จันทน์ผาด่าง สวนบุญยานุช สระบุรี ไม้ประดับราคาขายหลักหมื่น

“จันทน์ผาด่าง” เป็นไม้ประดับที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเมล็ดจันทน์ผาที่เห็นกันทั่วไป มีขนาดต้น สี และใบที่แตกต่างกันจากต้นแม่ โดยเฉพาะใบจะมีลวดลายและสีที่แปลกกว่าจันทน์ผาที่ปลูกเป็นไม้ประดับตามสนามหญ้าและสวนหิน

ด้วยลักษณะของใบ สี และขนาดต้นที่แปลกแตกต่างจากต้นจันทน์ผาเดิม ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจหาซื้อและเพาะเก็บสะสมไว้ดูเล่น ซึ่งในปัจจุบันมีปลูกกันเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากการเพาะขยายพันธุ์ยังค่อนข้างยาก อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะกว่าจะได้ต้นด่างที่มีลักษณะต่างจากต้นแม่ ดังนั้น ปริมาณจึงมีไม่มากเหมือนกับจันทน์ผาที่เห็นวางจำหน่ายอยู่

ลวดลายต้นจันทน์ผาด่าง

คุณมงคลรัตน์ ศรีเอนก อดีตข้าราชการครู เป็นคนหนึ่งที่หันมาให้ความสนใจปลูกจันทน์ผาด่าง โดยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถเก็บรวบรวมจันทน์ผาด่างและแปลกได้มาก

คุณมงคลรัตน์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากลาออกจากการเป็นพ่อพิมพ์ของชาติ ก็มาทำงานเป็นผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกให้กับโรงเรียน จนวันที่ไปประเมินคุณภาพโรงเรียนในจังหวัดนครปฐม ทางโรงเรียนก็ได้ให้ต้นจันทน์ผาพันธุ์ธรรมดามา 8 ต้น ซึ่งตอนนั้นเองตนเองก็ยังไม่ได้สนใจอะไร แต่ก็แบ่งมาปลูกไว้ที่บ้าน

“ผมแบ่งมาปลูก 4 ต้น ซึ่งยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกการดูแล ใช้หลักการปลูกต้นไม้ทั่วไป ปลูกได้ระยะหนึ่งก็ได้มาเจอกับ คุณสุนทร ผู้ผลิตและจำหน่ายจันทน์ผารายใหญ่ พูดคุยหาความรู้ จนวันที่มาที่บ้านทำให้ได้เห็นต้นจันทน์ผาด่าง จึงเกิดความสนใจที่จะปลูกดูบ้าง เพราะเห็นว่าเป็นไม้ประดับที่แปลก และราคาซื้อ-ขายแพงกว่าจันทน์ผาปกติ อย่างต่ำต้นหนึ่งก็หลักหมื่นขึ้นไป”

คุณมงคลรัตน์ตั้งใจรวบรวมและทำการเพาะหาจันทน์ผาด่างเพื่อเก็บสะสมในช่วงปี 52 โดยการเก็บเมล็ดจากต้นจันทน์ผาสายพันธุ์ธรรมดามาเพาะในกระบะเพื่อทำการคัดเลือกหาต้นที่มีลักษณะต่างจากต้นแม่ ซึ่งในการเพาะเมล็ดแต่ละครั้งเปอร์เซ็นต์ที่จะพบต้นด่าง 1 ต้น จะอยู่ประมาณ 1 ใน 10,000 ต้น

วิธีการเพาะเมล็ด คุณมงคลรัตน์ เล่าให้ฟังว่า จะใช้ถาดโฟมขนาดความยาว 60 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 10 เซนติเมตร ใส่ดินผสมใบก้ามปู จากนั้นนำเมล็ดจันทน์ผาที่สุกพร้อมปลูกไปล้างน้ำ บีบเอาเนื้อสีแดงที่หุ้มเมล็ดออกให้เหลือแต่เมล็ดสีขาว เสร็จแล้วล้างน้ำให้สะอาดและนำมาโรยลงบนดินและกลบดินอีกชั้น รดน้ำให้ชุ่ม และนำไปตั้งไว้ในโรงเรือนแสงแดดรำไร ประมาณ 2 สัปดาห์ เมล็ดจะเริ่มงอก ซึ่งช่วงนี้จะสามารถเห็นต้นที่มีความแตกต่างได้ชัดเจน

การปลูกจันทน์ผาด่าง คุณมงคลรัตน์บอกว่าไม่ยาก สามารถปลูกในกระถางและลงดิน ขึ้นอยู่กับผู้ปลูกหากต้องการให้ต้นโตเร็วก็ควรจะปลูกลงดิน เพราะเนื่องจากจันทน์ผาด่างใบจะมีคอร์โรฟิวล์น้อย ส่งผลทำให้โตช้ากว่าประมาณ 3 เท่าตัว แต่หากต้องการปลูกไว้เพื่อตั้งโชว์หรือยังไม่แน่ใจว่าจะปลูกลงดินหรือไม่ ก็สามารถปลูกลงกระถางไว้ก่อนได้

ต้นจันทน์ผาด่างที่เพาะได้

“ต้นที่จะนำมาแยกปลูกลงกระถางจะมีอายุประมาณ 2-3 เดือน นำมาลงกระถาง ขนาด 6 นิ้ว ใช้ดินผสมใบก้ามปูที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายต้นไม้ใส่เป็นวัสดุปลูก กดดินให้แน่น รดน้ำ และนำไปตั้งในโรงเรือน ปล่อยให้รากเดิน เมื่อต้นเริ่มโตก็ให้เปลี่ยกระถางใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมตามขนาดของต้น

การดูแลจะคล้ายกับการดูแลจันทน์ผาทั่วไป ให้น้ำสม่ำเสมอ ไม่ต้องแฉะ (วันเว้นวัน) แต่หากเป็นช่วงฤดูฝนไม่ต้องให้ แต่ควรให้ความชื้นของดินควรอยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

สำหรับโรงเรือนที่ใช้เพาะเลี้ยงควรสร้างให้มีแสงส่องเข้าถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ มีอาการถ่ายเทได้ดี พื้นไม่ควรให้มีน้ำขัง เพื่อเป็นการป้องกันโรคและแมลง ส่วนปุ๋ยจะใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพที่หมักเองผสมกับน้ำรดสลับกับให้ปุ๋ยเคมี” (ในช่วงที่ต้องการเร่งให้ต้นโต)

ต้นกล้าที่เพาะหาต้นด่าง

ส่วนโรคและแมลง ส่วนใหญ่ที่พบ โรคใบจุด ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Phyllostictina psriformis เป็นสาเหตุทำให้ต้นไม้มีการเจริญเติบโตลดลง เนื่องจากใบมีการปรุงอาหารได้น้อย ซึ่งโรคนี้มีปัญหามากกับพืชทุกชนิด ไม่แต่เฉพาะจันทน์ผาเท่านั้น

“ลักษณะอาการของโรคใบจุดที่มีพบจะมีแผลเป็นรูปยาวรีคล้ายกระสวยบนใบ ถ้าเป็นมากบางครั้งแผลจะรวมกันเป็นแผ่น บริเวณตรงกลางแผลจะมีตุ่มนูนสีน้ำตาลดำ เมื่อลูบดูจะรู้สึกสากมือ ซึ่งในเวลาต่อมาตุ่มนูนนี้จะแตกออกมีสปอร์จำนวนมาก ซึ่งจะระบาดในฤดูฝนถึงฤดูหนาว

ส่วนลักษณะแผลที่แสดงให้เห็นจะเป็นจุดกลมสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ขนาดแผลมีได้ตั้งแต่เท่าปลายเข็มหมุดจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 1 เซนติเมตร บางครั้งแผลจะบุ๋มลึกลงไป หรืออาจนูนขึ้นมาเล็กน้อย หรือเป็นสะเก็ดสีดำ เกิดได้ทั้งด้านบนใบและหลังใบ บางทีอาจมีลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือบนใบจะมีอาการเป็นจุดกลมสีเหลือง เห็นได้ชัดเจน จุดกลมเหลืองเหล่านี้บางจุดจะมีสีดำบริเวณกลางและค่อยแผ่ขยายเป็นจุดกลมสีดำทั้งหมด สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดปี

การป้องกันและกำจัด คุณมงคลรัตน์ทำโดยการรวบรวมใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสียหรือฉีดพ่นด้วยยาไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟ หรือยาประเภทคาร์เบนดาซิม เช่น เดอโรซาล”

คุณมงคลรัตน์ ศรีเอนก

คุณมงคลรัตน์ ยังกล่าวต่อว่า การปลูกเลี้ยงจันทน์ผานอกจากที่กล่าวมาแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การให้น้ำ หากน้ำไม่ถึงก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทำให้ใบไม่เกิดสี ที่เคยด่างก็จะเปลี่ยนสภาพค่อยๆ เหี่ยวและแห้งตายในที่สุด

ส่วนเรื่องการจำหน่าย สำหรับคุณมงคลรัตน์ ณ วันนี้ยังตั้งใจจะเพาะและเก็บสะสม แต่ถ้าใครสนใจจริงๆ ให้ลองมาพูดคุยกันก่อน หากมีพันธุ์ที่ซ้ำกันมากๆ ก็พร้อมที่จะแบ่งจำหน่ายครับ

เมล็ดจันทน์ผาที่นำมาเพาะ

“จันทน์ผาเป็นไม้มงคลที่คนนิยมปลูกกัน อีกทั้งมีราคาแพง เช่นต้นที่ปลูกอยู่ ถ้าขายหน่อก็ได้หลักหมื่น อนาคตตลาดก็น่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะด้วยความแปลกที่แตกต่างจากต้นจันทน์ผาทั่วไปที่เห็น และที่สำคัญมีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์เก็บรวบรวมทำเป็นสวนจันทน์ผาแปลก เพื่อทำเป็นแหล่งเรียนรู้เปิดให้เข้ามาศึกษาและชมความแปลกที่หาดูได้ยาก เพราะปัจจุบันมีเฉพาะในบ้านคนรวยเท่านั้น” คุณมงคลรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านใดที่สนใจหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อไปได้ที่ สวนบุญยานุช อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564