เกษตรกรเมืองย่าโม เลี้ยงปลากระชังในบ่อดิน ปลาโตดี ทรงสวย ไม่มีกลิ่นโคลน ตลาดต้องการ

การเลี้ยงปลาในบ่อดิน สมัยก่อนผู้บริโภคจะมีความกังวลในเรื่องของกลิ่นโคลนเป็นอย่างมาก ต่อมาเกษตรกรได้มีการพัฒนาการเลี้ยงและได้ศึกษาความรู้ต่างๆ อย่างจริงจัง ส่งผลให้การเลี้ยงปลาในบ่อดินเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และสามารถจำหน่ายเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานมีการรับรองมาตรฐานจีเอพี (GAP) สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ไม่น้อยทีเดียว ต่อมาเมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น เกษตรกรจึงมีการสร้างกลุ่มที่เข้มแข็ง สามารถผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องมีรายได้ไม่ขาดช่วง

คุณทองอยู่ ไหวพริบ

คุณทองอยู่ ไหวพริบ อยู่ที่ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่คร่ำหวอดในเรื่องของการเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม โดยการเลี้ยงที่นี่จะเน้นเลี้ยงในบ่อดิน แต่มีกระชังสำหรับใส่เลี้ยงอีกชั้นหนึ่ง โดยปลาทั้งหมดจะอยู่ภายในกระชัง ปลาสามารถโตดีตามมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ต่อมาเกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ส่งปลาภายในกลุ่มเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เป็นสินค้าที่สร้างได้ให้กับเกษตรกรในย่านนี้ตลอดทั้งปี

คุณทองอยู่ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเริ่มเลี้ยงปลากระชังในบ่อดินเหมือนเช่นทุกวันนี้ สมัยก่อนได้ทำนายึดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ เมื่อทางหน่วยงานของรัฐได้มีนโยบายให้ลดพื้นที่ทำนา เขาได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของตัวเองเพื่อทำเกษตรทางด้านอื่นบ้าง จึงได้นำปลานิลเข้ามาเลี้ยงภายในพื้นที่ เมื่อเลี้ยงมาเรื่อยๆ สามารถสร้างรายได้ที่ดีไม่น้อยทีเดียว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเปลี่ยนมาเลี้ยงปลามากขึ้น และเดินทางไปศึกษาดูงานนำองค์ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงปลานิล มาปรับใช้กับการเลี้ยงปลาในบ่อของเขา

ปลานิลในบ่อที่ผ่านการเลี้ยงจนได้ขนาด

“สมัยก่อนที่ผมเลี้ยงแรกๆ จะเลี้ยงในบ่อดินเลย ปลานิลในช่วงนั้นจะขายไม่ค่อยได้มากนัก เพราะลูกค้าคิดว่าปลาน่าจะมีกลิ่นโคลน เลยไม่กล้าที่จะซื้อปลาจากบ่อไปประกอบอาหาร และปัญหาที่ผมเจอในช่วงแรก จะเป็นปัญหาในเรื่องของปลาไม่ค่อยโต เลี้ยงได้ระยะที่สามารถจับขายได้แล้วก็จริง แต่น้ำหนักอยู่ที่ 300-400 กรัม ทำให้คนเลยไม่ค่อยซื้อ เพราะขนาดไซซ์ไม่ได้มาตรฐานมากนัก จากนั้นผมก็ได้ไปศึกษาดูงานจากหลายพื้นที่ นำมาปรับใช้กับการเลี้ยงของผมเอง มีการสร้างกระชังสำหรับใส่ปลาเลี้ยงแทนการปล่อยลงไปในบ่อดิน พร้อมทั้งทำเครื่องตีน้ำเข้ามาช่วย จึงทำให้ต่อมาการเลี้ยงก็ไม่ติดปัญหาอะไร สามารถเลี้ยงได้ดี จากนั้นได้ขอรับรองมาตรฐานจีเอพี (GAP) ผ่านจนประสบผลสำเร็จ ปลาเป็นที่ต้องการของตลาด” คุณทองอยู่ เล่าถึงที่มาของอาชีพการเลี้ยงปลากระชังในบ่อดิน

การนำปลาที่เลี้ยงมาแปรรูป

การเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในกระชังในบ่อดินนั้น คุณทองอยู่ บอกว่า ถ้ามีแหล่งน้ำที่เพียงพอก็สามารถเลี้ยงได้ไม่มีปัญหา โดยก่อนที่จะนำปลามาเลี้ยงลงในกระชัง จะต้องนำลูกปลาไซซ์ใบมะขามทั้งปลานิลและปลาทับทิมมาอนุบาลลงในบ่อที่เตรียมไว้ โดยอนุบาลให้ปลามีอายุอยู่ที่ 3 เดือน ซึ่งในช่วงที่อนุบาลจะให้ลูกปลากินอาหารที่มีโปรตีน อยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็นเป็นเวลา 2 เดือน หลังจากนั้นอีก 1 เดือน จะขุนอาหารเป็นเวลาวันละ 3 ครั้ง ให้กินเช้า กลางวัน และเย็น

การนำปลาที่เลี้ยงมาแปรรูป

เมื่อปลาที่อนุบาลได้อายุครบ 3 เดือนแล้ว น้ำหนักของปลานิลและปลาทับทิม เฉลี่ยอยู่ที่ 100-150 กรัม ต่อตัว จากนั้นย้ายปลามาเลี้ยงต่อในกระชังที่อยู่ในบ่อดิน โดยกระชังที่ใช้เลี้ยงมีขนาดอยู่ที่ 7×15 เมตร ความลึกอยู่ที่ 2 เมตร ปล่อยปลาเลี้ยงอัตราส่วนอยู่ที่ 1,000-1,100 ตัว ต่อกระชัง พร้อมกับเลี้ยงด้วยอาหารที่มีโปรตีนอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กินวันละ 3 ครั้ง ในช่วงเช้า กลาง และเย็น โดยเลี้ยงในกระชังแบบนี้ไปอีกประมาณ 3-4 เดือน ปลาก็จะได้ขนาดไซซ์ที่พร้อมจำหน่ายได้

“โดยเฉลี่ยปลาที่เราเลี้ยง ตั้งแต่อนุบาลจนไปถึงเป็นปลาไซซ์ใหญ่ ใช้เวลาการเลี้ยงทั้งหมดก็อยู่ที่ 6-7 เดือน ช่วงไหนที่อากาศปิด ผมก็จะเปิดเครื่องตีน้ำเข้ามาช่วย เปิดวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เลี้ยงมาก็ยังไม่มีปัญหาในเรื่องของโรคที่ทำให้ปลาตาย เพราะเรามีการจัดการบ่อที่ค่อนข้างดี หลังจากที่จับปลาส่งขายหมดแล้ว มีการทำความสะอาดบ่อ ตากบ่อทุกครั้ง ตากบ่ออย่างต่ำอยู่ที่ 15 วัน พร้อมกับการฆ่าเชื้อด้วยปูนขาว ทำอยู่แบบนี้สม่ำเสมอ ช่วยทำให้ตัดวงจรเชื้อโรคภายในบ่อได้ดี เมื่อเรามีการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ จึงทำให้การเลี้ยงมีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอพี ลูกค้าก็มั่นใจในการเลี้ยงปลาภายในบ่อของเราเพิ่มขึ้น” คุณทองอยู่ บอก

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลานิลและปลาทับทิมภายในบ่อนั้น คุณทองอยู่ บอกว่า ภายในชุมชนได้มีการรวมกลุ่มกันทำให้สามารถทำจำนวนได้อย่างต่อเนื่อง และหมุนเวียนจับปลาภายในบ่อได้แบบไม่มีสะดุด ทำให้ลูกค้ามั่นใจว่า เมื่อติดต่อเข้ามาภายในกลุ่มนี้แล้ว สามารถได้ปลาที่มีมาตรฐานและมีกำลังผลผลิตที่สามารถส่งขายได้ตลอดทั้งปี และพ่อค้าแม่ค้าที่กลัวในเรื่องของการเลี้ยงสมัยก่อนว่าจะมีกลิ่นโคลน ก็ได้เข้ามาติดต่อขอซื้อไปขายต่อกันอยู่เป็นประจำ

โดยปลากระชังที่เลี้ยงภายในบ่อดิน ตลาดมีส่งตั้งแต่ตลาดนัดทั่วไป ร้านค้าอื่นๆ ตลอดไปจนถึงห้างสรรพสินค้า จึงทำให้ปลากระชังในบ่อของเขาและในกลุ่มสามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ซึ่งปลาภายในบ่อราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท ขนาดไซซ์ต่อตัวทั้งปลานิลและปลาทับทิมไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม หรือเฉลี่ย 1 กระชัง จะได้ปลาน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ตัน

กระชังขนาด 7×15 เมตร ลึก 2 เมตร ภายในบ่อดิน

“ตั้งแต่มาปรับเปลี่ยนเลี้ยงปลากระชังในบ่อดิน การจัดการก็ถือว่าง่ายกว่าการเลี้ยงในบ่อดินเฉยๆ ยิ่งเป็นเรื่องของการจัดการภายในบ่อเลี้ยงนี่ ถือว่าง่ายกว่ามาก ยิ่งหลังๆ มานี่ เรื่องของแรงงานค่อนข้างที่จะขาดแคลน พอได้มาเลี้ยงในกระชังในบ่อดิน ทำให้หมดปัญหาในเรื่องนี้ออกไป แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือเครื่องตีน้ำ ต้องคอยหมั่นตี จะมาช่วยในเรื่องการปรับสมดุลได้ ยิ่งช่วงหน้าฝนก็จะทำให้น้ำไม่เปลี่ยนแปลงมาก ปลาสามารถปรับตัวได้ดี เพราะฉะนั้นก็จะฝากถึง คนที่อยากจะเลี้ยงปลากระชังในบ่อดินให้ประสบผลสำเร็จ ต้องหมั่นศึกษาหาข้อมูลอยู่เสมอ มีพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำที่ดี จากนั้นทำการตลาดให้ต่อเนื่อง โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ก็จะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจ เกษตรกรผู้เลี้ยงก็จะมีรายได้ยั่งยืนได้ไม่ยาก” คุณทองอยู่ แนะนำทิ้งท้าย

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในกระชังในบ่อดิน หรือต้องการศึกษาดูงานและมีปัญหา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณทองอยู่ ไหวพริบ หมายเลขโทรศัพท์ 083-386-8696

เมื่อวันพฤหัสที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2565


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354