เผยเทคนิคการขยายพันธุ์กล้วยไม้ ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ธุรกิจการค้ากล้วยไม้โลกมี 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อตัดดอกขาย ประเภทที่สอง เป็นการปลูกเลี้ยงเพื่อขายต้นติดดอก การปลูกเพื่อตัดดอกขายของผู้ปลูกเลี้ยงจากประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้สกุลหวาย รองลงมาเป็นม็อคคารา ออนซิเดียม และแวนด้า ส่วนการส่งออกต้นกล้วยไม้ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส และซิมบิเดียม ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้เขตร้อน อันดับ 1 โดยมีสัดส่วนการส่งออก ประมาณร้อยละ 70 ของโลก ธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาต้นกล้วยไม้ที่ได้มาจากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

เดนโดรเบี้ยม

ประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้

  1. เพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้ ต้นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเด่น เช่น มีดอกสวย บานทน เริ่มแรกได้มาจากธรรมชาติ อดีตที่ผ่านมากล้วยไม้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกกอหรือปักชำ ทำให้ได้ต้นพันธุ์จำนวนไม่เพียงพอต่อระบบธุรกิจการค้ากล้วยไม้ แต่ในปัจจุบันนี้กล้วยไม้สามารถขยายพันธุ์โดยใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชทำให้ได้ต้นพันธุ์จำนวนมากและใช้เวลาไม่นาน ต้นพันธุ์ที่ได้ก็มีความสม่ำเสมอ ให้ผลผลิตสูง มีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่พันธุ์เดิมทุกต้น ธุรกิจการค้ากล้วยไม้โลกจึงเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งขอยกตัวอย่าง กล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสลูกผสม ชื่อต้น Sogo yukidian (P.Taisuco kochdian×P.Yukimai) กล้วยไม้ต้นนี้มีดอกสีขาว การจัดเรียงตัวของดอกเป็นระเบียบ ดอกดก ช่อดอกยาว ไม่มีแขนง เป็นที่นิยมในตลาดการค้ากล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส ทั่วโลกมีความต้องการใช้ต้นพันธุ์มาก ในแต่ละปีจึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อผลิตต้นพันธุ์จำนวนมากให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
  2. เพื่อผลิตกล้วยไม้ปลอดไวรัส เชื้อไวรัสทำให้กล้วยไม้แสดงอาการผิดปกติ เช่น ใบด่าง ดอกด่าง จำนวนดอกลดลง มาตรฐานการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต่ำลง ไม่มีประเทศไหนต้องการกล้วยไม้ติดไวรัส ไวรัสจึงเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญต่อระบบการค้ากล้วยไม้โลก มีไวรัสสำคัญที่ต้องควบคุมป้องกันไม่ให้ติดไปกับกล้วยไม้ อย่างน้อย 3 ชนิด คือ
  3. เชื้อไวรัส Cymbidium mosaic virus
  4. เชื้อไวรัส Odontoglossum ringspot virus และ
  5. เชื้อไวรัส Poty virus
หน่อกล้วยไม้ (คัทลียา และแวนด้า) สําหรับฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์

เชื้อไวรัสเหล่านี้อยู่ภายในต้นกล้วยไม้ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อต้นกล้วยไม้ติดเชื้อแล้วก็อาจทำให้ต้นข้างเคียงติดเชื้อตามไปด้วย เกิดความเสียหายทั้งสวน แต่ในระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้เราสามารถแก้ปัญหาไวรัสในต้นกล้วยไม้ได้โดยการใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญ ที่ได้จากการตัดส่วนปลายยอดกล้วยไม้ ขนาดประมาณ 0.1 ถึง 0.2 มิลลิเมตร การตัดจะต้องกระทำโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยในการตัดส่วนปลายยอด จากนั้นจึงนำส่วนเนื้อเยื่อเจริญมาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ และตรวจสอบความปลอดเชื้อไวรัสด้วยวิธีการทางเซรั่มวิทยา ต้นพันธุ์กล้วยไม้ที่ปลอดเชื้อไวรัสเหล่านี้สามารถนำไปเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณเป็นต้นกล้วยไม้ปลอดไวรัสจำนวนมากได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการ การทำให้กล้วยไม้ปราศจากเชื้อไวรัสเป็นเรื่องยาก จึงอาจจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ได้แก่ การใช้ความร้อนช่วย โดยการปลูกกล้วยไม้ในสภาพอุณหภูมิที่สูงประมาณ 40 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ อุณหภูมิสูงจะไปชะงักการเจริญของเชื้อไวรัส ทำให้ไม่สามารถเจริญได้ที่ส่วนปลายยอด จากนั้นจึงตัดเอาส่วนเนื้อเยื่อเจริญปลายยอดไปเพาะเลี้ยงต่อไป

การฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก้านช่อดอกฟาแลนนอปซิส

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้

  1. การฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ชิ้นส่วนที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้คือ ส่วนหน่ออ่อน หรือก้านช่อดอก เนื่องจากมีส่วนปลายยอดและตาที่สามารถชักนำให้เกิดเป็นต้นอ่อนกล้วยไม้ได้ ชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกทำความสะอาดและฟอกฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียที่ผิวชิ้นส่วน โดยสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์หรือคลอร็อกซ์และทำความสะอาดด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นจึงนําชิ้นส่วนตาและปลายยอดไปเพาะเลี้ยงบนอาหารเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ต่อไป
  2. การเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ ชิ้นส่วนตาหรือปลายยอดของกล้วยไม้ เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงบนอาหารเพาะเลี้ยงและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะสามารถพัฒนาโครงสร้างและเพิ่มปริมาณส่วนขยายพันธุ์ได้หลายลักษณะดังนี้

2.1 เกิดเป็นแคลลัส ส่วนตาหรือส่วนปลายยอดของกล้วยไม้ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารเหลวบนเครื่องเขย่า ซึ่งจะเขย่าในแนวขนานกับพื้นโลก ในอัตราความเร็ว 100 ถึง 160 รอบ ต่อนาที จะทำให้มีอากาศเข้าผสมกับอาหารเพียงพอ ให้ตาหรือปลายยอดมีชีวิตและเจริญเติบโต จากนั้นจะเกิดการแบ่งเซลล์และพัฒนาเป็นก้อนแคลลัสหรือโปรโตคอร์มที่สามารถเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้ โปรโตคอร์มเหล่านี้เมื่อย้ายไปเพาะเลี้ยงบนอาหารแข็งในสภาพแสงธรรมชาติรําไร หรือแสงสังเคราะห์ ความเข้มแสงประมาณ 1,500 ลักซ์ สภาพดังกล่าวสามารถชักนำให้เกิดการพัฒนาเป็นต้นอ่อนกล้วยไม้ขึ้นมาได้ ต้นอ่อนที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะนำไปแยกขนาดเป็นต้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ต้นขนาดใหญ่และกลางจะนำไปปักลงบนอาหาร แบบแถวเรียงเดี่ยวเว้นระยะ เพื่อชักนำให้ต้นกล้วยไม้มีระบบรากสมบูรณ์ โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนต้นขนาดเล็กก็นำไปวางเลี้ยงบนอาหารเพาะเลี้ยงให้เจริญต่อไป เป็นต้นขนาดใหญ่และขนาดกลาง ก่อนนำไปปักลงบนอาหารเพาะเลี้ยงให้เป็นต้นที่สมบูรณ์ และนำออกปลูกในธรรมชาติได้ต่อไป

ลักษณะแคลลัสหรือโปรโตคอร์มสกุลหวาย

2.2 เกิดการยืดยาวของลำต้น (บางท่านเรียกเทคนิค ถั่วงอก) กล้วยไม้บางสกุล เช่น ออนซิเดียม หวาย หรือคัทลียา เมื่อเพาะเลี้ยงในสภาพมืดลำต้นกล้วยไม้จะเกิดการยืดตัว จำนวนข้อและปล้องจะเพิ่มขึ้น การยืดยาวในสภาพมืดนี้สามารถเพิ่มปริมาณต้นกล้วยไม้ได้ประมาณ 3-5 เท่า ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน

2.3 การเกิดหน่อ การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้บางสกุล เช่น สกุลหวายและออนซิเดียม หากนำลำต้นกล้วยไม้มาตัดเป็นท่อนสั้นๆ ให้มีส่วน ตา ติดอยู่ด้วย หรือแยกกอกล้วยไม้เป็นต้นๆ วางนอนบนผิวอาหารเพาะเลี้ยง ในสภาพแสงรําไรก็สามารถชักนำให้ชิ้นส่วนเหล่านั้นเกิดต้นอ่อนกล้วยไม้เพิ่มขึ้นมาได้

  1. สูตรอาหาร อาหารสูตร Vacin และ Went (1949) เป็นอาหารสูตรที่นิยมใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ ประกอบด้วย ธาตุอาหาร น้ำตาล ผงถ่าน และเติมน้ำมะพร้าวอ่อน มันฝรั่ง และกล้วยบด อาหารสูตรนี้จึงมีองค์ประกอบของธาตุอาหารพืช ฮอร์โมน วิตามิน คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไม้ เราสามารถใช้อาหารสูตรนี้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
ลักษณะแคลลัสหรือโปรโตคอร์มสกุลหวาย

กล่าวกันว่าในแต่ละปีประเทศไทยเรามีการผลิตและใช้ต้นพันธุ์กล้วยไม้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ปีละประมาณ 100 ล้านต้น กล้วยไม้ส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ดี อย่างไรก็ตาม กล้วยไม้ยังมีปัญหาจากเชื้อไวรัสและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ต้นแม่พันธุ์กล้วยไม้หากมีเชื้อไวรัสและนำไปขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยไม่ผ่านระบบการตรวจสอบ อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปกับต้นพันธุ์ที่ผลิตออกมา ผู้เขียนเคยพบกับภาคเอกชนที่ผลิตกล้วยไม้เพื่อการส่งออกรายหนึ่ง เขาให้ความสำคัญต่อการควบคุมป้องกันเชื้อไวรัสที่ติดมากับต้นพันธุ์กล้วยไม้ มีการจัดทำระบบป้องกันและตรวจสอบไวรัสอย่างเป็นระบบ โดยจัดทําโรงเรือนเก็บรักษาแม่พันธุ์ที่ปลอดเชื้อไวรัส ตรวจสอบเชื้อไวรัสก่อนนำชิ้นส่วนส่งเข้าห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อซึ่งดำเนินการเอง มีระบบควบคุมศัตรูพืชขณะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ วัตถุประสงค์เพื่อควบคุมป้องกันมิให้ต้นพันธุ์กล้วยไม้มีการติดเชื้อไวรัสและศัตรูพืชที่สําคัญที่เป็นข้อห้ามต่อการส่งออกไปต่างประเทศ เชื้อไวรัสจึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม สำหรับความรู้ทางวิชาการ

ผู้เขียนเชื่อว่าหน่วยราชการไทยมีความพร้อมเพียงพอและหวังว่าคุณภาพสินค้ากล้วยไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยจะมีมาตรฐานสูง รักษาความเป็นที่หนึ่งในวงการกล้วยไม้ตัดดอกเขตร้อนได้ตลอดไป

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 086-084-6362 FB:Woranut Senivongs Na Ayuthaya

ฟาแลนนอปซิส ชื่อ Sogo yukidian
ต้นพันธุ์กล้วยไม้สภาพต้นสมบูรณแข็งแรงปราศจาคเชื้อไวรัส
ความงามของฟาแลนนอปซิส

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563