‘บ้านไม้รูด’ สัมผัสวิถีชุมชนประมง สุดทางตะวันออก

การท่องเที่ยวของไทยหลายพื้นที่ขึ้นชื่อในหมู่ชาวต่างชาติ การพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับการเติบโตของการท่องเที่ยวย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การพัฒนานั้นยั่งยืน เช่นที่ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง หรือ อพท.1 เข้าไปร่วมพัฒนาศักยภาพ ชุมชนบ้านไม้รูด ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

บ้านไม้รูดเป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ติดชายแดนประเทศกัมพูชา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

สุรศักดิ์ อินทรประเสริฐ นายก อบต.บ้านไม้รูด เล่าว่า ตำบลไม้รูดและอำเภอคลองใหญ่ ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อปี 2557 มีพื้นที่เชื่อมโยงกับกัมพูชา โดย จ.ตราดกำหนดจุดยืนตัวเองว่าเป็นจังหวัดบริการไม่ใช่อุตสาหกรรม เป็น “กรีนซิตี้” เน้นธุรกิจสีเขียว

“ชุมชนแถวนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง เราจึงจับเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ชาวประมงที่มีความเสี่ยงทางอาชีพจากรายได้ที่ไม่มั่นคง ได้มีรายได้เพิ่ม การส่งเสริมการท่องเที่ยวชมุชน จะทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น ด้วยทรัพยากรที่มีทั้งในทะเลและบนบก เรามีโลมาที่สำรวจได้ 200-400 ตัว พบเห็นได้จากบนฝั่ง วันที่อากาศดี จะพบฝูงโลมาเล่นน้ำหน้าหาดบานชื่น นอกจากนี้ เราได้สร้างสำนึกกับชุมชนชาวประมง เราร่วมกันทำธนาคารปูม้า เพื่อรักษาจำนวนสัตว์น้ำ รวมถึงที่นี่ยังเป็นพื้นที่มีประวัติศาสตร์ที่มีการสู้รบ สมัยสงครามอินโดจีน”

แม่ปูจากธนาคารปูม้าที่มีไข่พร้อมเขี่ยออกและนำไปปล่อยสู่ทะเล

ชุมชนบ้านไม้รูด จะมีนักท่องเที่ยวมามากช่วง ต.ค.-พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่มีแมงกะพรุนลอยในทะเลนับแสนตัว เป็นที่ตื่นตาสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมมาถ่ายภาพ

จุดท่องเที่ยวในชุมชนมีอยู่หลายจุด เริ่มจาก หาดทรายสองสี เป็นทรายสีขาวและแดงแบ่งสีชัดเจนอยู่รวมกันบนหาด เนื้อทรายละเอียด สมัยก่อนชาวบ้านใช้ทราบที่นี่นำไปสร้างบ้าน บนหาดมีต้นไม้ 100 ปี ทั้งลำพูและแสม

เดินมาอีกหน่อยจะมี บ่อญวน เวลาน้ำขึ้นน้ำทะเลจะเต็มบ่อ แต่เมื่อน้ำทะเลลงแล้วจะกลายเป็นน้ำจืด ชาวบ้านเล่ากันมาว่าสมัยสงครามอินโดจีน ทหารเวียดนามเข้ามาขุดไว้ ใช้เป็นจุดรวบรวมไพร่พล โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เวลามีงานสำคัญของวัดก็จะนำน้ำจากบ่อนี้ไปใช้ในพิธีต่างๆ

กลับเข้ามาใน ชุมชนชาวประมง ยังคงสภาพชุมชนประมงพื้นที่บ้านที่ไม่ได้จัดเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งหากติดต่อมาที่ชุมชนสามารถร่วมกิจกรรมปล่อยปู เพื่อร่วมสร้างธนาคารปูม้า ที่ช่วยสร้างความสมบูรณ์ทางทรัพยากรของชุมชนได้

ก๋วยเตี๋ยวกั้งของดีเมืองตราด

ทางชุมชนมีการตกลงกันว่า เมื่อจับแม่ปูที่มีไข่เหลืองๆ มาได้ จะนำมาอนุบาล ใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 1 อาทิตย์จนไข่เป็นสีดำ แม่ปู 1 ตัวมีไข่ราว 2 แสนฟอง ธนาคารปูจะรับอนุบาลปูเพื่อปลุกจิตสำนึก เมื่อเขี่ยไข่ออกเสร็จเรียบร้อยจะส่งคืนแม่ปูและเอาลูกปูไปปล่อยคืนทะเล

สุรศักดิ์เล่าว่า ปัจจุบันในชุมชนเริ่มมีการสร้างโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว และริเริ่มกิจกรรมล่องเรือชมหิ่งห้อย ซึ่งรอบชุมชนจะมีหิ่งห้อยเยอะมาก เป็นการชมวิถีชีวิตหมู่บ้านชาวประมง ชมธรรมชาติป่าชายเลน ชมต้นฝาดยักษ์ กิจกรรมล่องเรือชมธรรมชาติจะเริ่มเมื่อหมดฤดูฝนนี้

“เรามีสมาชิก 10 ลำ เรือลำหนึ่งนั่งได้ 5 คน ค่าเรือลำละ 500 บาท ใช้เวลาล่องเรือ 2 ชั่วโมงไป-กลับ จากปากคลองไม้รูดยาว 5 กิโลเมตร สุดที่ต้นน้ำเชิงเขาบรรทัด ชุมชนที่นี่เป็นชุมชนชาวประมง จึงพยายามนำเรื่องการท่องเที่ยวมาเสริม และที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องปูม้าซึ่งจะสดและสะอาด เพราะจับจากพื้นทรายไม่ใช่เลน คุณภาพดี เป็นปูธรรมชาติทั้งหมด ปัจจุบันแต่ยังไม่มีร้านอาหารในชุมชน จึงต้องพยายามริเริ่มให้มีร้านอาหารในชุมชนต่อไป

“ส่วนธนาคารปูม้านั้นทำกันหลายที่ในบ้านไม้รูด บางหมู่บ้านเมื่อเอาไข่ปูออกแล้วนำปูไปขายได้เงินมาหมุนเวียนกัน บางหมู่บ้านก็นำเงินมาแบ่งสมาชิก แล้วแต่ตกลงกัน โดยเริ่มทำกันมา 5 ปีแล้ว เริ่มเห็นผลชัดเจนเมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 จำนวนปูเพิ่มมากขึ้น มีชาวประมงมาจับปูมากขึ้น จาก 3-5 ลำ ตอนนี้มี 10 ลำ ส่วนสัตว์อื่นตอนนี้พยายามวางซั้งเชือกหน้าทะเล ทำความเห็นประชาคมวางเป็นเขตอนุรักษ์ ทำมาแล้ว 200 ชุด ให้เป็นที่อาศัยและขยายพันธุ์ปู ปลา กุ้ง ตกลงกันว่าห้ามจับสัตว์ในเขตซั้ง เมื่อทำแล้วจะเห็นผลทันที มีสัตว์น้ำเยอะขึ้น”

แน่นอนว่าชุมชนไม้รูดอาจจะยังไม่สมบูรณ์พร้อมในด้านการท่องเที่ยว เพราะการพัฒนาเริ่มมาจากชุมชนเอง โดยมีทาง อพท.และ อบต.ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา

แนวทางพัฒนาต่อ นายก อบต.เผยว่า จะคงความเป็นธรรมชาติของหาดทรายสองสีไว้ แต่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สะอาดขึ้น และเพิ่มป้ายให้ชัดเจน สนใจท่องเที่ยวเชิงนิเวศติดต่อได้ที่ สุรศักดิ์ โทร 08-1733-7990
“เมื่อเกิดการท่องเที่ยวชุมชน ชุมชนจะได้มีการพัฒนา ทั้งเรื่องโฮมสเตย์ อาหาร การนำเที่ยว ซึ่งเรามีทรัพยากรที่ดี หลัง อพท.เข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ให้คำปรึกษาในการดูแลระบบและความสะอาดเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”

การพัฒนาต่อจากนี้เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จะต้องให้ชุมชนเป็นหลักในการพัฒนา เพื่อหวังว่าชุมชนจะดูแลการท่องเที่ยวในชุมชนกันเองได้อย่างครบวงจร

ที่มา : ประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน : วัลยา ลาวัณย์