ที่มา | วิถีท้องถิ่น |
---|---|
ผู้เขียน | กฤช เหลือลมัย |
เผยแพร่ |
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมแวะไปเดินเที่ยวตลาดอมยิ้ม ที่จัดทุกเสาร์-อาทิตย์ ในเขตวัดวาปีสุทธาวาส (วัดตลาดควาย) อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ตลาดโบราณที่พยายามแสดงอัตลักษณ์ชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์ในจังหวัดราชบุรีไปพร้อมๆ กับขายของพื้นบ้านกระจุกกระจิกแห่งนี้ขยายตัวขึ้นมาก ที่ผมชอบคือ มีพืชผักท้องถิ่นตามฤดูกาลมาขายหลายอย่าง มีใบเปราะอ่อนๆ ทั้งแบบสีเขียวและสีม่วง และที่ผมเห็นแล้วก็ “ระลึกชาติ” ก็คือลูกตาลเสี้ยน ทั้งที่ดิบสีเขียวอ่อน และเริ่มสุกเป็นสีเหลือง ขายถุงย่อมๆ เพียงแค่ถุงละ 20 บาท
ที่ว่าระลึกชาติ เพราะผมเคยกินผลไม้ชนิดนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ขนาดมันราวๆ พุทราลูกย่อมๆ ผิวเปลือกและเนื้อกรอบแน่น แต่ก็ชุ่มน้ำ เม็ดเหมือนละมุด รสชาติฝาดเปรี้ยวเจือหวานชุ่มคอ แถวบ้านผมกินทั้งแบบดิบๆ โดยทุบพอแตก จิ้มน้ำพริกกะปิ ถ้ามีมากก็ดองเปรี้ยวไว้จิ้มน้ำพริกอีกเช่นกัน
ป้าของผมคนหนึ่งมีวิธีกินที่เหมาะเหม็งมาก คือเลือกกินลูกสุกที่ออกรสหวาน จิ้มน้ำพริกกะปิเปรี้ยวๆ เผ็ดๆ ตำให้เหลวหน่อย กินกับข้าวสวย แกล้มกุ้งต้ม หรือคั่วเค็มอ่อนๆ แทนปลาทูทอด พวกเราหลานๆ ลองกินบ้าง ก็เห็นเหมือนๆ กันว่า กินแบบนี้อร่อยจริงๆ
แต่ครั้นลองค้นหนังสือตำราพฤกษศาสตร์ หรือหาข้อมูลอินเตอร์เน็ต ก็พบว่ายังมีความสับสนกันมาก ระหว่างต้นตาลเสี้ยนกับต้นกรวยป่า และแม้จะมีเว็บไซต์หลายแห่งระบุอย่างถูกต้องว่า ตาลเสี้ยน หรือ Xantolis Siamensis (H.R. fletcher) P.Royen นั้น มีชื่ออื่นคือ นมพระสี นมนาง หรือนมสาว ต้นสูง 8-15 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมดำ แตกเป็นรอยริ้วแยก ใบยาวปลายมน ออกดอกผลต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน และมีสรรพคุณโดดเด่นคือ เปลือกต้มนั้นถากมาต้มกินเรียกน้ำนมมารดาได้ดีมาก (จึงเป็นที่มาแห่งนามอื่นๆ) ทว่า ก็เกือบไม่มีแหล่งข้อมูลใดกล่าวถึง “ลูกตาลเสี้ยน” ในฐานะอาหารเอาเลย
แม้จะมีชื่อหมู่บ้านชุมชนลาวที่บ้านตาลเสี้ยน ในเขตอำเภอหนองแก จังหวัดสระบุรี ซึ่งแสดงว่าในภูมิภาคอื่นๆ นอกจากบ้านผมก็คงมีที่รู้จักต้นตาลเสี้ยนกันบ้าง เช่น แถบสุไหงโกลก บางบ้านเรียก “ลูกโป๊” แต่ถ้าจะนับพวกที่เอาลูกตาลเสี้ยนมากินชนิดเป็นล่ำเป็นสัน เท่าที่ผมรู้ ดูจะมีแค่คนแถบชายแดนตะวันตกของภาคกลาง คือแถบราชบุรี กาญจนบุรี เท่านั้น
ผมอยากเห็นต้นตาลเสี้ยนกับตา เลยขอให้น้องสาวซึ่งเป็นครูโรงเรียนบ้านหนองนกกระเรียน อำเภอจอมบึง ไปสืบหาแหล่งมาให้ ปรากฏว่าสวนป่าข้างโรงเรียนของเธอก็มีอยู่ต้นหนึ่ง ถ้าปีไหนออกลูก คนก็มาเก็บลูกที่ร่วงไปกิน ไปขายกัน แถมเป็นที่รู้กันว่าเป็นตาลเสี้ยนต้นที่ให้ลูกรสอร่อยด้วย
“ฉันให้คนทำป้ายติดไว้เองแหละ ไม่งั้นเด็กๆ ไม่รู้จักกินกันแล้ว” น้องสาวว่า แล้วยังพาไปดูอีกต้น ที่อยู่ในเขตโรงเรียนบ้านหนองไผ่ เขตบ้านปากบึง มีคนบอกว่าอยู่ข้างศาลาพัก ติดบ้าน “ลุงฉวย”
“เพิ่งหมดไปครับ พวกคุณมาช้าไป” ลุงฉวย บอกพวกเราที่ยืนแหงนคอมองด้วยความเสียดายอยู่ใต้ต้นตาลเสี้ยนสูงใหญ่ข้างบ้านแก “ต้นนี้อร่อยครับ คนชอบกิน ปกติไม่ขายกันหรอกครับก็แบ่งๆ กันไป มีบางปีที่ออกมาก ก็ฝากร้านค้าให้เขาขาย ถุงละ 10 บาทเอง อายุเหรอครับ ต้นนี้ก็คงสัก 50-60 ปีแล้ว มันไม่ได้ออกลูกทุกปี เว้นมา 2 ปีเพิ่งมาออกเนี่ย ผมสังเกตดู ถ้าปีไหนหนาว หน้าร้อนปีถัดไปล่ะออกแยะเลย”
ผมถามว่าเขากินยังไงกันบ้าง แกบอกกินสดเอา ไม่เห็นมีใครดอง มันไม่ทันกิน (ฮา) หรือไม่บางคนเอาไปใส่แกงกะทิไก่ก็ยังมี
“ต้นเนี่ยหวานอร่อยครับ เราแค่ทุบๆ พอให้แตกสักหน่อย จิ้มน้ำพริกกินง่ายๆ เลย”
ลุงฉวยบอกตำแหน่งต้นตาลเสี้ยนต้นอื่นๆ ว่าอยู่ตรงโน้น ตรงนี้ ซึ่งล้วนแต่เข้าไปยากสำหรับเราที่ไม่ได้เตรียมตัวมา แต่เมื่อนึกถึงคำของแม่ค้าตลาดอมยิ้ม ที่บอกผมว่า “มันขึ้นอยู่บนภูเขา หลังบ้านตลาดควายนี่แหละ เต็มไปหมด เราเก็บที่ร่วงมาขาย ลูกรีๆ นี่อร่อย เนื้อมาก หวานกว่าลูกป้อมๆ นะ”
ก็ทำให้เห็นว่า ตาลเสี้ยนยังเป็นไม้ป่าที่ขึ้นในธรรมชาติ อาศัยความอึดของตัวเองในการดำรงชีพ เหตุนั้นจึงยังมีความต่างในรสชาติผลของแต่ละต้น มากกว่าพืชที่เอาเข้าสวนเข้าไร่มาปลูกเป็นระบบแล้ว
แน่นอนว่า นี่เป็นผลาหารจากผืนดิน ที่ใครรู้จักเก็บหา ย่อมสามารถหากินหาเก็บมาดองมาขายได้ เหมือนเหล่าแม่ค้าที่บ้านตลาดควาย ที่ผมได้คุยด้วยวันนั้นนะครับ…
ผมมาลองค้นดูในหนังสือเก่าอีกรอบ ปรากฏว่า ในหนังสือตำรากับข้าวตำรับสายเยาวภาฯ (พ.ศ. 2478) มีระบุไว้ด้วยว่า “ผลตาลเสี้ยน กินผลอ่อนดอง” แสดงว่าแม้ในครัวราชสำนักกรุงเทพฯ เมื่อศตวรรษก่อนก็ยังล่วงรู้ว่ามีการกินลูกตาลเสี้ยนกัน
ความรู้เรื่องนี้จึงเรียกได้ว่าหายสูญไปเกือบหมดแล้วในปัจจุบัน
หรือว่าที่อื่นๆ ยังรู้จักกินอยู่อีกบ้างไหม ผมก็อยากทราบเป็นความรู้นะครับ
ถ้าถามว่าลูกตาลเสี้ยนรสเหมือนอะไร คงต้องบอกว่า มันมีกลิ่นหอม เปลือกกรอบ เนื้อลูกสุกจะฉ่ำน้ำ มียางฝาดมากน้อยต่างไปตามแต่ละต้น ยางและน้ำเนื้อรสเปรี้ยวหอมจัดๆ ในผลตาลเสี้ยนนี้เอง
ที่น่าจะมีสรรพคุณกัดเสมหะตามที่ตำราบางเล่มบอกไว้ เมื่อเรากัดกินสดๆ จนหมดคำแล้ว จะชุ่มชื่นในคอจนรู้สึกได้ และหากจะให้อธิบายว่าใกล้เคียงอะไรที่สุด ผมคิดว่ามันเหมือนพุทราผสมสมอไทยและบ๊วยสดนะครับ
วิธีกินสำหรับคนเพิ่งหัด คือเอามาล้างให้สะอาด ลวกน้ำร้อนสักครู่เดียว ผึ่งให้แห้ง จากนั้นดองในน้ำเกลือเจือจางพอประมาณ กะให้เค็มปะแล่มๆ ครับ ราวไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก็เอาออกมาจิ้มน้ำพริกกินได้ แถมยิ่งไว้นานยิ่งอร่อยด้วยซี
อยากให้ลองหามากินกันดูครับ