มีป่ามีหวาย กินแกงหวายกับป่ามไข่บ้านกกบก

เพิ่งกลับมาจากเที่ยวหมู่บ้าน ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ขับรถไปจากเชียงใหม่ ออกจากประตูล้านนา ก่อนจะถึงวังสะพุง ผ่านภูเรือก่อน เส้นทางสายตัวโดยเฉพาะจากภูเรือ เป็นทางเลี้ยวคดเคี้ยวที่สวยงาม คนขับต้องใช้ความระมัดระวัง คนนั่งเป็นเพื่อนก็ต้องเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดี เป็นกำลังใจ พูดคุยแต่พอควรด้วยเรื่องราวที่สบายใจ เหมาะสำหรับคนชอบขับรถเที่ยว

เส้นทางสวย บรรยากาศดี แต่ยังไม่พอ ต้องมีของกินอร่อยๆ ด้วยใช่ไหม

วันนี้จะพาไปหาของกินในหมู่บ้านนะคะ ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองวังสะพุง เราแวะหมู่บ้านหนึ่งก่อน ชื่อบ้านกกบก ตำบลหนองงิ้ว ป้ายหมู่บ้านชัดเจน

บ้าน กกบก (อ่านว่า กก กะ บก) ถามป้าๆ ที่นี่ได้ความว่า กกบกเป็นชื่อของต้นไม้ ต้นกกบก เมล็ดกินได้ด้วย

เอาละไปดูกันว่า มีของกินอะไรบ้างที่นี่ อันดับแรกเลย แม่บ้านบอกว่า สุดๆ แล้วคือแกงหวาย ใครมาบ้านกกบกต้องกินแกงหวาย ไม่เช่นนั้นเปรียบเสมือนมาไม่ถึงบ้านกกบก

แล้วเราจะพลาดได้อย่างไร เมนูนี้จริงไหม…

Advertisement

แกงหวายไม่ใช่ของที่หากินได้ง่ายๆ นัก ต้องไปตัดยอดหวายในป่าถึงจะได้กิน เมื่อสมัยเด็กๆ จำได้ว่า เคยได้ยินเรื่องยอดหวาย เขาว่าเข้าป่าไปหายอดหวายกิน ลืมเรื่องนี้ไปแล้ว จนมาถึงวันนี้ วันที่จะได้กินแกงหวาย เหมือนฟื้นความจำสมัยเด็กขึ้นมาได้ว่า ยอดหวายและลูกหวายกินได้ ช่วงวัยเยาว์เพื่อนๆ เอาลูกหวายมากินกันที่โรงเรียน ฝาดๆ มันๆ

Advertisement

บ้านกกบก หมู่บ้านนี้ดีจริงที่ยังมีป่าให้เข้าไปหายอดหวายมากินได้ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ยังเหลืออยู่บ้าง

“แต่ก็ไม่ได้หาง่ายๆ แล้วพี่” แม่บ้านที่นี่บอกกล่าว เล่าถึงเรื่องยอดหวายว่า หายากกว่าเก่า ราคาก็สูง ต้องสั่งให้เขาตัดมาให้เป็นมัดๆ

“หวายที่เอามาทำโต๊ะเก้าอี้ใช่ไหม” สาวจากเมืองหลวงถาม

“ใช่ค่ะ เอาแต่อ่อนๆ ตัดยอดมาแล้วปอก ต้มหรือนึ่งไว้ให้สุก เอาน้ำขมๆ ออกไปก่อน”

การแกงหวายก็เหมือนแกงหน่อไม้ต้องใช้ย่านางเป็นหลัก คั้นน้ำย่านางใส่หม้อ ตำพริก หอม กระเทียม ในปริมาณที่เท่าๆ ตะไคร้ทุบไว้ด้วย

เอาละเมื่อได้หวาย ได้น้ำพริก ก็มาเริ่มทำแกงกันเลยค่ะ

เริ่มจากคั้นน้ำย่านางกรองเอาแต่น้ำ ตั้งน้ำย่านางพร้อมกับใส่พริกแกงที่ทำไว้ให้เดือด แล้วใส่หวายตามลงไป (ห้ามคนในระหว่างนี้) และตามด้วยเห็ด บวบ ฟักทอง ชะอม หม้อนี้เป็นอาหารปลอดเนื้อ ไม่มีน้ำมัน น้ำตาล

“หวานจากฟักทอง และผักต่างๆ เค็มจากเกลือ” แม่บ้านว่าเช่นนั้น

ผักหลากสีลงไปอยู่รวมกันในหม้อสีขาว น้ำแกงขุ่นเขียว หอมชวนกินจริงๆ บางคนเอาจานกับช้อนมารอชิมอยู่หน้าเตา

“จะแกงใส่กระดูกหมูอ่อนก็ได้ แต่วันนี้ไม่ใส่”

เหมือนจะรู้ใจคนไม่ชอบกินเนื้อสัตว์ที่ยืนอยู่ข้างหม้อ

“ไม่มีน้ำมัน ไม่มีน้ำตาล ใช้ความหวานจากผัก แกงด้วยน้ำย่านางซึ่งเป็นสมุนไพรฤทธิเย็น อาหารหม้อนี้ก็เป็นอาหารสุขภาพได้เลยนะ นำเสนอเป็นอาหารสุขภาพได้เลย” ฉันนำเสนอ

ยังพบรายละเอียดว่า หวาย เอามาแกงกินนอกจากอร่อยแล้วมีสรรพคุณทางยาด้วย ในตำรับยาโบราณใช้หวายเป็นส่วนผสมในการปรุงยา แต่จะใช้ส่วนไหนแก้และป้องกันอะไร ไว้โอกาสหน้า โอกาสนี้เอาแค่กินอร่อยและเป็นยา แบบกินสมุนไพรพอ อันดับแรกช่วยเจริญอาหารอันนี้แน่นอน อะไรที่มีรสขมนิดๆ ช่วยเจริญอาหาร ไม่เบื่ออาหาร ในยอดหวายมีโปรตีนและมีเส้นใย สวนลูกหวายที่เด็กๆ กินเล่นมีแคลเซียมและวิตามินซี-เพียงแค่นี้ก็พร้อมกินแล้ว น่าสนใจขึ้นไปอีกเมื่อพบว่า มีสรรพคุณช่วยคลายเครียด ลดภาวะเครียดด้วย

“อร่อยคลายเครียด” บางคนว่าแค่ทำแกงหวายหม้อใหญ่นี้ด้วยกันได้หัวเราะคลายเครียดแล้ว นอกจากนั้นยังมีผู้บอกเบาๆ ว่า ช่วยเรื่องสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายไม่ให้เสื่อมเร็ว…โอ…ถ้าเรื่องนี้เผยแพร่ไปจะมีคนเข้าป่าไปตัดหวายกันหมดป่าไหม หรือจะมีการปลูกหวายกันทั่วในพื้นที่ป่า ตอนนี้บางแห่งหวายก็มีการปลูกกันบ้างแล้วในพื้นที่ต่างๆ แต่ที่บ้านกกบกยังมีหวายป่ากิน

คุยมายาวแกงหวายสุกพอดี หม้อใหญ่ถูกยกลงมาจากเตาแล้ว คราวนี้มาชิมกัน

แกงหวายอย่างเดียวก็กระไรอยู่อีกสักหนึ่งอย่างดีไหม ป่ามไข่กินกับแกงหวาย นับว่าเป็นอาหารสุขภาพทั้งสองเมนู ป่ามไข่ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใช้สารปรุงแต่งมากมาย แค่ไข่ ต้นหอม และหอมแดงซอย ซีอิ๊วขาว

เอากระทะตั้งไฟ ใบกล้วยรองก้นกระทะ เอาไข่ที่ปรุงไว้แล้วด้วยซีอิ๊วขาว น้ำปลา โรยด้วยต้นหอม หอมแดง ค่อยๆ เทไข่ลงไปในใบตองแล้วพับปิดเอาไว้ รอจนกว่าจะสุก ฟังเสียงแตกของใบกล้วยหรือเปิดดูใบกล้วยแห้งเกือบกรอบนั่นแหละจึงพลิกกลับอีกด้านให้สุกเหลืองอร่ามเหมือนกันทั้งสองด้าน

หอมกลิ่นใบตองและไข่ชวนกินมาก นี่เป็นสูตรดั้งเดิมใส่หัวหอม ต้นหอม แต่เราจะดัดแปลงเพิ่มโดยใส่เห็ดลงไป ใช้เห็ดสามอย่าง ซอยเห็ดก่อน ปรุงเห็ดให้สุกด้วยการเอาไปใส่กระทะปรุงด้วยเกลือ ซีอิ๊วขาวนิดหนึ่ง

“เมื่อก่อนที่นี่ไม่มีน้ำมัน เราจึงทำไข่ป่าม” น้องชายจากเมืองเลยบอก

ได้สองอย่างก็พอกินแล้วค่ะ แต่ความจริงแล้วมีอีกหลายเมนูเลยทีเดียวสำหรับอาหารบ้านกกบกที่ทำไว้รอรับนักท่องเที่ยว

เขาเรียกว่าท่องเที่ยวชุมชน กินอาหารพื้นถิ่น อยู่ในส่วนท่องเที่ยวนวัตวิถี

ประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการให้อีกสักหน่อย สำหรับใครที่อยากไปกินอาหารพื้นถิ่นที่ บ้านกกบก วังสะพุง ติดต่อไปที่ เพจอิ่มอร่อยที่วังสะพุง