“สังคมชาวนา” ล่มสลายนานแล้ว ทุกวันนี้มีแต่ “สังคมผู้ประกอบการในชนบท” เปลี่ยน “จินตนาการประเทศไทย” เข้าใจ “ชนบทที่เป็นจริง”

ปรับปรุงจากคำนำของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในหนังสือ ลืมตาอ้าปาก (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559) ราคา 140 บาท

ล่มสลายนานแล้ว ชนบทดั้งเดิมที่มีกระท่อมชาวนาและคอกควาย แล้วมีชาวนากำลังทำนา แบบ “วันวานยังหวานอยู่” ที่เคยเห็นบนรูปโปสการ์ด ส.ค.ส. ความสัมพันธ์ทางสังคมแนวดิ่ง แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย, เจียมเนื้อเจียมตัว, เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ยอมจำนนต่ออำนาจเหนือ ฯลฯ ก็ลดลงจนเกือบไม่เหลือให้เห็น

ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งที่สำคัญเกิดจากสังคมไทยขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงและศักยภาพทางการเมืองของคนชนบททำให้นโยบายและโครงการต่างๆ เกี่ยวกับชนบททั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือจากบนลงล่าง แทนที่จะยอมให้ชนบทได้ส่วนแบ่งอำนาจ เพื่อให้คนชนบทมีโอกาสและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชนบทในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้ทำให้ระบบการผลิตและระบบสังคมแบบ “สังคมชาวนา” ล่มสลายลง แล้วนำไปสู่การก่อรูปสังคมชนบทรูปแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจเรียกว่า “สังคมผู้ประกอบการในชนบท” (Rural Entrepreneur Society)

นั่นคือ การเกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมแนวระนาบ แทนที่ความสัมพันธ์แนวดิ่งในระบบอุปถัมภ์แบบเดิมที่เคยเป็นความสัมพันธ์หลักของสังคมชาวนา ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางสังคมแนวระนาบเช่นนี้ได้ขยายตัวครอบคลุมสังคมชนบทในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่แล้ว

สังคมผู้ประกอบการในชนบท
“สังคมผู้ประกอบการในชนบท” และการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นเครือข่ายแนวระนาบ ทำให้คนชนบทจำนวนมากเกิดความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด กล่าวคือ คนชนบทได้ให้ความหมายต่อตัวเองและสังคมรอบด้านแตกต่างมากไปจากเดิม

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้คนในชนบทมองเห็นและให้ความสำคัญแก่ความเท่าเทียมกันมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็จินตนาการเชื่อมต่อความหมายใหม่เกี่ยวกับตนเองเข้ากับกลไกอำนาจรัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

กาดงัว อ. สันป่าตอง จ. เชียงใหม่ (ภาพจาก http://www.reviewchiangmai.com)
ชาวนาเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ประกอบการค้ารายย่อย ดูได้จากตลาดนัด อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย (ภาพจาก http://www.thinisrichiangmai.com/talat/talatnat.html)

ซึ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของความคาดหวังที่คนชนบทมีต่อรัฐส่วนกลางและรัฐท้องถิ่น โดยหวังให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลและส่งเสริมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อตอบสนองปัญหาและความต้องการใหม่ๆ ในชีวิตตนเองและครอบครัว กระบวนการความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ “ผู้ประกอบการในชนบท” จำนวนมากเคลื่อนย้ายตนเองเข้ามาสัมพันธ์กับการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

พื้นที่สาธารณะแบบใหม่
การที่ผู้ประกอบการในชนบทเข้าสู่การแข่งขันในการเมืองท้องถิ่น ได้ก่อให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการที่เข้ามาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นกับคนในชนบทอื่นๆ ในลักษณะใหม่ เพราะนักการเมืองท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องถักสานความสัมพันธ์กับคนในชุมชนที่สอดคล้องกับชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของชนบท จึงทำให้เกิดการสร้าง “พื้นที่สาธารณะแบบใหม่” (New Public Space) ขึ้นเพื่อรองรับผู้คนในชุมชน

ถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวในการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนชนบทได้เข้ามาร่วมกันสร้าง ซึ่งกลายเป็นสมบัติชุมชนในลักษณะใหม่ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ “ดิน น้ำ ป่า” แบบเดิมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับสังคมภายนอกได้อย่างกว้างขวาง

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นกระบวนการที่คนธรรมดาในพื้นที่ชนบทได้เข้ามาสู่การใช้ชีวิตในพื้นที่การเมืองและพื้นที่สาธารณะใหม่ และได้เข้ามามีส่วนแบ่งในการจัดสรรทรัพยากรส่วนกลางมากขึ้นกว่าเดิมมาก จนกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการ “ประชาธิปไตยที่เคลื่อนไหว” ในสังคมชนบททั่วประเทศเหล่านี้จะนำไปสู่การคิดแสวงหาแนวทางในการพัฒนาชนบทในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งการเอื้ออำนวยแก่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเอื้อให้แก่การเติบโตไพบูลย์ของระบบ “ประชาธิปไตย” ในสังคมไทย

ตลาดนัด
ปรากฏการณ์ทางสังคมที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้ประกอบการที่สำคัญ และเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ชนบทตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2540 ได้แก่ การสร้างทางเลือกให้แก่ชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย และเป็นทางเลือกให้แก่สังคมด้วย

นั่นคือ การปรับเปลี่ยน “ตลาดแบบจารีต” ของชาวบ้าน ให้กลายเป็น “ตลาดนัด” หรือ “ตลาดชาวบ้าน” ที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง “ตลาดนัด/ตลาดชาวบ้าน” ที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และสามารถจัดได้อาทิตย์ละ 4-5 วัน กระจายไปในที่ต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง ที่สำคัญ ขนาดที่ไม่ใหญ่มากนักนี้ จะมีผู้ขายที่เป็นคนในพื้นที่ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ขายทั้งหมด โดยผู้ขายกลุ่มนี้จะนำเอาพืชผักผลไม้และสิ่งอื่นๆ ที่ผลิตในพื้นที่นั้นๆ มาสู่ตลาด ส่วนผู้ค้า/พ่อค้าประจำอีกร้อยละ 50 ก็ไม่ใช่คนอื่นไกล โดยมากแล้วก็เป็นคนในพื้นที่แถบนั้น เพียงแต่มีเครือข่ายผู้ค้าที่กว้างขวางคอยชักนำให้เข้าถึงแหล่งสินค้าอื่นๆ ที่คนในชุมชนต้องการ

จึงกล่าวได้ว่า “ตลาดนัด/ตลาดชาวบ้าน” ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการซื้อขายในระดับท้องถิ่นที่ไม่กว้างขวางนัก และผู้ค้าเองก็จะไม่เดินทางข้ามไปค้าขายไกลมาก วงจรการไหลเวียนของเงินตราจึงพักค้างอยู่ในระดับท้องถิ่นมากกว่าการซื้อขายสินค้าทั่วไปอย่างที่ผ่านมา

ในหลายกรณี “ตลาดนัด/ตลาดชาวบ้าน” ก็สามารถสร้างเกรดของตนใหม่ได้ด้วยการมุ่งสู่ “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” (Niche Market) เช่น ตลาดพืชผักปลอดสารพิษ (ตลาดเฉพาะนี้ประสบผลสำเร็จในเขตเมืองใหญ่มากกว่าในชนบท) หรือในหลายพื้นที่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่วันติดตลาดนัดอาจมีคนเดินซื้อของเรือนพัน (ในเมืองเชียงใหม่ก็มีตลาดใหม่ที่ใหญ่ขึ้นทันตาหลายแห่ง) รวมทั้ง “ถนนคนเดิน” สำหรับนักท่องเที่ยวที่คนเมืองก็ชอบไปเดินซื้อของ

การขยายตัวของ “ตลาดนัด/ตลาดชาวบ้าน” เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของสังคมไทย ทำให้ชักจูงผู้คนมาเข้าร่วมได้เป็นจำนวนมาก ผู้ซื้อจำนวนมากพึงพอใจกับราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ ผู้ขายประจำก็พึงพอใจกับผลตอบแทน ขณะเดียวกัน ผู้ค้าที่เป็นคนในท้องถิ่นเองก็พึงพอใจที่สามารถเข้าถึงตลาดได้ด้วยตนเอง และพวกเขาก็สามารถนำพืชผักผลไม้ในสวนหลังบ้านที่มีจำนวนไม่มากพอส่งตลาดมาขายทำเงินได้ในตลาดนี้ การขยายตัวอย่างกว้างขวางและดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากมายนี้ ชี้ให้เห็นชัดถึงผลรวมของความเปลี่ยนแปลงจาก “สังคมชาวนา” สู่ “สังคมผู้ประกอบการ”

คึกคัก- บรรยากาศการจับจ่ายสินค้าในตลาดนัดและห้างสรรพสินค้าใน จ. มหาสารคาม เริ่มคึกคักหลังจากมีเงินสะพัดจากโครงการช่วยเหลือชาวนา (ภาพและคำบรรยายจาก ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์-วันพุธที่ 1 มีนาคม 2560 หน้า 23)

ประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต
การทำความเข้าใจและอธิบายประวัติศาสตร์ชนบทใหม่ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับ การทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสลับซับซ้อนในพื้นที่ชนบท และที่สำคัญคือเป็นการเปลี่ยนกรอบคิดในการอธิบายชาวชนบทในปัจจุบัน อันน่าจะเป็นการปูทางให้แก่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทาการเมืองที่กำลังทวีเข้มข้นขึ้น

การรับรู้ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่การรับรู้ “อดีต” เท่านั้น หากแต่เป็นการเข้าใจ “ปัจจุบัน” เพื่อที่จะมองหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในอนาคต ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของปัจจุบัน มากกว่าเป็นเรื่องของ “อดีต” อย่างเช่นที่เข้าใจ แต่เนื่องจากโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยกำหนดให้ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเรื่องราวของ “อดีต” จึงทำให้สังคมไทยขาดศักยภาพในการจัดการกับปัจจุบันไปอย่าง น่าเสียดาย

“อดีต” ของชนบท คือประวัติศาสตร์ชนบทที่คนในพื้นที่ชนบทได้รับรู้ว่าโคตรเหง้าเหล่ากอของตนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนของพวกเขา และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ส่งผลต่อทั้งชีวิตของแต่ละคน และต่อชีวิตของชุมชนของพวกเขาเองอย่างไรบ้าง

การรับรู้และการสร้าง “ประวัติศาสตร์” เช่นนี้ จะทำให้ชีวิตของผู้คนเชื่อมต่อกับชีวิตสาธารณะของชุมชน และขยายออกไปสู่สังคมและชาติได้ในที่สุด

แกนกลางของประวัติศาสตร์จึงเป็นการเชื่อมต่อชีวิตของคนเข้ากับชีวิตของสังคม หากการรับรู้ประวัติศาสตร์ชนิดใดไม่สามารถก่อให้เกิดจินตนาการเชื่อมต่อเช่นนี้ได้ “ประวัติศาสตร์” ชนิดนั้นก็จะหมดความหมายและกลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการรับรู้และอธิบายประวัติศาสตร์ชนบทได้กลายเป็น “โครงการทางการเมือง” ก็ยิ่งทำให้คำอธิบายนั้นหมดพลังในการสร้างความหมายไปในที่สุด

การศึกษาประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อชีวิตผู้คนกับชีวิตของสังคมจะเอื้อให้ทุกคนในประวัติศาสตร์ล้วนมีความหมาย มีบทบาทในการร่วมสร้างสรรค์ “อดีต” ของตน และสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ในอดีต ความรู้ประวัติศาสตร์เช่นนี้จึงจะเป็นการคืน “ประวัติศาสตร์/อดีต” ให้แก่ผู้คนและสังคม ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถจินตนาการถึงความหมายของตนในปัจจุบันนี้ได้ว่าควรทำสิ่งใดให้แก่สังคม