“จาก พืชมหัศจรรย์มากประโยชน์ใช้สอย”

สมัยเด็กๆ ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสนั่งเรือเข้าไปในคลองเล็กๆ ลัดเลาะป่าชายเลนแถบภาคกลางและภาคใต้ ผ่านกอต้นจากจำนวนมากมายมหาศาล ทั้งได้เห็นทะลายลูกจากสีน้ำตาลไหม้ที่โคนกอเหล่านั้น ผมก็มีความรู้อยู่แค่ว่า ใบจาก ตับจาก ลูกจากนั้น คนเอามามวนยา มุงหลังคาบ้าน และกินเป็นของหวานน้ำตาลเชื่อมได้อร่อยเท่านั้น ต่อมาอีกนาน จึงรู้เพิ่มว่าเขาทำน้ำตาลจากงวงต้นจากได้ด้วย

เดาว่าคนทั่วไปที่พอจะสนใจเรื่องการกินการอยู่ ก็คงรู้เรื่องเกี่ยวกับจากประมาณนี้กระมังครับ…อย่างไรก็ดี หลังจากผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ความคิดเกี่ยวกับต้นจากที่เคยเห็นมาตั้งแต่จำความได้นั้น ก็เปลี่ยนไปหมดสิ้น

“จาก พืชมหัศจรรย์ที่บ้านขนาบนาก” งานเขียนที่ คุณสุรินทร์ สุวรรณรัตน์ ใช้ข้อมูลจากความสนใจเก็บรวบรวมภาพและเรื่องราวของพืชท้องถิ่นชายเลนบ้านเกิด ที่ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช ไว้อย่างละเอียดลออทุกแง่ทุกมุม ถึงกับได้ลงแรงปลูกป่าจากในพื้นที่ไว้นับสิบๆ ไร่ เพื่อยืนยันคุณค่าของพืชที่ผู้คนดูจะลืมเลือนกันไปแล้ว และยังได้ขวนขวายหากลุ่มผู้เล็งเห็นประโยชน์ให้ร่วมสนับสนุนตีพิมพ์ออกมา เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 เป็นรูปเล่มกะทัดรัดสี่สีสวยงามทั้งเล่มนี้ ทำให้ใครที่ได้อ่านแล้ว ย่อมจะไม่มีวันมองต้นจากเหมือนเดิมอีกเป็นอันขาด

พ้นไปจากความรู้พื้นๆ ที่ว่า ต้นจาก (Nipa Palm) เป็นปาล์มชนิดเดียวในพื้นที่ป่าชายเลน มีลำต้นใต้ดิน แทงเพียงใบ (เรียก “กาบใบ” หรือ “พอนใบ”) ช่อดอก (เรียก “นกจาก”) และทะลายของผล (เรียก “โหม่งจาก”) ขึ้นมาให้เราเห็น คุณสุรินทร์และคณะทำงาน กลุ่ม “คนป่าจาก บ้านขนาบนาก” ได้ช่วยกันสอบถามผู้ที่เคยทำงานฝีมือจากใบจาก ถึงรายละเอียด วิธีการ จนรู้ว่าใบจากนั้นถูกใช้ประโยชน์ต่างๆ กันไป หากเฉพาะสำหรับบ้านขนาบนาก ซึ่งใช้งานเต็มรูปแบบ มีการนำใบจากมาเย็บเป็นตับมุงหลังคา, เย็บ “ขมหล็อบ” ปิดรอยต่อหลังคา, ทำฝาบ้าน “ฝาดีหวา”, เย็บ “จากลา” ทำแชง แมงดา โพง, สานประดับงานพิธีกรรม, สานเป็นฝาปิดตุ่ม รองก้นหม้อข้าวหม้อแกง, ห่อขนมจาก, ทำ “มอ” สำหรับกลั่นเหล้า ฯลฯ โดยมีภาพประกอบละเอียดทุกขั้นตอน ชนิดที่ว่า ผู้ที่พอมีฝีมือช่างอยู่บ้าง คงสามารถเลือกวัสดุ กะระยะ ฝึกฝนการเย็บด้วยมือจนสามารถสร้าง “ขนำจาก” ขึ้นได้เองสักหลังหนึ่งเลยทีเดียว

สิ่งของบางอย่าง เช่น “แมงดา” อุปกรณ์กันฝนที่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ทำกันแล้วนั้น ช่วยให้เราระลึกถึงความพยายามดัดแปลงวัสดุธรรมชาติรอบตัวมาใช้งานในชีวิตประจำวันของคนสมัยโบราณนับร้อยปีก่อนได้ชัดเจนดี

สำหรับคนที่สนใจของกินเช่นผม คุณสุรินทร์เก็บรายละเอียดของขนมจาก ที่เรียกได้ว่าเป็นขนมจาก “แท้ๆ” เพราะ “ห่อด้วยใบจาก หอมหวานด้วยน้ำผึ้งจาก และย่างด้วยถ่านลูกจาก” ไว้ได้อย่างชวนน้ำลายสอ

ที่ผมเพิ่งจะรู้ แล้วก็อยากลองกินมาก ก็คือ “นกจาก” และ “โหม่งจาก” คืองวงอ่อน-แก่ ของจากนั้น นอกจากมีไว้ปาดน้ำตาลจากแล้ว ก็เอามากินได้เหมือนกัน โดยปิ้งทั้งยวง ลอกเปลือกกินเนื้ออ่อนหอมๆ ข้างใน หรือลอกเปลือก ขูดฝอย ดองน้ำส้ม น้ำผึ้ง และเกลือ ไม่อย่างนั้น ถ้าจะกินอย่างเอิกเกริกหน่อยก็คือ เอามาแกงคั่วกะทิกับปูทะเลดำตัวใหญ่ๆ

ที่เด็ดกว่านั้นอีกก็คือ “ลูกจากอ่อน” ที่สามารถฝานบางๆ ดองกินกับน้ำชุบเผ็ดๆ หรือถ้าใช้ลูกจากที่แก่ขึ้นมาอีกหน่อย หั่นแช่น้ำเกลือ ลวกน้ำร้อน ก็แกงกะทิกับหนางวัวหรือไก่บ้านได้น่ากินไม่แพ้หัวตาลหรือยอดมะพร้าวเลยทีเดียว

คราวต่อไป ถ้าผมได้นั่งเรือเข้าคลองแถบป่าชายเลนอีก ต้องหาลูกจากอ่อนมาแกงกินให้ได้สักครั้งหนึ่งแล้วล่ะครับ อยากรู้จริงๆ ว่ารสชาติจะเป็นยังไง

แม้ในหนังสือ วิชาอาชีพชาวสยาม จากหนังสือวชิรญาณวิเศษ ร.ศ. 109-110 ตอนที่พูดถึงการทำน้ำตาลจากนั้น จะระบุว่า “…เวลาเคี่ยวต้องเคี่ยวไม่ให้เหนียวเหมือนน้ำตาลโตนด คือเคี่ยวให้เหลวๆ เหมือนน้ำผึ้ง แล้วเอาใส่ในไหหรือโอ่งไว้เท่านั้น…อนึ่ง ผลประโยชน์ของน้ำตาลจากนี้ ไม่สู้มากนัก เป็นแต่ทำขายบ้างเล็กน้อย ทำคราวหนึ่งจะขายได้เป็นเงินก็ประมาณ 40 บาทบ้าง 60 บาทบ้าง ชั่งหนึ่งเป็นอย่างมาก ใช้ตวงด้วยทะนานขายเหมือนกันกับน้ำผึ้ง ทะนานละเฟื้อง…” แต่ข้อมูลที่คุณสุรินทร์สรุปในตอนท้ายของหนังสือเล่มสำคัญนี้บ่งว่า ปัจจุบัน จากเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของคนขนาบนาก โดยเฉพาะการทำ “น้ำตาลจาก” นั้นสร้างรายได้เข้าตำบลปีละหลายสิบล้านบาททีเดียว

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเกี่ยวกับการทำน้ำตาลจาก หรือที่เรียกว่า “น้ำผึ้งโซม” นี้ ยังไม่มีในหนังสือเล่มนี้ เราคงต้องรอผลงานชิ้นต่อไป ตามที่ผู้เขียนได้สัญญาไว้ในตอนท้ายเล่ม

ส่วนผู้สนใจหนังสือเล่มนี้ จาก พืชมหัศจรรย์ที่บ้านขนาบนาก (350 บาท) ก็สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊กของ คุณสุรินทร์ สุวรรณรัตน์ ได้โดยตรงครับ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2560


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354