ยางเหียง หรือ ชาด สีสัน กลางทุ่งนา

ชื่อสามัญ เหียง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus obtusifolius

วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

 กลางเดือนมกราคม ณ ท้องทุ่งนาใกล้ลานสะแบง ผู้เขียนพบ ดอกเหียง...สีชมพูสดใส บนใบเหียงแห้งที่ปลิดปลิวลงเกลื่อนกลาดบนพื้นดินที่แห้งแล้งโดยบังเอิญ เป็นความสวยงามกลางทุ่งนาที่ไม่อาจมองข้าม จะว่าไปแล้วเจ้าดอกสีชมพูเป็นแฉกๆ นี่ แถวอีสานเรียก “ดอกชาด” ภาคกลางเรียก “ดอกเหียง” มองๆ ดูก็เหมือนกังหัน มองให้ดีก็จะเหมือนเครื่องหมายสวัสดิกะของชาวพุทธฝ่ายมหายาน

ดอกและผลอ่อน

เด็กๆ อีสานใช้ยางเหียงมาเล่นเฮลิคอปเตอร์จากธรรมชาติ ถ้าเป็นเด็กใต้คงไม่พ้นยางนา ทางภาคอีสานนี่ดีนะ กลางทุ่งนาเขาจะเหลือไม้ใหญ่ๆ ไว้ ไม่โค่นต้นไม้ในพื้นที่ทำนาออกหมด ต่างจากที่นาภาคกลาง หรือภูเขาหัวโล้นทางภาคเหนือ…นอกจากดอกสีชมพูแปร๊ดสวยงามแล้ว ยังเป็นไม้ที่คนอีสานนิยมใช้สร้างบ้าน และคอกสัตว์อีกด้วย

เหียง อยู่ในวงศ์ยางนา มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ยางชาด เหียงพลวง เหียงโยน (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านน้อย เรือนยอดเล็กเป็นพุ่มกลมหนา มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินเดีย

เปลือกลำต้น หนา เป็นสีน้ำตาล หรือเทา แตกเป็นสะเก็ดหนา และเป็นร่องลึกตามยาว เนื้อไม้เป็นสีแดงอ่อนถึงสีน้ำตาลปนแดง ตามกิ่งอ่อนและใบมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม

ดอกเหียง

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงแบบสลับกัน ใบรูปไข่ ขนาดของใบ 10-15 x 20-25 เซนติเมตร ฐานใบ และปลายใบกลม เนื้อใบหนา และมีขนสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น พื้นใบจีบเป็นร่องแบบรางน้ำบริเวณเส้นแขนงใบ ใบแก่หลังใบค่อนข้างเกลี้ยง ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม หูใบลักษณะเป็นกาบหุ้ม

ดอก เป็นช่อสั้นๆ แบบช่อแยกแขนง เกิดระหว่างง่ามใบค่อนไปทางปลายกิ่ง ช่อดอกมีกาบหุ้มเมื่อยังอ่อน มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบซ้อนทับกัน ปลายกลีบบิดเวียนแบบกังหัน ดอกสีชมพูเข้ม

เหียงในมือนาง

ผล เป็นผลแห้งแล้วไม่แตก เปลือกผลแข็งติดแน่นอยู่กับเมล็ด มี 5 ปีก ซึ่งเจริญเติบโตมาจากกลีบเลี้ยง ปีกยาว 2 ปีก ขนาด 3-5×10-15 เซนติเมตร ปลายปีกกว้าง และสอบเรียวไปหาโคนปีก ผลกลมเกลี้ยง แข็ง สีน้ำตาล ผิวเป็นมัน เส้นปีก 3 เส้น บนปีกเห็นเด่นชัด ส่วนอีก 3 ปีก สั้นติดกับตัวผล บริเวณโคนปีกใหญ่ ผลแก่สีน้ำตาลเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

เหียง เป็นพรรณไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ในประเทศไทยพบขึ้นเป็นกลุ่มตามป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าสนเขา และตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วทุกภาคของประเทศ แม้แต่ทางภาคใต้ที่มีฝนตกชุกก็พบต้นเหียงขึ้นอยู่ตามป่าชายหาดริมทะเล และป่าทุ่งที่มีดินเป็นกรด และมีกรวดปน

ใบและดอก

เหียง เป็นไม้เด่นที่พบในป่าเต็งรังที่ทางภาคพายัพเรียก “ป่าเพาะ” ทางอีสาน เรียก “ป่าโคก” ตัวอย่างป่าเต็งรัง ได้แก่ พลาญป่าชาด (อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย) จังหวัดอุบลราชธานี บางส่วนเป็นผืนป่าเต็งรังขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยต้นยางเหียง หรือต้นชาด จึงเป็นที่มาของชื่อ “พลาญป่าชาด”

ถ้าอากาศไม่แปรปรวน เหียงจะออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ดอกเมื่อบานเต็มที่จะร่วงลงสู่พื้น กลีบดอกรับประทานได้ เป็นผักชนิดหนึ่งมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ชาวบ้านใช้จิ้มน้ำพริก ยางไม้ใช้ยาเครื่องจักสาน ยาไม้แนวเรือ ทำไต้ ทาไม้ ใบแก่เย็บเป็นตับมุงหลังคา หรือเถียงนา กั้นฝา ห่ออาหาร ฯลฯ

กล้าเหียง

ส่วนเนื้อไม้ ต้นเหียงมีเนื้อไม้สีแดงอ่อนถึงสีน้ำตาลปนแดง เสี้ยนไม้ค่อนข้างตรง เนื้อไม้มีความหยาบแต่สม่ำเสมอ มีความแข็ง เลื่อยผ่าไสกบตกแต่งได้ง่าย สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป เครื่องใช้สอย เครื่องจักสาน และเครื่องมือทางการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนั้น ใบเหียงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำวิจัย “ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน (มูลมัง)” เรื่องการนำใบยางเหียงมาทำกะทอ หรือกะทอเกลือ ซึ่งเป็นเครื่องสานสำหรับใส่เกลือสินเธาว์ นอกจากใบตองชาด (ยางเหียง) แล้ว สามารถใช้ใบตองกุง (พลวง) หรือใบตองสะแบง (ยางกราด) ได้อีกด้วย โดยใช้รองก้น และด้านข้างกะทอแล้วนำเกลืออัดให้แน่นปิดปากกะทอ เก็บไว้สำหรับบริโภคหรือขายต่อไป

เหียงน้อย อายุ 10 วัน

 “ไผว่าอีสานแล้ง สิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง น้ำของไหลอยู่จ้นๆ มันสิแล้งบ่อนจั่งได๋…

ไผว่าเมืองอีสานฮ้าง สิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง วัฒนธรรมยังโจ้โก้ มันสิฮ้างบ่อนจั่งได๋…

ไผว่าอีสานเศร้า สิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง เสียงแคนดังจ้นๆ เสียงพิณห่าวโดดโด่ง…มันสิเศร้าบ่อนจั่งได๋

แปลเป็นภาษาไทย ได้ความว่า…

“ใครว่าอีสานแล้ง จะจูงแขนเขาไปดู น้ำโขงยังไหลแรง มันจะแล้งฤไฉน?

ใครว่าอีสานร้าง จะจูงแขนเขาไปเห็น วัฒนธรรมยังโดดเด่น มันจะร้างฤไฉน?

ใครว่าอีสานเศร้า จะจูงแขนเขาไปฟัง เสียงแคนยังดังก้อง เสียงพิณยังดังไกล มันจะเศร้าฤไฉน?”

(เครดิต : ธีรภาพ โลหิตกุล)

ทรงต้น

อีกไม่นานเกินรอ บทกลอนนี้คงจะเป็นจริง หากใครได้ติดตามข่าวการปลดล็อกไม้หวงห้ามก็จะรู้สึกยินดีเหมือนผู้เขียน ก็ถ้าหากปลูกในที่ดินทำกินแล้วตัดได้ไม่โดนข้อหาใดๆ เมืองไทยก็จะเต็มไปด้วยต้นไม้ล่ะทีนี้…ถ้าใครคิดจะปลูกไม้ใหญ่ ยางเหียง ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งล่ะ เพราะประโยชน์ใช้สอยมากเหลือเกิน

เหียงกลางทุ่งนา

ปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้เพาะเมล็ดยางเหียงไว้นับร้อยต้น และได้แจกจ่ายให้บรรดาคนรักต้นไม้ไปเรียบร้อย ส่วนปีนี้หลังจากได้เห็นต้นจริง และสีชมพูแปร๊ดของดอกแล้ว ก็ตั้งใจว่าจะเพาะให้มากเป็นเท่าตัว จะได้ไปเพิ่มประชากรเหียง…ที่ลานสะแบง สักหน่อย ส่วนที่เหลือก็จะแจกจ่าย…ใครยังไม่มียกมือขึ้น แล้วตะโกนให้สุดเสียงว่า “ยางเหียง”…แล้วผู้เขียนจะมอบต้นกล้ายางเหียงให้ฟรีๆ…หรือติดต่อขอกล้าไม้ได้ที่เฟซบุ๊ก นางไม้แห่งลานสะแบง…สวัสดี

เอกสารอ้างอิง

เหียง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แหล่งที่มา http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=136, วันที่ 19 มกราคม 2562

ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน (มูลมัง) การนำใบยางเหียงมาทำกะทอ หรือกะทอเกลือ. สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แหล่งที่มา http://walai.msu.ac.th/walai/craftcheck.php?DID=5, วันที่ 19 มกราคม 2562

ธีรภาพ โลหิตกุล. 2556. ไผว่าอีสานแล้ง นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 14 มิถุนายน 2556

แหล่งที่มา http://e-shann.com/?p=411, วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562