เปิดเช็กอินแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านน้ำราบ ชุมชนทำประมงพื้นบ้าน

“บ้านน้ำราบ” เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เดิมมีชื่อเรียกว่า “บ้านน้ำรอบ” เนื่องจากบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยล้อมรอบไปด้วยน้ำทุกทิศทาง ที่นี่มีทั้งสวน มีป่า มีเขา มีทะเล และมีทรัพยากรป่าชายเลนผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด เช่น ปู ปลา ปลาหมึก จึงทำให้การทำประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ ต่อมาได้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ มีสมาชิกจำนวน 237 คน และได้อาศัยจุดแข็งของชุมชนพัฒนาเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้คนในชุมชน

คุณหลงเฝียะ บางสัก หรือ บังเดียะ ประธานวิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ

คุณหลงเฝียะ บางสัก หรือ บังเดียะ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ เล่าว่า เมื่อก่อนพื้นที่แห่งนี้ ชุมชนมีการต่อสู้กันต่างๆ มากมาย ในเรื่องของป่าชายเลน แม่น้ำลำคลอง กับเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันหมดไปแล้ว ชาวบ้านมีแต่ความตระหนัก ความหวงแหน และการฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งป่าชายเลนที่ชุมชนได้ดูแลอยู่มีทั้งหมด 3,200 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่เป็นป่ากันลม ป่ากันคลื่น เขตอภัยทาน และพื้นที่อยู่อาศัย

กิจกรรมล่องแพชมป่าโกงกางและศึกษาวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน

การรวมตัวกันของชาวประมงที่ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กลายเป็นแนวความคิดที่ได้แพร่หลายไปสู่ชุมชนใกล้เคียง ที่เรียกว่า “เขตเลเสบ้าน” หรือเขตทะเลสี่หมู่บ้านที่ประกอบไปด้วย บ้านน้ำราบ บ้านควนตุ้งกู บ้านฉางหลาง และบ้านเกาะมุกด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและร่วมกันแก้ปัญหาการใช้เครื่องมือทำลายล้างต่างๆ ส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านเชิงอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมผลักดันนโยบายและกฎหมายคุ้มครองสิทธิการทำประมงและควบคุมการใช้เครื่องมือทำลายล้าง โดยทั้ง 4 หมู่บ้านได้มีข้อตกลงร่วมกันเป็นกติกาชุมชน ดังนี้

กิจกรรมล่องแพชมป่าโกงกางและศึกษาวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน
  1. ห้ามทำประมงด้วยอวนรุน อวนลาก อวนประกอบเครื่องมือกระทุ้งน้ำ อวนชัก อวนทับตลิ่ง ระเบิด ยาเบื่อ เบ็ดราไว ลอบหรือไซที่ตาอวนต่ำกว่า 2 นิ้ว
  2. การจำกัดและห้ามทำประมงตามช่วงเวลา ตามฤดูกาลในบางพื้นที่
  3. ร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรวม
  4. ป่าชายเลนชุมชน การดูแลรักษาและรักษาประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎกติกาของชุมชน

การท่องเที่ยวของชุมชน เกิดขึ้นหลังจากที่ชุมชนได้เล็งเห็นว่าการทำกิจกรรมการอนุรักษ์ในแต่ละครั้งนั้น ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางกลุ่มไม่ได้คาดหวังพึ่งงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว จึงได้ร่วมกันจัดทำการท่องเที่ยวของชุมชนขึ้น โดยให้ชุมชนได้จัดการบริหารธุรกิจท่องเที่ยวด้วยตัวเอง เพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่คนในชุมชน และรายได้ส่วนหนึ่งก็หักเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน

จุดเช็กอินท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านน้ำราบ

กิจกรรมที่น่าสนใจของที่นี่ประกอบด้วย 7 กิจกรรมหลัก คือ

เกาะรูปหัวใจ ที่ล้อมรอบด้วยผืนป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์ 3,200 ไร่
  1. การล่องเรือ ล่องแพ ชมป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ บนผืนป่านับ 3,200 ไร่ ชมอุโมงค์ป่าโกงกาง ศึกษาธรรมชาติและวิถีประมงพื้นบ้าน
  2. กิจกรรมผจญภัยปีนและชมวิวเขาชมป่าแบบ 360 องศา เป็นผืนป่าโกงกางสลับภูเขาไกลสุดลูกหูลูกตา มองเห็นเกาะจากด้านบนที่มีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ
  3. ชมทะเลแหวกที่มีขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอลและเล่นน้ำริมหาดทรายสีขาว
  4. ทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น เก็บขยะทางทะเล ปล่อยพันธุ์ปลา พันธุ์ลูกปูม้า ปลูกหญ้าทะเล เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและอาหารของพะยูน
  5. รับประทานอาหารซีฟู้ด ทั้งปูม้า ปลาหมึก ปลาเผา และอื่นๆ แบบสดๆ จากทะเล ที่มีรสชาติถูกปาก
  6. เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ชุมชน มีทั้งกิจกรรมการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและหญ้าทะเล การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และการบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชน
  7. การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เช่น ปลาเค็มกางมุ้ง กะปิกุ้งเคย เป็นต้น

สำหรับอัตราค่าบริการการท่องเที่ยวแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ
  1. ล่องแพพร้อมอาหาร เริ่มต้นที่ 5 คน อัตราค่าบริการคนละ 1,380 บาท แต่ถ้าหาก 25 คนขึ้นไป อัตราค่าบริการคนละ 480 บาท
  2. ค่าบริการเหมาแพ ขนาดใหญ่นั่งได้ไม่เกิน 60 คน อัตราค่าบริการลำละ 6,000 บาท แพขนาดกลาง นั่งได้ไม่เกิน 30 คน อัตราค่าบริการลำละ 5,000 บาท และแพขนาดเล็ก นั่งได้ไม่เกิน 15 คน อัตราค่าบริการลำละ 3,000 บาท โดยทั้งหมดไม่รวมค่าอาหารและเครื่องดื่ม
  3. ค่าบริการเหมาเรือหางยาว นั่งได้ไม่เกิน 9 คน อัตราค่าบริการลำละ 1,500 บาท ไม่รวมค่าอาหารและเครื่องดื่ม

นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวส่วนใหญ่จะมาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และ 3 และจะนำไปบอกต่อๆ กันว่าที่นี่บรรยากาศดี มีทรัพยากรป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ และมีอาหารทะเลที่สด สะอาด และรสชาติถูกปาก ซึ่งนอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวบ้านแล้ว ยังเกิดผลดีเป็นรูปธรรม ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ตระหนักและหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง

จุดเรียนรู้การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และ

คุณสรวง พรหมบุญทอง เกษตรอำเภอกันตัง กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ เป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนด้านการท่องเที่ยวของอำเภอกันตัง ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง โดยสำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และเครือข่าย ทั้งการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน การพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกร และการเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวและยกระดับการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก และต่อยอดไปสู่ระดับธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไป

การอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านน้ำราบ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะมาสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยววิถีเกษตร ที่บ้านน้ำราบ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เบอร์โทรศัพท์ 075-251-742 หรือ คุณหลงเฝียะ บางสัก หรือ บังเดียะ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ หมู่ที่ 4 ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เบอร์โทรศัพท์มือถือ 084-629-7971 

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2565