงาน ผลิตภัณฑ์เพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต โดยกำหนดให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น

อุทยานการเรียนรู้เรื่องยางพารา

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รับเบอร์แลนด์ บอกว่า ภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้ามาทั้งหมด 277 ชิ้น ถือว่าเหนือความคาดหมาย ไม่คิดว่าจะมีทีมส่งเข้ามามากมายขนาดนี้

“ผลงานที่ส่งเข้ามามีความหลากหลายในเรื่องของการออกแบบและได้เห็นถึงความคิดของน้องๆ นักออกแบบที่มองผู้บริโภคแห่งอนาคตผ่านผลงานออกแบบในมุมมองต่างๆ ถือว่าทำการบ้านมาค่อนข้างดีทุกทีม ในส่วนความเข้าใจเรื่องวิถีชีวิตแห่งอนาคต ผมว่าเด็กๆ มีความเข้าใจค่อนข้างดีนะ ในแง่การใช้ชีวิตของคนหลายวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชราที่มีแนวโน้มจะถูกตีกรอบด้วยปัจจัยด้านเวลา พื้นที่ และสิ่งแวดล้อม น้องๆ มีความคิดที่สร้างสรรค์และบางทีมก็เสนอสิ่งที่เรียกว่าไม่คาดคิดก็มี”

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์

ฐวัฒน์บอกอีกว่า ส่วนตัวค่อนข้างพอใจมากกับจำนวนผลงานและคุณภาพของชิ้นงานออกแบบ รู้สึกเลยว่าน้องๆ มีการทำการบ้านค่อนข้างดี และคณาจารย์ของแต่ละสถาบันการศึกษาก็ให้ความสนับสนุนกับโครงการนี้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายก็ว่าได้

เป็นความเห็นของคณะกรรมการที่ดูเหมือนจะเริ่มหนักใจเพราะผลงานทุกชิ้นล้วนแต่มีความน่าสนใจ

“แต่การประเมินผลงานที่จะผ่านเข้ารอบนั้นเราไม่ได้ตัดสินด้วยมุมมองของคนเพียงคนเดียว แต่เราส่งผลงานไปยังหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันประเมิน อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงพาณิชย์ และ TCDC นักวิจัยด้านยางพารา นักออกแบบ นักการตลาด ผู้จัดการฝ่ายผลิต แล้วจึงสรุปคะแนนรวมตามเกณฑ์ที่เรากำหนด” ฐวัฒน์กล่าว

อุทยานการเรียนรู้เรื่องยางพารา

สำหรับผลงานที่ผ่านเข้ารอบจะต้องมีคะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดคือ 1.ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ 30% 2.การคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและสามารถผลิตได้จริง 30% 3.การใช้วัสดุจากโฟมยางพารามากกว่า 60% ของชิ้นงาน 20% 4.ความสามารถต่อยอดทางการตลาดและสร้างแบรนด์ได้ 20%

และในที่สุดผลงานกว่าสองร้อยชิ้นได้ถูกคัดสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในวงการออกแบบมาร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ม.ล.ภาสกร อาภากร หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนานักออกแบบเพื่อการค้า สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการยาง ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ MTEC, ภูเบศ วิทยาสุข เจ้าหน้าที่พัฒนานวัตกรรมอาวุโส ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับกรรมการจากรับเบอร์แลนด์ อีก 2 ท่าน คือ ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รับเบอร์แลนด์ และธนัช ศาลาจันทร์ ผู้จัดการโรงงานรับเบอร์แลนด์

เยาวชนผู้เข้ารอบ เยี่ยมชมและศึกษาเรื่องยางพารา

เหลือเพียง 10 ชิ้นสุดท้าย จากผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ได้แก่ ทีม BassBas จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ทีม DEP’ON สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ทีมfifty thousand สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ทีมGroup มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทีมkids-dd สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ทีม MOTTE มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทีม SIR.PAO มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทีมsum studio สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, Team Idealiving สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และทีม ปริปริสตูดิโอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเตรียมนำเสนอผลงานพร้อมแบบโมเดลต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและสื่อมวลชน ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ก่อนจะถึงวันตัดสินใจมีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะกรรมการคนสำคัญ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์