ถั่วเหลืองกับวัยทอง

วัยทอง คือ อะไร

หญิงวัยทอง หรือผู้หญิงในช่วงหมดประจำเดือน ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจส  เตอโรนลดลงโดยทั่วไป ผู้หญิงจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจริงๆ เมื่อประจำเดือนหยุดมาอย่างสิ้นเชิงอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างช่วงอายุ 45-55 ปี เกิดเร็วหรือช้า ขึ้นกับสุขภาพและกรรมพันธุ์ของแต่ละคน ในระยะนี้ผู้หญิงบางคนจะเริ่มมีอาการไม่สุขสบาย เช่น นอนไม่ค่อยหลับ อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ ปวดเมื่อย มีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุบริเวณช่องคลอด (อักเสบ แห้ง) อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน

การดูแลวัยทอง วิธีการรักษาโดยทั่วไป คือการให้ฮอร์โมนทดแทนหรือการใช้ยาบางชนิด อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนทดแทน แม้จะช่วยลดอาการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการได้

การกินอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง ซึ่งมีไอโซฟลาโวน เป็นส่วนประกอบและมีสูตรโครงสร้างคล้ายเอสโตรเจนอย่างสม่ำเสมอ จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้หญิงที่ไม่ต้องการใช้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ แล้วยังอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับฮอร์โมน รวมทั้งลดระดับไขมันในเลือดได้ มีการศึกษาจำนวนมากที่บ่งชี้ว่า การกินโปรตีนถั่วเหลืองที่มีไอโซฟลาโวนหรือการเสริมไอโซฟลาโวน สามารถเพิ่มความหนาแน่นของกระดูและลดอาการร้อนวูบวาบที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือนได้

ข้อมูลงานวิจัย มีหลายการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่รับประทานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมากทั้งในแง่ปริมาณรวมของถั่วเหลืองและที่มีปริมาณไอโซฟลาโวน ตั้งแต่ 35-134 มิลลิกรัม ต่อวัน ทั้งในรูปของแป้งถั่วเหลือง โปรตีนถั่วเหลือง หรือสกัดใส่แคปซูล จะมีผลช่วยลดกลุ่มอาการที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ (hot flashes) อาการนอนไม่หลับ กังวล ซึมเศร้า ช่องคลอดแห้ง นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในชาวญี่ปุ่นที่รับประทานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองที่มีปริมาณโปรตีนของถั่วเหลืองสูง (β-Conglycinin 4-8 กรัม ต่อวัน) สามารถลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในผู้ที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด 100 mg/dL ได้ และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มีผลช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผลต่อการเรียนรู้และจดจำ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

 วิธีรับประทาน

ปริมาณไอโซฟลาโวนที่แนะนำ คือ 50-100 มิลลิกรัม ต่อวัน เทียบเท่ากับ น้ำถั่วเหลืองประมาณวันละ 2-4 แก้ว หรือเต้าหู้ประมาณวันละ 2-4 ก้อน

อย่างไรก็ตาม หากท่านเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน แต่ไม่มีอาการวัยทองดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกินอาหารเพื่อทดแทนฮอร์โมน โดยสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์หลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็เป็นวิธีปฏิบัติที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ

 

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ.2563