เกษตรกรหนองบัวลำภู เลี้ยงปลาหมอ ทำตลาดขายเอง ช่วยเพิ่มมูลค่า

ปัจจุบัน การทำเกษตรเป็นเรื่องที่ให้ความสนใจจากประชากรหลากหลายกลุ่มในหลายอาชีพ เพราะจะเห็นได้จากสื่อโซเชียลต่างๆ ที่มีผู้คนในอาชีพต่างๆ กลับบ้านเกิดของตนเองมาใช้พื้นที่บริเวณบ้านให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทำการเกษตรที่ครบวงจรและสร้างรายได้อยู่กับบ้าน ทำให้ไม่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิดไปไกลเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว

คุณสมร พรหมมา

คุณสมร พรหมมา อยู่บ้านเลขที่ 7 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่เริ่มแรกเดิมที่ไม่ได้ยึดอาชีพทางการเกษตรเลยแม้แต่น้อย เมื่อต้องการกลับมาอยู่บ้านเกิดจึงได้กลับมาทำการเกษตรบนพื้นที่ของตนเอง ระหว่างทำบ่อน้ำจึงเกิดความคิดที่อยากจะเลี้ยงปลาหมอ จึงได้เรียนรู้วิธีการต่างๆ จากสื่อโซเชียลเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ พร้อมกับลองผิดลองถูกด้วยตัวเองจนประสบผลสำเร็จ สามารถเกิดเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี

คุณสมร เล่าว่า เมื่อเริ่มต้นมาทำเกษตรใหม่ๆ ในพื้นที่ไม่ได้มีแหล่งน้ำสำหรับใช้ในพื้นที่มากนัก จึงได้ทำการขุดบ่อเพื่อไว้กักเก็บน้ำไว้ใช้ภายในสวน เมื่อได้ปลูกพืชหลายๆ ชนิดแล้วเห็นว่าบ่อน้ำยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่จึงได้เกิดความคิดที่อยากจะนำปลาหมอมาเลี้ยง เพราะประชาชนในพื้นที่นี้ชอบบริโภค จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หาซื้อลูกพันธุ์ปลาหมอเข้ามาเลี้ยงในบ่อน้ำภายในสวนเมื่อประมาณปี 2560

บ่อเลี้ยงในสวน

“ช่วงแรกๆ เลี้ยงแล้วไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไร เพราะเรายังไม่ค่อยรู้เรื่องสายพันธุ์สำหรับเลี้ยงมากนัก เมื่อเกิดประสบการณ์มากขึ้น จึงรู้ว่าพันธุ์ปลาหมอต้องเป็นสายพันธุ์ที่ดี แหล่งผลิตต้องเชื่อถือได้ ไม่โดนหลอก เพราะปลาหมอจะนิยมแปลงเพศให้เป็นตัวเมียทั้งหมด ดังนั้น การเลี้ยงต้องได้สายพันธุ์ที่ดี น้ำดี การจัดการดี ก็จะทำให้การเลี้ยงปลาหมอประสบผลสำเร็จและสร้างผลกำไรได้ไม่ยาก” คุณสมร เล่าถึงที่มา

วิธีการเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลาหมอนั้น คุณสมร บอกว่า หลังจับปลาหมอขายจนหมดแล้ว จะวิดน้ำออกให้แห้งจนหมดบ่อ จากนั้นนำปูนขาวมาโรยให้ทั่วบริเวณพื้นบ่อ ตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน แล้วจึงนำน้ำเข้ามาใส่บ่อ พร้อมกับทำน้ำให้มีไรแดงเกิดขึ้นภายในบ่อสำหรับเป็นอาหารของปลาหมอ เมื่อน้ำมีการปรับสภาพจนเหมาะสมแล้ว จึงนำลูกปลาหมอขนาดไซซ์ 4-6 เซนติเมตร มาใส่เลี้ยงได้ทันที โดยบ่อเลี้ยงอยู่ที่ตารางเมตรละ 50 ตัว

อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยง

“ช่วงแรกที่เลี้ยง ให้ปลากินอาหารเม็ดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 40 ให้กินวันละ 4-5 ครั้ง ต่อวัน ประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อเห็นว่าปากปลาหมอเริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จึงทำการปรับเปลี่ยนเม็ดอาหารให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และเปอร์เซ็นต์โปรตีนของอาหารลดลงมาอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กินช่วงเช้าเย็น เลี้ยงแบบนี้ไปเรื่อย ประมาณ 4-5 เดือน ปลาหมอภายในบ่อก็จะมีขนาดไซซ์ที่พร้อมจับขึ้นมาขายได้” คุณสมร บอก

ส่วนโรคที่จะเกิดขึ้นกับปลาภายในบ่อนั้น คุณสมร บอกว่า ตั้งแต่เลี้ยงมาตลอด 3 ปี ยังไม่เกิดโรคที่สร้างความเสียหายให้กับปลาภายในบ่อ เพราะก่อนนำปลามาเลี้ยงในแต่ละครั้งจะมีการเตรียมบ่อที่ดี และน้ำที่ใช้เลี้ยงมีความสะอาดจึงทำให้การเกิดโรคไม่มีการสะสม

ลูกปลาหมอขนาด 4-6 เซนติเมตร

สำหรับเรื่องการตลาดเพื่อขายปลาหมอที่เลี้ยงในช่วงแรก จะเน้นส่งขายให้กับพ่อค้าที่เข้ามาซื้อหน้าบ่อ แต่ด้วยระยะหลังๆ มา พ่อค้าที่รับซื้อติดต่อให้มาจับไม่ค่อยมา จึงไม่อยากรอเวลานาน ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอาหารเพิ่มขึ้น จึงได้วางแผนโดยนำปลาที่เลี้ยงภายในบ่อไปขายเองที่ตลาดสดทุกวัน โดยบางส่วนขายเป็นปลาหมอสดให้กับลูกค้าที่ต้องการนำไปประกอบอาหารเอง และอีกส่วนจะนำมาแปรรูปทำเป็นปลาหมออบเกลือขายเป็นตัวเพิ่มมูลค่า

“ปลาหมอที่เลี้ยงอายุ 4 เดือน ขนาดไซซ์จะอยู่ที่ 5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม ถ้าช่วงไหนเราเลี้ยงอาหารถึงๆ ปลาก็จะมีไซซ์ขนาดที่ใหญ่ขึ้น การทำตลาด เราก็จะเน้นขายเองตอนนี้ เน้นทยอยขายเองทุกวัน ซึ่งตอนนี้จะเน้นขายเองทำตลาดเองมากกว่า ไม่เน้นส่งขายให้เขามารับซื้อหน้าบ่อเหมือนสมัยก่อน เพราะมองว่าถ้าเรามัวแต่รอเขามารับซื้อเพียงอย่างเดียว ปลาต้องกินอาหารทุกวัน เราก็จะมีแต่ขาดทุน ดังนั้น การทำตลาดเองจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ได้ผลกำไรมากกว่า” คุณสมร บอก

โดยราคาปลาหมอที่นำมานึ่งเกลือมีขนาดตัวที่ใหญ่น่ากิน ราคาขายอยู่ที่ตัวละ 40-50 บาท ส่วนปลาหมดสดขายอยู่ที่ราคา 100 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งการมาทำการตลาดด้วยวิธีนี้ คุณสมร บอกว่า ค่อนข้างดีกว่าให้พ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าบ่อ เพราะปลาหมอที่เลี้ยงสามารถกำหนดราคาขายเองได้

ปล่อยลูกปลาหมอลงบ่อเลี้ยง

จากประสบการณ์ในการทำเกษตรจากคนที่ไม่เคยผ่านการไปดูงานที่ไหนมาก่อน เน้นหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว คุณสมร บอกว่า การทำเกษตรแบบผสมผสานและให้ภายในสวนมีหลายๆ อย่าง ตอบโจทย์กับการทำเกษตรในยุคนี้ เพราะถ้าพืชผลทางการเกษตรอย่างอื่นราคาตกก็ยังมีรายได้ช่องทางอื่นๆ เข้ามารองรับ

“สำหรับผมเวลานี้การทำเกษตรถือว่าเป็นสิ่งที่ผมชอบ และเป็นงานที่ผมรัก เพราะเราทำมากก็ได้มาก ต้องมีใจรักที่จะทำด้วย ดังนั้น มันจะมีอะไรให้เราได้เรียนรู้อยู่ตลอด อย่างการทำเกษตรผสมผสานนี้เหมาะสมมากที่สุด เพราะเราสามารถทำรายได้จากการปลูกพืชได้เสมอ บางชนิดทำให้เกิดรายได้รายวัน รายสัปดาห์ และรายปี หากเรามีการจัดการที่ดี การทำเกษตรก็เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ และสามารถมีเงินเก็บได้ไม่ยาก” คุณสมร บอก

ปลาหมอที่จับไว้เตรียมส่งขายตลาดสด

สนใจเรื่องการเลี้ยงปลาหมอและศึกษาดูงานการทำเกษตรแบบครบวงจร สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมร พรหมมา หมายเลขโทรศัพท์ 086-230-5875

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2564