ของใช้ชาวบ้าน : กระบอกใส่รก

การตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่ที่ใด เราเรียกว่า “ตั้งรกราก”

คำว่า “รก” กับ “ราก” มีความหมายต่างกัน แต่เมื่อมาอยู่ด้วยกันก็เกิดคำที่มีความหมายใหม่ว่า “ถิ่นฐาน” หรือที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ในหลักภาษาไทยเรียกคำชนิดนี้ว่า “คำผสม”

หากแยกคำออกมา จะได้ คำว่า “รก” หมายถึง ส่วนที่ติดตัวเด็กที่คลอดออกมาจากท้องแม่ สมัยที่คนไทยเรายังพึ่งหมอตำแย เราใช้ไม้รวกตัดสายรก ผู้เขียนเองบอกว่า พึ่งพาไม้รวกตัดสายรกเหมือนกัน เพราะมันคมมาก วิธีการก็คือ นำไม้รวกแห้งๆ มา 1 ท่อน ใช้มีดผ่ากลาง จากนั้นใช้ริมซีกไม้รวกข้างใดข้างหนึ่งแทนมีด ตัดสายรก

สาเหตุที่ต้องใช้ซีกไม้รวกตัดสายรก แม่บอกว่า ไม้รวกไม่เป็นสนิม เมื่อตัดสายรกออกจากสะดือแล้ว ทารกก็จะไม่เป็นบาดทะยัก เรื่องนี้นับว่าเป็นภูมิปัญญาไทยอีกประการหนึ่งที่สั่งสมกันมาแต่บรรพบุรุษ ต่อมาเมื่อเราชาวไทยเข้าไปคลอดลูกในโรงพยาบาล แม้ไม่ได้เข้าไปในห้องคลอดกับหมอด้วย ก็พอเดาได้ว่าใช้กรรไกรตัดสายรก

ส่วน คำว่า “ราก” หมายถึง ส่วนที่ปักลงไปในแผ่นดิน เช่น รากไม้ รากฐานของตึก ดังสำนวนว่า “รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานชีวิตคือ การศึกษา” เป็นต้น

คำว่า “รกราก” เป็นคำไทยๆ ใช้กันมาแต่โบราณกาล ปัจจุบันเราก็ยังใช้กันอยู่ เรามักอ่านพบในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติที่ตั้งของชุมชน หรือไม่ก็ประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองต่างๆ เช่น “ชาวบ้านวังหลุมพอง ตำบลจรเข้สามพัน เริ่มมาตั้งรกรากริมแม่น้ำจรเข้สามพันราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์” เป็นต้น

“รก” ที่ติดตัวมากับทารกแรกคลอด คนไทยสมัยก่อนเมื่อตัดออกแล้วก็มักใส่หม้อดินฝังไว้ตามโคนไม้ ฝังไว้ในป่า หรือไม่ก็บริเวณรั้วบ้าน เรื่องนี้แล้วแต่ความเชื่อและภูมิประเทศ

สำหรับคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อาจเพราะอยู่กับป่า ทำมาหากินอยู่กับป่าเขาลำเนาไพร มีความรัก ความผูกพันกับต้นไม้ ชาวกะเหรี่ยงจึงไม่ฝังรกไว้ในดินเหมือนคนไทยโดยทั่วไป หากแต่ใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกติดไว้ตามต้นไม้

สมัยผู้เขียนยังเด็กๆ เคยไปเที่ยวป่าเหมือนกัน แต่ไม่เคยพบกระบอกรก อาจเพราะไปช่วงที่ไม่มีเด็กเกิดก็ได้ ถ้าไปพบเข้าจริงๆ ก็คงผวาเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าเป็นกระบอกอะไร การพบของอะไรแปลกๆ ในป่า ผู้ใหญ่สั่งนักสั่งหนาว่า ห้ามทักเป็นอันขาด

สาเหตุที่ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงนำรกใส่กระบอกไปผูกติดไว้ตามต้นไม้ อาจเพราะว่า ป้องกันไม่ให้สัตว์มารบกวน หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ในปัจจุบันยังเป็นประเพณีของชาวกะเหรี่ยงบางกลุ่ม

ลองคิดเล่นๆ ดู กว่ากระบอกไม้ไผ่จะผุเป็นผุยผง รกภายในกระบอกคงย่อยสลายไปแล้ว ต้องยอมรับว่า เป็นภูมิปัญญาที่เยี่ยมยอดจริงๆ

การทำกระบอกใส่รกและการเก็บรกทำกันอย่างไร

คำตอบก็คือ หาลำไผ่ที่มีลำปล้องขนาดใหญ่ ตัดให้เป็นกระบอก ยาวประมาณ 2  คืบ เส้นผ่าศูนย์กลางนั้นขนาดใดก็ได้ แต่ต้องใหญ่พอที่จะเก็บรกได้ทั้งหมดอย่างมิดชิด จากนั้น ขัดเกลาตกแต่งผิวกระบอกให้เรียบร้อย สวยงาม

ขั้นตอนต่อไปคือ นำรกใส่ลงไป แล้วหาผ้าปิดฝา ใช้เชือกผูกผ้าที่ปิดฝาไว้ให้แน่นหนา มั่นคง ไม่ให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้าไปดึงดันให้ผ้าหลุดได้ จากนั้นนำกระบอกรกไปผูกไว้กับต้นไม้ เสมือนฝากรกไว้กับผีสางนางไม้

พื้นฐานความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงคือ เชื่อเรื่องผี

ประเทศไทยเรา มีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอยู่ในหลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรี ตาก สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ

ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ หรือผี ล้วนแล้วแต่รักการใช้ชีวิตอยู่ในป่าเขา อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การใช้ชีวิตแบบนี้สืบทอดกันมายาวนาน และส่งต่อมารุ่นลูกหลาน พร้อมกับประเพณี และวัฒนธรรมของตนเอง

ประเพณีใช้กระบอกใส่รกผูกติดตามต้นไม้ ปัจจุบัน ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อยู่ในป่าลึกยังคงรักษาสืบทอดไว้ แต่กะเหรี่ยงที่ไม่ได้อยู่ในป่าแล้ว จะเป็นเพราะป่าหมดหรืออะไรก็ตาม เมื่อคลอดลูกในโรงพยาบาล โอกาสที่จะนำรกไปใส่กระบอกก็หมดไป

แม้ประเพณีอันดีงามเป็นเรื่องดี แต่การเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องธรรมดา