สาคูต้น เรื่องของคน ด้วง และแป้ง

สมัยเด็กๆ ผมชอบกินสาคูเม็ดเล็กเปียกกะทิมาก เรียกว่ากินได้ทีละหลายๆ ถ้วย ส่วนสาคูเม็ดใหญ่ที่มักแทรกตัวอยู่ในถ้วยรวมมิตร หรือวุ้นน้ำแข็งไสเย็นๆ นั้นผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ รู้สึกว่ามันเป็นแป้งๆ มากไปหน่อย ผมเพิ่งมารู้ว่าเม็ดสาคูที่เราซื้อจากตลาดเป็นถุงๆ มาต้มกินนั้นทำจากแป้งมันสำปะหลังก็เมื่อไม่นานมานี้เอง แถมหลังจากนั้นอีกพักใหญ่ๆ ถึงรู้ว่า ยังมีต้น “สาคู” ที่เอามาใช้ทำแป้งสาคูแท้ๆ ในเขตภาคใต้ด้วย

แต่ถึงรู้แล้วก็ยังไม่ได้กินอีก ต้องรอจนถึงเมื่อสองปีก่อนนี้เองแหละครับ ที่มีโอกาสได้ลิ้มชิมรสสาคูแท้ๆ เปียกกะทิสด หลังจากนั้นก็คิดว่า คงยากที่จะกลับไปกินเม็ดสาคูเทียมจากมันสำปะหลังให้รู้สึกอร่อยได้อีก ในเมื่อมีแป้งสาคูแท้ติดครัวที่บ้านไว้ตลอดอย่างทุกวันนี้

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมโชคดีได้ไปดู “ป่าสาคู” คือพื้นที่กว่า 80 ไร่ ในอาณาบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา เขตบ้านหัวพรุ ตำบลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งปลูกต้นสาคู (Metroxylon sagus Rottb.) สืบเนื่องมายาวนานไม่ต่ำกว่าสามชั่วอายุคน

ท่ามกลางดงต้นสาคูหลายขนาดในพื้นที่ลุ่มน้ำชุ่มชื้น คุณบอย – พิชัย ทิพย์มาก หนึ่งในเกษตรกรคนสำคัญที่ร่วมทำกิจการป่าสาคูผืนนี้เล่าเรื่องราวของพืชตระกูลปาล์มที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในประเทศไทยให้ฟังอย่างน่าสนใจ

“สาคูส่วนใหญ่ที่ปลูกในภาคใต้นี่คือสาคูยอดแดงครับ เปลือกจะหนา ทำแล้วจะได้แป้งสาคูแท้ที่ออกสีแดงอ่อนๆ ถ้าเป็นทางแถบมาเลเซีย สิงคโปร์ ของเขาเป็นสาคูยอดขาว สังเกตว่าใบจะบางกว่าของเรา” คุณบอยแนะให้เริ่มลองแยกแยะสายพันธุ์และสีสันของแป้งสาคูก่อนเป็นอันดับแรก

“แต่ละต้นนี้ กว่าจะโตจากการแตกหน่อออกจากต้นแม่ จนตัดโค่นเอาแกนต้นมาขูดทำแป้งได้ ต้องรอจนอายุ 8 ปีเลยนะครับ แต่ระหว่างนั้นเราก็ตัดใบไปเย็บขายเป็นตับหลังคา แบบตับจากน่ะครับ ส่วนก้านใบแข็งๆ นั้นก็แปรรูปใช้ทำเครื่องดักปลา ทำเครื่องดักจับสัตว์ สานเสื่อ พอต้นไหนอายุเริ่มจะได้ ใบจะเริ่มสั้นลงๆ แล้วก็จะออกช่อดอกนะครับ ก็ตัดต้นมาใช้เลย ต้นหนึ่งๆ เมื่อทำแล้วจะได้แป้งสาคูราว 100 กิโลกรัม ขายได้ราคากิโลกรัมละ 100 บาท คนแต่ก่อนเขาซื้อไปทำแป้งเปียกบ้าง ผสมทำแป้งราดหน้า กระเพาะปลาบ้าง ส่วนยอดก็กินได้ ยอดของต้นที่อ่อนหน่อยเนื้อจะกรอบ แต่ถ้าเป็นยอดต้นแก่ จะมีความมันเพิ่มขึ้นมา เขาเอาไปใส่กระเพาะปลาก็มีครับ”

คุณบอย บอกว่า ชั่วอายุขัย 8 ปี ของสาคูแต่ละต้นไม่ได้เสียไปเปล่าๆ นอกจากใบและก้านทางที่เอามาทำอะไรได้หลายอย่าง ป่าสาคูช่วยให้พื้นดินชุ่มชื้น ดังเช่นพื้นที่ที่ปลูกอยู่นี้ แม้ในหน้าแล้ง ถ้าขุดลงไปลึกเพียง 50 เซนติเมตร ก็จะพบตาน้ำแล้ว และในหน้าน้ำ จะกลายเป็นพื้นที่ป่าพรุซึ่งมีปลาน้ำจืดกว่าสิบชนิด เช่น ปลากด มาอาศัยวางไข่และขยายพันธุ์ให้จับขายเป็นรายได้เสริม เพราะการทำสาคูต้องทำในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น

นอกจากปลาแล้ว แกนต้นสาคูแก่ๆ ยังเป็นที่อาศัยของ “ด้วงสาคู” ตัวอวบอ้วนจำนวนมาก เป็นอาหารอันโอชะที่กินได้ทั้งสดและทอด ซื้อขายกันในท้องตลาดด้วยราคาค่อนข้างสูง คือกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 250 บาท ทีเดียว

ป่าสาคูของพัทลุง นอกจากที่นี่แล้ว ก็มีอยู่อีกแถบคลองปากประ สาเหตุที่ปัจจุบันมีน้อยลง ก็เพราะอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าพรุ (wetland) อันเนื่องมาจากการบุกเบิกทำนา สวนปาล์ม และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เพิ่มมากขึ้น

ขั้นตอนการทำแป้งสาคูแท้นั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย คล้ายกับการทำแป้งจากพืชอื่นๆ เช่น หัวท้าวยายม่อม คือต้องตัดต้นออกเป็นท่อนๆ ยาวท่อนละ ราว 50 เซนติเมตร ถากเปลือกเอาแต่แกนต้นมาขูดเป็นฝอยละเอียด หรือใช้เครื่องโม่บด จากนั้นแช่ขยำน้ำเพื่อให้เนื้อแป้งละลายออก ทิ้งให้ตกตะกอน กรองกากออก เอาน้ำแป้งมาแช่ทิ้งให้นอนก้น เทน้ำทิ้ง แล้วตากแดด เมื่อเริ่มแห้งก็ต้องร่อนตะแกรงเพื่อคัดขนาดไม่ให้จับเป็นเม็ดใหญ่มากเกินไป การตากแดดแรงๆ หนึ่งวันนี้ จะได้แป้งเม็ดรูปร่างไม่สม่ำเสมอ สีแดงอ่อนๆ ราคาซื้อขายในท้องตลาดอย่างต่ำตก กิโลกรัมละ 100 บาท

แป้งสาคูแท้นี้เก็บได้นาน เอามาทำสาคูเปียกอร่อยๆ โดยกวนกับน้ำร้อนเพียงครู่เดียวครับ จะได้แป้งสาคูสุกที่มีเนื้อนิ่มนวล เหนียวนุ่ม จับเป็นก้อน กลิ่นหอมอ่อนๆ ของแป้งสาคูเมื่อผสมกับความหอม หวาน ของกะทิสดเคี่ยวน้ำตาลทรายเล็กน้อย ย่อมทำให้ไม่ว่าใครก็ติดอกติดใจจนยากที่จะลืมเลือนได้

กิจการป่าสาคูและแป้งสาคูของคุณบอยและครอบครัวซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีจำหน่าย ในชื่อ “แป้งสาคูต้นยายฉุย บ้านหัวพรุ” เป็นที่รู้จักกันดีในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สนใจสอบถามรายละเอียด หรือสั่งซื้อโดยตรงได้ที่เบอร์โทรศัพท์ (087) 687-6070 นะครับ

อยากให้ได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยของสาคูต้นแท้ๆ นี้กันสักครั้งหนึ่งนะครับ