ลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง เฒ่าทะเล ต้นแบบการอนุรักษ์ปูม้า อ่าวทุ่งมหา เมืองปะทิว

ครูไพบูลย์ พันธ์เมือง ร้อยเรียงบทกลอนสดุดีลุงจาง ด้วยสำนึกในคุณความดีตอนหนึ่งว่า 

มีปูกินทั้งปีไม่มีสูญ               ดอกผลพูนเป็นเงินตรามหาศาล

ฟุ้งเฟื่องขจรไกลในตำนาน     จากชาวบ้านธรรมดามาเป็นครู

แด่ครูจาง เฟื่องฟุ้งผดุงสิน      แม้ชื่อจางแต่แผ่นดินยังรู้ค่า

อยู่แห่งหนชนไกลคนไปมา     เพื่อเสาะหานักปราชญ์ราษฎร์เดินดิน

“ลุงจาง” ชาวประมงพื้นบ้านป่าชายเลนอ่าวทุ่งมหา จังหวัดชุมพร มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลที่เริ่มเสื่อมโทรมจากการใช้เครื่องมือประมงแบบล้างผลาญ ที่กวาดจับสัตว์น้ำน้อยใหญ่ จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างรุนแรง

ลุงจางใช้ชีวิตผูกพันกับท้องทะเลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในบ้านบ่อฝ้าย เมืองหัวหิน ได้ล่องเรือเลาะเลียบชายฝั่งอ่าวไทยเพื่อหาแหล่งทำกินใหม่ และได้ยึดทำเลชายฝั่งใกล้เกาะเตียบ บริเวณคุ้งอ่าวทุ่งมหา ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ปักหลักตั้งถิ่นเป็นที่อยู่อาศัยทำมาหากินเป็นชาวประมงพื้นบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา และเริ่มตั้ง “กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าชุมชนเกาะเตียบ” ริเริ่ม “ธนาคารปูม้า” เพื่อกระตุ้นสำนึกและจิตวิญญาณด้วยแนวคิด “ฟื้นฟูคู่อนุรักษ์ รู้จักใช้อย่างยั่งยืน” นับเป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม หลายคนนำไปขยายผล จนเกิดเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำกระจายไปทั้งสองฝั่งอ่าวไทย

1463675538

เนื่องจากประมาณปี พ.ศ. 2544-2545 มีเรืออวนลากเข้ามาทำประมงในอ่าวทุ่งมหา โดยใช้ลอบตาถี่ขนาด 1 นิ้ว 2 หุน เป็นเครื่องมือทำลายล้าง เพราะไม่ว่าสัตว์ขนาดใดก็ตาม โดยเฉพาะลูกปูม้าตัวเล็กๆ ในวันอนุบาลก็จะติดมาด้วย ทำให้จำนวนสัตว์น้ำในอ่าวทุ่งมหาลดลงอย่างต่อเนื่อง จนแทบไม่เพียงพอต่อการออกเรือหากินในแต่ละวัน ลุงจาง เคยปรารภว่า

“…ถ้ายังเป็นแบบนี้ ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ เพราะเรามีอาชีพจับปูขาย ลุงมานั่งคิดว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่จะไม่ให้ปูหมดไปมากกว่านี้ เลยมาเห็นปูไข่นอกกระดอง ที่พร้อมจะวางไข่สืบพันธุ์ตัวที่เราจับมาได้ เราน่าจะลองเลี้ยงในกระชังกลางทะเล เพื่อให้ปูปล่อยไข่คืนสู่ทะเล ลุงจึงหาเพื่อนสมาชิกที่ทำอาชีพจับปูเหมือนกัน ทดลองเลี้ยงแม่ปูในกระชัง 1 ลูก หลังจากนั้นก็เพิ่มกระชังขึ้น ร่วมมือกันทำธนาคารปูขึ้น สมาชิกคนไหนจับปูมาได้ ก็เอามาใส่กระชังรวมให้อาหารและเลี้ยงแม่ปู ให้ปล่อยไข่ให้หมดแล้วจึงคืนปูตัวนั้นๆ ให้เจ้าของนำไปขาย…”

ลุงจางเริ่มออกไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อรวบรวมสมาชิกและจัดตั้ง “กลุ่มฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าชุมชนเกาะเตียบ” ขึ้นในปี พ.ศ. 2545 มีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 18 คน

ไม่นานนักชาวประมงเริ่มจับปูม้าได้เพิ่มมากขึ้น บางคนถึงกับออกปากว่า “…ทำประมงมาทั้งชีวิต เห็นแต่ปูตัวใหญ่ๆ ได้พบลูกปูม้าตัวเล็กๆ เพิ่งออกจากไข่ก็คราวนี้เอง…”

ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น เห็นชัดเลยว่านี่คือนิยามของคำว่า “ฟื้นฟูคู่อนุรักษ์ รู้จักใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” หลากหลายผู้คนที่รู้เรื่องราวมักพูดกันติดปากว่า “…ถ้าอยากรู้เรื่องปู ต้องมาดูลุงจาง…”

1463675579

ลุงจาง ฟุ้งเฟื่อง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2483 โดยมี พ่อครื้น นางกุ้ย เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อายุ 28 ปี ได้สมรสกับ นางประเทือง ให้กำเนิดบุตรชาย 2 คน สมจิตร และมนัส

ในวัยเด็กของลุงจางได้เรียนรู้วิถีการดำรงชีพจากพ่อแม่ ทำงานช่วยทางบ้านหาเงินเลี้ยงน้องๆ ทั้งการออกเรือประมงตลอดจนเป็นลูกจ้างทำโป๊ะ วางอวนสารพัดงานเกี่ยวกับประมง ปี 2532 เกิดเหตุการณ์พายุใต้ฝุ่นเกย์ ทำให้บ้านเรือนเสียหาย ลุงจางจึงพาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่บ้านเกาะเตียบ อ่าวทุ่งมหา ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร จนถึงปัจจุบัน

ตลอดชีวิตของลุงจางใช้ชีวิตอย่างสมถะ ตั้งมั่นอยู่บนแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นผู้มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละ เป็น “ครู” ผู้ถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างที่มี ให้กับทุกคนโดยไม่ปิดบังและไม่เรียกร้องค่าตอบแทน นับเป็นชาวประมงที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถตอบแทนคุณแผ่นดิน ด้วยการอุทิศตนฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์ปูม้าและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยปณิธานที่จะรักษาท้องทะเลที่ลุงจางเปรียบเสมอว่าเหมือน “ขุมทรัพย์แห่งชีวิต” ให้คงอยู่เพื่อลูกหลาน แม้ตนเองจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม

ในที่สุดลุงจางก็อำลาโลกด้วยวัย 77 ปี เมื่อวันที่ 1 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 แต่ภูมิปัญญาในการสร้างและแผ่ขยายแนวคิดการสร้างเครื่องมือปกป้องการดำรงชีพของปูม้าจนถึงกระบวนการสร้างธนาคารปู นับเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ที่ลุงจางฝากไว้กับผู้คนและท้องทะเลไทย