ของใช้ชาวบ้าน : กะตู หมวกชาวไทยเชื้อสายมอญ

ชาวไทยกับมอญมีสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนาน ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เราก็ยังแนบแน่น

ในประเทศไทยเรา ชาวไทยเชื้อสายรามัญมีไม่น้อย กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคกลาง อาทิ กาญจนบุรี ราชบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี เป็นต้น

ชาวไทยเชื้อสายมอญ มีเครื่องมือของใช้ที่โดดเด่น และเป็นแบบฉบับของตนเองชนิดหนึ่งคือ กะตู หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า หมวกปีกแมงดา

กะตู ก็คือ หมวกของมอญสานจากหวาย

ลักษณะรูปร่างเหมือนตัวแมงดานาจริงๆ ด้านบนสุดคล้ายหัวแมงดา ปีกหมวกที่ยื่นลงมาเหมือนตัวแมงดา เมื่อคนสวมใส่ตัวคนก็พลอยคล้ายตัวแมงดานาไปด้วย

กะตู หรือหมวกปีกแมงดา นอกจากใช้บังแดดได้ดีแล้ว ยังเหมือนเป็นเครื่องประดับกายและป้องกันสัตว์ร้ายได้อีกด้วย คราครอบลงไปเหมือนครอบโล่ป้องกันสัตว์ต่างๆ อย่างเช่น งู หากเดินผ่านงูไป งูเกิดอาการหงุดหงิดฉกด้านหลัง รับประกันได้ว่างูเจ้าอารมณ์ทำอะไรไม่ได้ เพราะกะตูแข็งแรงมาก เขี้ยวอสรพิษไม่อาจทะลุทะลวง

ชาวมอญทั้งชาวไร่ ชาวนา และนักเดินทาง สามารถใช้กะตูเป็นเครื่องบังแดดบังฝนได้ การสานกะตูใช้ เชื่อว่าชาวเชื้อสายรามัญรุ่นก่อนๆ คงมีคนสานได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในดินแดนรามัญดั้งเดิม

ครั้นมาอยู่เมืองไทยแล้ว ภูมิปัญญาด้านนี้ลดน้อยถอยลงไป อาจด้วยสาเหตุที่ไทยใช้งอบ และมีหมวกสวมใส่เบาสบายมากมายในท้องตลาด

เรื่อง “กะตู” นี้ องค์ บรรจุน ชาวไทยเชื้อสายรามัญเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า สมัยมะกะโทยังเป็นเด็ก ระหว่างพ่อแม่ทำนา ได้นำเอาลูกชายตัวน้อยๆ ไปด้วย และใช้กะตูครอบไว้ ป้องกันไม่ให้เด็กออกไปซุกซน

เติบใหญ่มาจึงเรียกกันว่า “มะกะตู” คำว่า “มะ” ภาษารามัญ แปลว่า “นาย” คำว่า มะกะตู จึงแปลว่า นายกะตู ต่อมาเพี้ยนเป็น มะกะโท ซึ่งทราบกันดีว่า ท่านเป็นคนมีบุญมาก สมัยเด็กๆ ในตำราเรียนภาษาไทยก็มีเรื่องมะกะโท เนื้อหาโดยสรุปคือ

มะกะโท เป็นบุตรพ่อค้าชาวมอญ เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาตาย จึงต้องทำหน้าที่ค้าขายแทนบิดา วันหนึ่งได้คุมคนหาบสินค้าเข้ามาขายยังกรุงสุโขทัย ระหว่างทางลูกหาบคนหนึ่งป่วยกะทันหัน มะกะโทจึงหาบสินค้าแทน

เมื่อคณะเดินทางถึงยอดเขาเกิดฝนตกหนักและมีพายุ เกิดฟ้าผ่าลงมาถูกไม้คานหัก แต่ตัวมะกะโทไม่เป็นอันตรายใดๆ อัศจรรย์ตรงที่แม้จะเปลี่ยนไม้คานถึงสามครั้ง ฟ้าก็ผ่าลงมาถึงสามครา

ขณะจะเดินทางต่อ เกิดฟ้าแลบเห็นเป็นปราสาทราชวัง เมื่อหาโหรทำนาย โหรบอกว่าต้องนำเงินมากองสูงเท่าหัวจึงจะทำนายให้ ด้วยความฉลาด มะกะโทจึงนำเงินไปวางไว้บนจอมปลวก โหรจึงต้องทำนายให้ และบอกว่า มะกะโทเป็นผู้มีบุญมากสืบไปจะเป็นใหญ่เป็นโต

เมื่อถึงกรุงสุโขทัยและขายสินค้าจนหมดแล้ว จึงบอกให้คนหาบกลับบ้านก่อน ส่วนตัวเองไปขออาศัยอยู่กับนายช้างของพระร่วงผู้ครองกรุงสุโขทัย เพราะความขยันหมั่นเพียรนายช้างจึงรักและเอ็นดูมากถึงขนาดแบ่งเงินเดือนให้มะกะโท

วันหนึ่ง พระร่วงเจ้าเสด็จไปยังโรงช้าง ขณะทอดพระเนตรช้างอยู่ก็เห็นมะกะโทกวาดพื้นโรงช้างอยู่ จึงตรัสถามนายช้างว่าเป็นใคร เมื่อทรงทราบความจริงจากนายช้าง ก็โปรดฯ ให้เลี้ยงดูมะกะโทไว้ ขณะพระองค์ทอดพระเนตรช้างอยู่นั้นทรงคายสลา (หมาก) ออกมา แล้วบ้วนพระโอษฐ์ลงดิน ดินกระจายออกเห็นเบี้ย จึงตรัสให้มะกะโทเก็บเอาเบี้ยๆ หนึ่งไว้ มะกะโทกราบบังคมแล้วจึงเก็บเอาเบี้ยตามรับสั่ง

มะกะโทนำเงินค่าน้อยนิดไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักกาด คนขายไม่รู้จะขายให้อย่างไร มะกะโทจึงหาทางออกให้ด้วยการใช้นิ้วมือชุบน้ำลายจิ้มลงไป ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแค่ไหนก็เอาเท่านั้น ปรากฏว่าพ่อค้ายอมขายให้

ครั้นพระร่วงเสด็จมาอีก มะกะโทจึงเก็บผักกาดมาถวาย เมื่อพระองค์ทรงทราบความเป็นไปก็มีพระทัยยินดีนัก ต่อมาได้ตั้งมะกะโทเป็นขุนวัง สืบมามะกะโทกลับเมืองมอญ และกลายเป็นพระมหากษัตริย์ยิ่งใหญ่ มีพระนามหนึ่งว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว” ด้วยเหตุที่ฟ้าผ่าแล้วไม่สิ้นชีพ

แสดงว่าชื่อ มะกะโท ได้มาจาก มะกะตู ส่วนพระนาม พระเจ้าฟ้ารั่ว มาจากโดนฟ้าผ่า

ส่วนกะตูนั้น ชาวมอญยังมีใช้กันอยู่ และมีจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายรามัญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี