ปลากะรัง สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ของสตูล

ปลากะรัง หรือมีชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ปลาเก๋า ปลาราปู (ภาคใต้) ในน่านน้ำไทยมีอยู่มากมายหลายชนิดแต่มีไม่กี่ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันนับเป็นสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง เนื้อมีรสชาตอร่อยจึงมักจะเป็นอาหารขึ้นโต๊ะในภัตตาคารชั้นนำทั้งหลาย  นอกจากนี้ปลาชนิดนี้ยังเลี้ยงง่าย โตเร็ว อีกทั้งเป็นที่นิยมรับประทานของชาวต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น

จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่มีการประกอบอาชีพการประมงทุกรูปแบบ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเกาะมาก ถึง 88 เกาะ มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ทำให้สัตว์น้ำจึงมีมาก  มีการแบ่งพื้นที่จับสัตว์น้ำ ให้สามารถอยู่กับได้ร่วมกับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดีขึ้น

 

คุณธนา วิศวฤทธิ์ และครอบครัว

คุณธนา วิศวฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลากะรังบ่อดินบ้านทุ่งสะโบ๊ะ หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งบุหลัง อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เล่าถึงขั้นตอนการเพาะเลี้ยง การเลือกพื้นที่เพาะเลี้ยง รวมถึงการดูแลให้ฟังว่า ปลากะรังเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามซอกหิน ปะการัง ไม่สามารถเข้ามาอาศัยอยู่ในน้ำจืดได้เช่นเดียวกับปลากะพงขาว สถานที่เลี้ยงจึงต้องมีความเค็มตลอดปี  จุดที่จะเพาะเลี้ยงจึงต้องเป็นจุดที่มีกำบังลม ควรมีภูเขาและเกาะแก่งต่างๆ ที่สามารถบังลมได้

ท่อเปลี่ยนถ่ายน้ำ

คุณธนา กล่าวอีกว่า บ่อเพาะเลี้ยง โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ความกว้าง ความยาวจะประมาณ 1 ไร่ ความลึกของบ่อ ประมาณ 1 เมตร 60-70 เซนติเมตร ภายในบ่อจะมีท่อปูซีเมนซ์วางในแต่ละมุม ประมาณ 2-4 ท่อนเพื่อไว้สำหรับปลาได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ภายในบ่อจะมีท่อเพื่อใช้เปลี่ยนถ่ายน้ำเข้า-ออกในช่วงเวลาที่น้ำขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายน้ำแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับสภาพน้ำภายในบ่อทำให้ในระหว่างการเลี้ยงควรตรวจดูบ่ออย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดตะไคร่น้ำหรือมีพวกเพรียงจับมากจนเกินไปก็ควรมีการทำความสะอาดบ่อให้สะอาด

ส่วนอาหารปลาที่ใช้จะเป็นปลาสดซึ่งนำมาหั่นให้พอดีกับขนาดของปากปลาโดยให้อาหาร3-4 วันครั้ง เนื่องจากการเลี้ยงในบ่อดินปลาสามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องให้ทุกวัน และไม่เพียงแต่จะให้เนื้อปลาสด ยังมีอาหารเมล็ดเสริมให้อีกด้วย

อาหารที่ให้ปลา

สำหรับปัญหาในการเพาะเลี้ยง ส่วนใหญ่แล้วจะมีโรค และปรสิต  ลูกปลาช็อกตกใจตายง่าย หาพันธุ์ได้ยาก เนื่องจากการเพาะขยายพันธุ์ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากนี้การรวบรวมพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่แน่นอนและนับวันจะมีปริมาณลดลง อัตราการรอดตายต่ำ เนื่องจากชาวประมงที่จับพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติโดยลอบหรือไซจะส่งผลให้ลูกปลาบอบช้ำ

นอกจากนี้แหล่งเพาะเลี้ยงยังมีจำกัด เนื่องจากน้ำในบริเวณแหล่งเลี้ยงจะต้องมีความเค็มตลอดทั้งปี ซึ่งบริเวณที่เหมาะในการเลี้ยงปลากะรังซึ่งได้แก่ปากแม่น้ำและบริเวณชายฝั่งจะมีความเค็มของน้ำลดต่ำลงในฤดูฝน ส่งผลให้ไม่สามารถเลี้ยงปลากะรังได้ ส่วนบริเวณที่ไม่มีปัญหาเรื่องของความเค็ม ได้แก่บริเวณเกาะแก่งต่างๆ ก็มีปัญหาในเรื่องคลื่นลมแรง การขนส่งอาหารปลา และการคมนาคมที่ไม่สะดวก

 

ปลากะรังตัวโต