มานิตย์ กรุ๊ป ผู้นำตลาด ธุรกิจเพาะเลี้ยงปลานิล

เมื่อเร็วๆ นี้ ฟอร์ด ประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชนเกษตรและผู้นำกลุ่มเกษตรกรร่วม “คาราวาน ฟอร์ด แกร่ง…ทุกงานเกษตร” เดินทางพิสูจน์สมรรถนะรถฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ ที่โดดเด่นด้วยการใช้งานแบบอเนกประสงค์ ขุมพลัง และเทคโนโลยีอันชาญฉลาด เพื่อตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้งานสมบุกสมบันของเกษตรกร พร้อมเจาะลึกแลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนเกษตรและฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเส้นทางกรุงเทพฯ-ราชบุรี-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

ฟอร์ด ประเทศไทย นำคณะเยี่ยมชมกิจการ มานิตย์ กรุ๊ป

มานิตย์ กรุ๊ป

คาราวาน ฟอร์ดกว่า 20 คัน มุ่งตรงไปยัง บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด ที่จังหวัดเพชรบุรี ในเครือ มานิตย์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจเพาะพันธุ์และเลี้ยงสัตว์น้ำแบบครบวงจร โดยให้บริการลูกพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิม ที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร เป็นต้นแบบในการพัฒนาและใช้งานวิจัยมาประยุกต์ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร ทำให้เกิดความยั่งยืนเป็น inovation based BCG economy

“มานิตย์ กรุ๊ป” เกิดจากแนวคิดของ คุณมานิตย์ และ คุณวิภา เหลืองนฤมิตชัย สองสามีภรรยาที่เริ่มต้นการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และเลี้ยงปลาดุกที่ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยส่งต่อกิจการให้ทายาทรุ่นที่ 2 หนึ่งในนั้นก็คือ “คุณอาร์ท-อมร เหลืองนฤมิตชัย” ที่เรียนจบคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันรับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด ธุรกิจเพาะพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิม ปรับปรุงพันธุ์ขายลูกพันธุ์ รวมถึงห้องปฏิบัติการและบริการตรวจโรคสัตว์น้ำ ผลิตลูกพันธุ์ปลานิล ขายในไทยและส่งออกไป สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินเดีย

ลูกพันธุ์ปลานิล

คุณอาร์ทได้น้อมนำแนวคิดเรื่อง การส่งเสริมเผยแพร่การเลี้ยงปลานิลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้กับพสกนิกรชาวไทยเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา ปลานิลนับเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเลิศสำหรับเลี้ยงดูคนไทยแล้ว ปลานิลยังสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนทั่วทั้งประเทศ คุณอาร์ทจึงมุ่งมั่นพัฒนาสายพันธุ์ลูกปลานิลให้มีคุณภาพดี ลงทุนสร้างฟาร์มเพาะขยายพันธุ์ปลาในชื่อ มานิตย์ เจเนติกส์ บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ บ้านเขาสมอระบัง ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

จุดเด่นของปลานิล คือเลี้ยงได้ในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย เติบโตเร็ว ขยายพันธุ์ได้ง่าย ปลาน้ำหนัก 1 ขีด ก็ผสมพันธุ์ได้แล้ว แต่ข้อเสียคือ เมื่อนำปลานิลตัวเมียตัวผู้ไปเลี้ยงสามารถออกลูกได้เต็มบ่อก็จริง แต่มักเกิดปัญหาการแย่งอาหาร นอกจากนี้ ตลาดต้องการปลานิลน้ำหนัก 800 กรัม-1.2 กิโลกรัม แต่ในช่วงที่ปลาตัวเมียฟักไข่ ต้องอมไข่ไว้ในปาก ไม่สามารถกินอาหารได้ ทำให้มีปลาขนาดเล็กกว่าที่ตลาดต้องการ  20-30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน

บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลา

คุณอาร์ทได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำลูกพันธุ์ปลานิลเพศผู้ จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) นำมาทดลองจนมั่นใจจึงขยายพันธุ์ลูกปลานิลพันธุ์เพศผู้ออกจำหน่ายให้แก่เกษตรที่สนใจ โดยพันธุ์ปลาของมานิตย์ ฟาร์ม มีจุดเด่นสำคัญคือ ทรงตัวสวย ขายง่าย ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อแบรนด์ ลูกพันธุ์ปลานิล (SuperBlack) และปลาทับทิม (SuperRed) มีคุณภาพ ได้รับความไว้วางใจในระดับสากล หัวเล็ก ตัวสั้น สันหนา โตไว ต้านทานโรค ทนกับสภาพอากาศร้อน เปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของปลานิลดีขึ้นกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ สามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงให้กับเกษตรกรได้อย่างดี

มานิตย์ กรุ๊ป เชื่อว่า “นวัตกรรมสร้างสรรค์คุณภาพ สู่ความยั่งยืน” เช่น การเลี้ยงปลานิลในระบบ IPRS (In-Pond Raceway System) ซึ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainability) โดยเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ที่ใช้การหมุนเวียนน้ำตลอด 24 ชั่วโมง น้ำมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาโดยใช้แรงดันลมจากอุปกรณ์ให้อากาศ (Blower) ที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ น้ำใช้เลี้ยงปลาจะถูกบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมาก ทำให้ปลาแข็งแรง เนื้อแน่น รสชาติอร่อย แถมยังดูแลจัดการฟาร์มได้ง่ายขึ้น จับปลาโดยไม่ต้องวิดน้ำทั้งบ่อ จับเอาเฉพาะตรงบ่อซีเมนต์ ซึ่งคล้ายกับกระชังเลี้ยงปลา

คุณอมร เหลืองนฤมิตชัย (ซ้าย) มอบพันธุ์ปลาให้ ทิดโส โม้ระเบิด

นอกจากนี้ มานิตย์ กรุ๊ป ยังมีนโยบาย “ลด” การใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารปลา และหันมาใช้ไซโลเป็นที่ “แรก” ของอุตสาหกรรมปลานิล ซึ่งไอเดียการใช้ไซโลบรรจุอาหารแทนการใช้ถุงพลาสติก สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงถึงปีละ 9,000 ถุง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการขนส่งปลาแบบถัง เป็นอีกทางเลือกให้เกษตรกรแทนถุงพลาสติกบรรจุลูกพันธุ์

กล่าวได้ว่า “มานิตย์ กรุ๊ป” เป็นกิจการของคนรุ่นใหม่ ไฟแรงที่ใช้งานวิจัย นวัตกรรมและผลงานวิชาการ ในการจัดการธุรกิจปลานิลครบวงจร ทั้งการผลิตลูกปลานิลครบวงจร การเลี้ยงปลานิล อาหารปลา และระบบการบริหารจัดการที่เน้น BCG ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศคุณภาพ ด้านปลานิลที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย โดยบริษัทมีการผลิตลูกปลาคุณภาพ และระบบการเลี้ยงประสิทธิภาพ ที่ทำให้ได้ปลานิลที่มีคุณภาพและมีห้องแล็บที่ทันสมัย ในการศึกษาวิจัยด้านพันธุกรรม การปรับปรุงพันธุ์ การติดตามวินิจฉัย ตรวจโรคและป้องกันโรคสัตว์น้ำ

มานิตย์ฟาร์มใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ บรรทุกของได้เหลือเฟือ

เคล็ดลับเลี้ยงปลา

ต้นทุนการเลี้ยงปลานิลถือว่าสำคัญที่สุด เพราะปัจจุบัน บางครั้งเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ แต่สามารถควบคุมการจัดการในการเลี้ยงและกำไรได้ เพราะความสำเร็จของเกษตรกร คือความสำเร็จของบริษัท มานิตย์ กรุ๊ป จึงแบ่งปันสาระความรู้เรื่องการบริหารฟาร์มอย่างไรให้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

5 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนปล่อยลูกปลา

1.เพิ่มออกซิเจนในบ่อก่อนปล่อยลูกปลา ควรเปิดใบพัดตีน้ำ 3-4 ชั่วโมง ก่อนปล่อยลูกปลา ปั๊มน้ำหอยโข่ง ควรเปิดเครื่อง 1-2 ชั่วโมง ก่อนปล่อยลูกปลา ออกซิเจนชนิดผง ให้ใช้ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน โรยให้ทั่วบ่อเพื่อเพิ่มออกซิเจนก่อนปล่อยลูกปลา

2.ตรวจคุณภาพน้ำในบ่อก่อนปล่อยลูกปลา คุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลานิลพีเอช (pH) 7.0-8.0 ออกซิเจน มากกว่า 4 ppm อัลคาไลน์ 100-200 ppm แอมโมเนีย น้อยกว่า 1.0 ppm ไนไตรต์ น้อยกว่า 0.1 ppm ไฮโดรเจนซัลไฟด์ น้อยกว่า 0.01 ppm สีน้ำ โปร่งไม่เข้มหรืออ่อนเกินไป อุณหภูมิ 25-32 องศาเซลเซียส

บ่อเลี้ยงปลานิล (ภาพมานิตย์ฟาร์ม)

3.ปล่อยลูกปลาบริเวณเหนือลมของบ่อ บริเวณเหนือลมจะมีของเสียสะสมในบ่อน้อยที่สุด

4.แขวนเกลือแกงเพื่อลดความเครียดลูกปลา และชดเชยการสูญเสียเกลือแร่ในตัวลูกปลา การแขวนเกลือยังสามารถลดความเป็นพิษของแอมโมเนีย ไนไตรต์ในบ่ออีกด้วย แขวนเกลือในอัตรา 120-150 กิโลกรัมต่อไร่ เน้นแขวนในจุดที่ปลาขึ้นกินอาหาร ใส่กระสอบแขวน 3-5 จุดต่อบ่อ เกลือแกงเป็นตัวช่วยที่ดีในการจัดการฟาร์ม เพราะเกลือช่วยกำจัดแบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิตบางชนิด

5.แช่น้ำก่อนปล่อย ปรับอุณหภูมิน้ำในถุงลูกปลาให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด โดยแช่ไว้ 10-15 นาทีก่อนปล่อยลงบ่อ

ลดเชื้อในบ่อด้วยด่างทับทิม ทุกวันนี้ เชื้อโรคในน้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด่างทับทิมเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการลดปริมาณเชื้อโรคในน้ำ โดยนำด่างทับทิมใส่กระสอบแขวนในจุดเหนือลมหรือละลายน้ำสาดบริเวณที่ให้อาหารปลาอัตราส่วนที่ใช้ 2-4 ppm หรือ 3.2-6.4 กิโลกรัมต่อไร่ ที่น้ำลึก 1 เมตร

ปลานิลของมานิตย์ ฟาร์ม กินเก่ง สันหนา มีความแข็งแรงสูง

ภาวะอากาศที่ผันแปรทำให้ปลาน็อกได้ง่ายๆ การเลี้ยงปลาในช่วงฤดูฝน หากเจอสภาพอากาศมืดครึ้มยาวนาน 2-3 วันหรือหลังฝนหยุดตก ควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อคลุกเคล้าน้ำฝนกับน้ำในบ่อให้เข้ากัน ป้องกันการแบ่งชั้นน้ำ เมื่อฝนตกหนักทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลง ปลาจะลดการกินอาหาร ควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หรืองดอาหารในวันที่ฝนตกหนัก โรยปูนขาวรอบคันบ่อ ประมาณ 30-50 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ เมื่อฝนตกจะช่วยปรับ pH น้ำได้ดีขึ้น

การใช้ตาข่ายคลุมกระชัง สามารถเพิ่มอัตรารอดของปลาทับทิม จากสัตว์ผู้ล่า เช่น นก ตัวเงินตัวทอง ฯลฯ โดยใช้เชือกตาข่ายแบบหนา เส้นเหนียว ป้องกันตัวเงินตัวทองกัดขาด

อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมสำหรับปลาในเขตร้อนทั่วไปอยู่ระหว่าง 25-32 องศาเซลเซียส ยิ่งอุณหภูมิสูงการละลายของออกซิเจนในน้ำยิ่งลดลง สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ในช่วงอุณหภูมิน้ำสูง ควรลดปริมาณการให้อาหารให้น้อยลงประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า เพื่อป้องกันอาหารไม่ย่อยในกระเพาะปลา และน้ำเน่าเสีย ซึ่งอาจทำให้ปลาตายได้

เพื่อลดความเสี่ยง ควรลดความหนาแน่นของปลาที่เลี้ยง ป้องกันการขาดออกซิเจน การเลี้ยงปลาในกระชัง ควรย้ายกระชังไปในพื้นที่ทีมีน้ำพอเพียง มีการไหลเวียนของน้ำสม่ำเสมอ พื้นก้นกระชังควรอยู่สูงจากพื้นแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 1 เมตร หมั่นสังเกตอาการของปลาที่เลี้ยงอยู่เสมอ หากพบปลามีอาการผิดปกติหรือตายเป็นจำนวนมาก ควรรีบจับออกจำหน่าย

ใส่ใจทุกขั้นตอนการเลี้ยง คือหนทางสู่ความสำเร็จ การเลี้ยงปลาช่วง “รอยต่อฤดู” สังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของปลา สภาพอากาศที่เย็นลงอย่างรวดเร็วทำให้ปลาปรับสภาพร่างกายไม่ทัน ระบบการเผาผลาญพลังงานของปลาก็ลดต่ำลง ทำให้ความอยากอาหารและการกินอาหารน้อยลง เพราะฉะนั้น เราควรปรับลดปริมาณอาหารให้ทันท่วงที เพื่อเป็นการเซฟต้นทุนและคุณภาพน้ำในการเลี้ยงปลา

สำหรับลูกปลาวัยอ่อนเปรียบได้กับเด็กเล็ก ต้องใช้โปรตีนและสารอาหารอื่นๆ ในการเจริญเติบโตเพื่อสร้างโครงสร้างและกล้ามเนื้อเป็นจำนวนมาก จึงต้องการอาหารที่มีโปรตีนที่สูง ความต้องการโปรตีนเปลี่ยนไปตามขนาดของปลา ปลาเล็กเป็นวัยกำลังเจริญเติบโตต้องการโปรตีนสูงกว่าปลาใหญ่