ไม้แทงเนื้อปิ้งย่าง ทดสอบความสุก

ชีวิตคนสมัยก่อนอยู่กับธรรมชาติ การทำมาหากินเริ่มจากหากินไปวันๆ แล้วพัฒนาเป็นผลิตหรือทำขึ้นมา เพื่อเก็บไว้กินนานๆ

พูดภาษาชาวบ้านแบบง่ายๆ ก็คือ “เริ่มจากหากิน มาเป็นหาเก็บไว้กิน”

เนื้อหาในหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนต้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ใช้เรียนสมัยรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ใช้กันตั้งแต่ พ.ศ. 2496 มีเรื่อง คนแต่ก่อน พูดถึงเรื่องราวลักษณะนี้ เริ่มเรื่องว่า “แต่ก่อนๆ นานมาแล้ว คนเรายังโง่ บ้านเมืองก็ยังไม่มี ดังที่เราเห็นกันเดี๋ยวนี้…”

คือ “ยังเป็นป่าเป็นดงทั้งนั้น ยังไม่รู้จักทำบ้านเรือนอาศัย คนเราต้องอาศัยในถ้ำบ้าง อาศัยตามสุมทุมพุ่มไม้บ้าง อาศัยตามต้นไม้เช่นลิงค่างบ้าง ยังไม่รู้จักทำผ้านุ่งผ้าห่ม ต้องเอาใบไม้และสิ่งอื่นๆ มาปกปิดร่างกาย”

ของกิน “ก็ไม่มีอะไรมาก มีแต่เนื้อต่างๆ เผือก มัน และลูกไม้อื่นๆ อีกบ้าง” แรกๆ คนเรายังไม่รู้จักหุงต้ม ต่อมาเมื่อค้นพบไฟก็รู้จักหุง ต้ม ย่าง ปิ้ง

การปิ้ง ย่าง ถือว่าเป็นการทำอาหารชนิดเก่าก่อน เพราะง่ายที่สุด เพียงแค่มีของปิ้งย่าง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ มัน หรืออื่นๆ จุดไฟ เสร็จก็ปิ้งย่างได้แล้ว

อุปกรณ์ปิ้งย่างอย่างหนึ่ง เราชาวบ้านใช้มาตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบได้ นั่นคือ ไม้สำหรับแทงลงไปในเนื้อสัตว์ มัน หรือว่าของปิ้งย่างอื่นๆ เพื่อตรวจสอบว่า ของที่ปิ้งหรือย่างนั้นสุกหรือยัง ไม้ชนิดนี้แม้มีใช้กันโดยทั่วไป แต่ก็ไม่มีชื่อเรียกเป็นจริงเป็นจัง ไม่เหมือนกระต่ายขูดมะพร้าว ตะหวิว หม้อ มีด ดังนั้น ขอเรียกว่า ไม้แทงเนื้อปิ้งย่าง ก็แล้วกัน

ไม้ชนิดนี้ ปัจจุบันยังใช้กันอยู่ วัสดุที่ทำต่างกันไป อาทิ ไม้ไผ่ ไม้จริง สแตนเลส ทองเหลือง และอาจมีวัสดุอื่นๆ อีก แต่ที่ใช้กันมากคือ ทำด้วยไม้ไผ่

วิธีการทำ นำลำไผ่มาตัดให้เป็นท่อน ยาวประมาณ 1 ฟุต ผ่าออกให้เป็นซี่เล็กๆ ขนาดประมาณตะเกียบ เหลาให้กลมหรือแบนก็ได้ เสี้ยมปลายให้แหลม ความแหลมไม่จำเป็นต้องแหลมมาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะแทงลงไปในเนื้ออะไร

สมมุติเราย่างปลาตัวโตๆ หลังจุดไฟเตาถ่านแล้ว เราก็เอาปลาวางบนตะแกรง ปล่อยให้ไฟร้อนๆ ลนเนื้อปลาสักครู่ พอมันปลาออกหยดติ๋งๆ ถ้าเราต้องการให้ปลาสุกเร็วขึ้นและทั่วถึง เราชาวบ้านก็นำเอาไม้แทงเนื้อปลาลงไปเพื่อตรวจสอบ

การเอาไม้แหลมแทงเข้าไปในเนื้อปลา ทำให้ทราบว่า ปลานั้นสุกทั่วถึงหรือยัง โดยดูจากสภาพคล่องของไม้ที่แทรกเข้าไปในเนื้อปลา ถ้าพบว่าปลายังไม่สุก การแทงเข้าไปนั้นก็ทำให้ความร้อนจากภายนอกกระจายเข้าไปได้ ทำให้ปลาสุกเร็วขึ้นอีกด้วย

สมัยผู้เขียนอยู่บ้านนอก วันหยุดเรียนต้องออกไปเลี้ยงควาย กลางวันถ้าหาปลาในหนองน้ำได้ เราจะมาจุดไฟย่างปลาเป็นกับข้าวมื้อกลางวัน

วิธีการของเราคือ ก่อกองไฟด้วยฟืน ตัดไม้มาผ่าทำตับปิ้งปลา สอดปลาเข้าไป แล้วปักตับปิ้งปลาลงข้างๆ กองไฟ ความร้อนจากกองไฟจะค่อยๆ ย่างให้ปลาสุก ระหว่างรอปลาสุก เราจะเสี้ยมไม้อันเล็กๆ ไว้ 1 อัน อาจจะเป็นไม้แห้ง ไม้สด หรือแขนงไผ่ก็แล้วแต่จะหาได้ เสี้ยมปลายเสร็จ เราคอยสังเกตปลาว่าใกล้สุกหรือยัง วิธีการตรวจสอบว่าปลาสุกหรือไม่ เราใช้แทงไม้เข้าไปในเนื้อปลา เพื่อสำรวจว่าสุกหรือยัง ถ้าสุกก็นำออกมา ถ้าไม่สุกก็ต้องปล่อยไว้ก่อน

เมื่อปลาสุก เราชาวเด็กเลี้ยงควายก็จะแก้ห่อข้าวออกมากินกัน ใครมีกับข้าวอะไรก็เอาออกมาแบ่งปันกันกิน ไม่มีใครหวงใคร

ในห่อข้าวของเรา ข้าวมักอยู่ในถุงพลาสติก น้ำพริกห่อด้วยใบตอง กับข้าวบางคนมีแค่ไข่ต้ม 1 ฟอง บางคน เนื้อเค็ม 1 ชิ้น บางคนมีข้าวกับน้ำพริก อย่างนี้เรียกว่าหากับเอาข้างหน้า บางวันได้ปลาย่างก็ดีไป ถ้าวันไหนหากับข้าวไม่ได้ ก็กินข้าวกับน้ำพริก แม้จะเผ็ดอย่างไร แต่เพราะความหิวและบรรยากาศในท้องทุ่งดีมาก ทำให้เจริญอาหารได้โดยไม่ต้องพึ่งพากับข้าวหรูๆ

เด็กบ้านทุ่งสมัยผู้เขียนยังเด็กๆ มักผ่านงานเลี้ยงควาย เลี้ยงวัว และได้กินข้าวกลางทุ่งนากันอย่างเอร็ดอร่อย ทั้งๆ ที่กับข้าวก็ไม่ได้เลิศแต่อย่างใด

ไม้แทงเนื้อปิ้งย่าง ปัจจุบัน ยังใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย วัสดุนอกจากไม้แล้ว ยังนิยมใช้สแตนเลส เพราะสแตนเลสไม่เป็นสนิม ใช้ง่าย เก็บง่าย และดูดีอีกด้วย