ส้มม็องแม็ง หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ตะลิงปลิง” นำมาประกอบอาหารใส่แกงส้ม แกงเหลือง ได้หมด

ส้มม็องแม็ง ตะลอนหาตลาดแลตะลุง แต่…ตะลึงเลย ตะลานตา (ต๊าย!) ต้นตะลิงปลิง

ชื่อวิทยาศาสตร์           Averrhoa bilimbi L.

ชื่อวงศ์                      OXALIDACEAE (AVERRHOACEAE)

ชื่อสามัญ                   BILIMBI, CUCUMBER TREE

ชื่ออื่นๆ                     ตะลิงปลิง มูมัง (เกาะสมุย) ปลีมิง (ระนอง) บลีมิง (นราธิวาส) กะลิงปริง ลิงปลิง มะเฟืองตรน หลิงปลิง (ภาคใต้)

ผมเป็นหนุ่มสำอาง สะอาด แต่เปรี้ยวเฟี้ยว ดูภายนอกไม่น่าจะเป็นบุคลิกของคนภาคใต้ ชื่อผมที่แปลกก็อยู่ที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเรียกผมว่า “ม็องแม็ง” แต่ส่วนใหญ่แม่บ้านรุ่นเก่าๆ จะเรียกว่า “ส้มม็องแม็ง” เพราะเขานิยมนำไปใส่ในแกงส้ม หรือที่คนกรุงเทพฯ เรียกว่า “แกงเหลือง” ถ้าเป็นแกงส้มปลากุเรา ชาวบ้านเรียกผมว่า “แกงปลาเหรา” หรือถ้าแกงส้มปลากระบอก แน่นอนว่าจะต้องใส่ม็องแม็ง และลดมะขามเปียกได้ เพราะให้ความเปรี้ยวกลมกล่อม แล้วดับกลิ่นคาวปลา ถ้าไปถึงเกาะสมุยก็จะเรียกผมว่า “มูงมัง” ไม่ต้องแปลกใจนะครับ

จริงๆ แล้วผมก็รู้ว่าชื่อเป็นทางการใช้ว่า “ตะลิงปลิง” แต่ผมเองกลัวทั้ง “ลิง” และเกลียดทั้ง “ปลิง” จึงไม่อยากได้ยินชื่อนี้ เพราะผมเอง เวลาออกผลที่นำไปใช้แกงส้มนั้น ดูสะอาดตา ออกเป็นพวงและเป็นผลเดี่ยว ห้อยติดตั้งแต่โคนต้นถึงยอด คนไม่รู้จักก็คิดว่าเป็นลูกมะดัน ผมก็คิดว่าสีผิวผมใสกว่าไม่เขียวเข้มเหมือนมะดัน มีร่องสันพูเล็กน้อย แต่ไม่เหมือนมะเฟือง หุ่นเหมือนแตงกวา แต่เล็กกว่าหลายเท่า จึงมีชื่อดูดีหน่อยว่า CUCUMBER TREE ฟังดูเป็นชาวเมืองนอกไปเลย

ผมภูมิใจที่มีชื่อติดทำเนียบ “Miracle Thai Agriculture” ของ อาจารย์ Danai Huntrakul ที่เรียกผมว่า Bilimbi Fruit เพราะท่านนำผมไปปรุงเป็นอาหาร “กินอยู่อย่างผู้รู้ มีอารยะ” โดยตั้งชื่ออาหารว่า “ต้มกะทิฟักปลาเค็ม ใส่ตะลิงปลิง” แล้วยังตั้งชื่อภาษาอังกฤษซะหรูชื่นใจ ว่า “Coconut-milk Soup with Winter Melon, Salted Fish and Bilimbi Fruit” ฟังชื่อแล้วผมอยากผูกเน็คไท เป็นผู้ดีอังกฤษเชียวหละ แหม!… นานๆ ได้ขึ้นโต๊ะระดับสากล

ผมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้มากกว่า 10 เมตร แต่มองไกลๆ คนทั่วไปจะคิดว่าเป็นต้นมะยม จนกว่าจะติดผล ลักษณะเป็นลูกกลม ยาว ปลายมน ยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ผิวผลเรียบสะอาด เขียวนวล เป็นสันพูเล็กน้อย เมื่อสุกจะมีสีเหลือง เนื้อในชุ่มน้ำ รสเปรี้ยวฝาด มีเมล็ด เมื่อสุกจัดจะหล่นรอบพุ่มต้น หรืออาจจะมีต้นเล็กๆ งอกขึ้นเต็ม เพราะขยายพันธุ์ได้ง่าย

ในเรื่องคุณสมบัติสรรพคุณสมุนไพรนั้นก็มีมากมาย ตั้งแต่ผล ดอก ใบ อ้อ! ผมเคยเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดย “นายเกษตร” บันทึกไว้ว่า ทางบ้านชาวชนบท เขาใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด โขลก ตำให้ละเอียดชุ่มน้ำแล้วพอกที่บริเวณคอหรือคางของคนที่เป็นโรค “คางทูม” 2 เวลา เช้า-เย็น แล้วเปลี่ยนตัวยา ครบ 1 สัปดาห์ รับรองหายได้ ส่วนดอก ก็ต้มน้ำดื่มแก้เจ็บคอ ผลสุก ทำอาหารแปรรูป กินสด หรือแช่อิ่ม ก็ได้ แต่ที่นิยมคือ ใส่ต้มปลา ยำ  แกงส้ม ทำน้ำพริก ก็หรอยจริงจริ๊ง

พวงผลเต็มต้นตะลิงปลิง เตือนตัวตนอย่ามัวแต่ตะลึง ต้องเตรียมตะกร้า ตัดไปตลาด เติ้น…ต้องได้แลหนังตะลุง ตลกเลย?